นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมงานเลี้ยงขอบคุณทีม กทม. ช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประสบภัยจากอุทกภัย จังหวัดเชียงราย ณ ลานช้างเอราวัณ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง เมื่อวันที่ 1 พ.ย.2567 เวลา 16.30 น.
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ครั้งนี้พบกันเป็นครั้งที่ 3 หลังจากไปเยี่ยมที่เชียงรายมาแล้ว 2 ครั้ง ซึ่งภารกิจทั้งหมดสำเร็จลุล่วงเป็นอย่างดี ขอขอบคุณทีมงานกทม. ทุกท่าน เนื่องจากทุกคนมีความเชี่ยวชาญเรื่องการดูดโคลน เพราะกรุงเทพฯ มีท่อระบายน้ำรวม กว่า 6,000 กิโลเมตร กทม. จึงมีประสบการณ์ล้นเหลือในเรื่องนี้ นอกจากนี้ กทม. ยังได้รับคำชมเชยจากประชาชน หน่วยงานราชการต่างๆ และนายกเทศมนตรีตำบลแม่สายอีกด้วย
"ภารกิจอะไรที่เป็นการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนจังหวัดอื่นๆ ได้ กทม. ต้องทำ !! เพราะนั่นคือภาระหน้าที่โดยตรง เนื่องจากเราต้องดูแลพี่น้องประชาชนไม่ใช่แค่ในกรุงเทพมหานครเท่านั้น เพราะเงินเดือนของเรามาจ่ายภาษีของประชาชน" ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าว
ในการนี้ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มอบเข็มที่ระลึกตราสัญลักษณ์งานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ให้ทีม กทม. ช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประสบภัยจากอุทกภัย จังหวัดเชียงราย โดยงานเลี้ยงขอบคุณฯ ครั้งนี้นายอรรถเศรษฐ์ เพชรมีศรี ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายภิมุข สิมะโรจน์ เลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายณรงค์ เรืองศรี รองปลัดกรุงเทพมหานคร นายธวัชชัย นภาศักดิ์ศรี ผู้อำนวยการสำนักการโยธา นายเจษฎา จันทรประภา ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ นางสาวทรรศนีย์ พันธ์ประคุณ ผู้อำนวยการสำนักการคลัง นำผู้บริหารสำนักการระบายน้ำ สำนักการโยธา สำนักสิ่งแวดล้อม สำนักการคลัง ร่วมงาน
สำหรับอาหารที่จัดเลี้ยงขอบคุณฯ ประกอบด้วย หมูกระทะ ยำเส้นแก้ว ยำประเภทต่างๆ ส้มตำป่า ปลาหมึกย่าง ซูชิ สปาเกตตี นักเก็ตไก่ ฯลฯ เครื่องดื่มและผลไม้นานาชนิด
ทั้งนี้ ทีมงานรถดูดโคลนจากกรุงเทพมหานคร (กทม.) เสร็จสิ้นภารกิจฟื้นฟูพื้นที่ประสบอุทกภัยใน อ.แม่สาย จ.เชียงราย และเดินทางกลับกรุงเทพมหานครในเช้าวันที่ 31 ต.ค.67 ซึ่งทีมงานรถดูดโคลนและบุคลากรจาก กทม. นำโดยนายสุวัฒน์ วุฑฒิธรรม หัวหน้าชุดปฏิบัติงาน ได้ร่วมภารกิจในการดูแลระบบระบายน้ำ และได้ร่วมทำงานกับทีมงานของหน่วยงานต่างๆ จนทำให้ภารกิจสำเร็จลุล่วงในทุกขั้นตอนในภาวะสงครามโคลนที่ได้ร่วมต่อสู้ดูแลช่วยเหลือประชาชนอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการนำดินออกจากบ้าน การนำดินออกจากร่องระบายน้ำต่างๆ ซึ่งการทำงานเป็นไปด้วยความลำบาก เพราะมีน้ำท่วมหนุนมาโดยตลอด ซึ่งเจ้าหน้าที่จากสำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร มีประสบการณ์และมีเครื่องมืออุปกรณ์ที่เหมาะสม ทำให้ภารกิจการกู้คืนสงครามโคลนแม่สายสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี
สำหรับทีมงานกรุงเทพมหานคร (กทม.) เดินทางมาพร้อมกับเครื่องจักรกลประกอบด้วย
- รถดูดโคลน 6 คัน
- รถน้ำ 8 คัน
- รถดูดน้ำ 1 คัน
- รถติดตั้งเครน 2 คัน
- รถ JCB 2 คัน
- บุคลากร 92 คน
ภารกิจครั้งนี้มีความยาก เพราะโคลนเริ่มจับตัวแข็งกลายเป็นดิน ไม่เหมือนภารกิจที่เคยเจอที่กรุงเทพฯ เพราะที่กรุงเทพฯ โคลนจะมากับน้ำ แต่ที่นี่ดินโคลนมันมาพร้อมกับน้ำ จึงต้องใช้น้ำทำให้ดินมันกลายเป็นโคลนแล้วจึงให้รถดูดออกมา โดยทีมงานกทม.เข้าพื้นที่ตั้งแต่วันที่ 19 ก.ย.67 และลุยทำงานกันอย่างต่อเนื่องไม่มีวันหยุด ทำงานทุกวัน จนเสร็จภารกิจกันในวันที่ 29 ต.ค.67 รวมระยะเวลาประมาณเดือนกว่า โดยภารกิจหลักก็เป็นการดูดดินโคลนในท่อระบายน้ำระบบปิด