หม่า ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งบริษัทด้าน e-commerce อาลีบาบา เป็นมหาเศรษฐีที่ร่ำรวยที่สุดในจีน จนกระทั่งทางการจีนเข้าปราบปราม ทั้งนี้ อดีตมหาเศรษฐีที่รวยที่สุดของจีนแทบจะไม่ปรากฏตัวออกหน้าสื่อสาธารณะ หลังจากเขาวิพากษ์วิจารณ์ทัศนคติของทางการจีน ในเรื่องการควบคุมบริษัทด้านเทคโนโลยีของประเทศ ขณะการประชุมสุดยอดที่เซี่ยงไฮ้เมื่อ 2 ปีก่อน
นอกจากการปรากฏตัวในวิดีโอความยาว 48 วินาทีเมื่อช่วงต้นปีก่อน ซึ่งถูกตั้งข้อสังเกตว่าเป็น “วิดีโอตัวประกัน” ในการเดินทางเยือนเนเธอร์แลนด์สั้นๆ อีกทั้งการที่เรือหรูขนาด 88 เมตรของหม่า ซึ่งมีชื่อว่าเซน ถูกพบเห็นในช่วงฤดูร้อนปีก่อน ว่ากำลังจอดอยู่ที่ท่าเรือบนเกาะมาจอร์กาของสเปน หม่าในวัย 58 ปี พยายามเก็บตัวเงียบในการเดินทางออกนอกประเทศบ้านเกิดของตัวเอง
เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (29 พ.ย.) สำนักข่าว The Finacial Times ซึ่งมี Nikkei บริษัทด้านสื่อมวลชนของญี่ปุ่นเป็นเจ้าของเปิดเผยหม่า ในช่วงเวลาที่ผ่านมาไม่นานนี้ หม่ากำลังอาศัยอยู่ในญี่ปุ่น
โดยรายงานอ้างแหล่งข้อมูลที่ไม่เปิดเผยชื่อว่า ตลอดระยะเวลา 6 เดือนที่ผ่านมา อดีตครูสอนภาษาอังกฤษที่กลายมาเป็นมหาเศรษฐีด้านบริษัทเทคโนโลยีอย่างหม่า อาศัยอยู่ในกรุงโตเกียวพร้อมกันกับครอบครัวของเขา โดยเขาใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการทำธุรกิจและเดินทางไปออนเซนและเล่นสกีในพื้นที่ต่างจังหวัดของญี่ปุ่นเพื่อพักผ่อนหย่อนใจ เช่นเดียวกันกับการเดินทางไปสหรัฐฯ และอิสราเอลซึ่งหม่าทำเป็นปกติ
หม่ามีทรัพย์สินลดลงมากกว่าครึ่งหนึ่งจากเกือบ 5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 1.76 ล้านล้านบาท) เป็น 2.17 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 7.67 แสนล้านบาท) หลังจากทางการจีนเข้ามาควบคุมบริษัทของตน เนื่องจากหม่าวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลจีน มีการกล่าวกันว่าทางการจีนลดกิจกรรมสาธารณะของหม่าให้เหลือน้อยที่สุด ทั้งนี้ มีรายงานว่าหม่าได้นำรายละเอียดด้านความปลอดภัยส่วนตัว และพ่อครัวส่วนตัวเดินทางไปกับเขาในช่วงการเดินทางออกนอกประเทศ รวมถึงการเข้าร่วมคลับส่วนตัวที่มีสมาชิกไม่กี่คน ซึ่งเป็นหนึ่งในคลับที่นิยมในหมู่เศรษฐีจีน
อาลีบาบากลายเป็นสายล่อฟ้าของการปราบปรามบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ของจีน หลังจากที่หม่าซึ่งเป็นที่รู้จักกันในฐานะที่เขามีบุคลิกพูดตรงไปตรงมา และมีพฤติกรรมนอกคอกจากขนบคอมมิวนิสต์จีน ออกมาวิจารณ์หน่วยงานกำกับดูแลของจีนว่ากำลังขัดขวางนวัตกรรมในประเทศ มีรายงานว่าความคิดเห็นของหม่าสร้างความไม่พอใจให้กับ สีจิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน ซึ่งขณะนี้กำลังเผชิญหน้าอยู่กับการประท้วงนโยบายโควิดเป็นศูนย์ หลังจากการออกมาวิจารณ์ในครั้งนั้น หม่าได้หายตัวไปจากสายตาของสาธารณชนเป็นเวลากว่า 3 เดือน
หน่วยงานกำกับดูแลของจีนเข้ามาควบคุมการลอยตัวของราคาในตลาดหุ้นมูลค่า 3.4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 1.2 ล้านล้านบาท) ของ Ant Group บริษัทลูกด้านการชำระเงินออนไลน์ของอาลีบาบา ซึ่งอาจนับได้ว่าเป็นการเสนอขายหุ้นครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ นอกจากนี้ ทางการจีนยังสั่งให้อาลีบาบาขายสินทรัพย์สื่อบางส่วน ซึ่งรวมถึง The South China Morning Post ของฮ่องกง เนื่องจากรัฐบาลจีนพยายามปราบปรามอิทธิพลในทางสาธารณะซึ่งมีเพิ่มขึ้น ของกลุ่มบริษัทเทคโนโลยีที่แผ่กิ่งก้านสาขาอยู่ในประเทศ เช่น อาลีบาบาและเทนเซนต์
หลายเดือนต่อมา อาลีบาบาถูกปรับเงินสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 2.8 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 9.9 หมื่นล้านบาท) จากพฤติกรรมต่อต้านการแข่งขัน นับเป็นการยุติความเป็นปฏิปักษ์ด้านกฎระเบียบของทางการจีนต่อบริษัท แม้ว่าบริษัทจะยังคงถูกบังคับให้ปฏิบัติตามโปรแกรม “การแก้ไขอย่างครอบคลุม” เพื่อให้การดำเนินการของอาลีบาบาเป็นไปตามการกำกับการของรัฐบาลจีน
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว มีรายงานว่าธนาคารกลางของจีน ซึ่งทำหน้าที่กำกับดูแลภาคการเงิน พร้อมที่จะสั่งปรับ Ant Group มากกว่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 3.5 หมื่นล้านบาท) โดยธนาคารประชาชนจีนเป็นผู้นำในการยกเครื่องกฎระเบียบของบริษัทตั้งแต่ปี 2563 ทั้งนี้ สำนักข่าว Reuters รายงานว่า การปรับอาจเป็นก้าวแรกในการที่ Ant Group จะได้รับใบอนุญาตบริษัทหุ้นทางการเงิน และการรื้อฟื้นแผนการจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ทั้งนี้ การบริหารงานในรายวันของบริษัทของหม่าในประเทศจีน ถูกมอบหมายให้ผู้บริหารรุ่นใหม่เป็นผู้ดำเนินการในส่วนใหญ่
ในเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา Softbank ของญี่ปุ่นได้ทำการขายหุ้นครั้งประวัติศาสตร์ที่ 23.7% ใน Alibaba เหลือ 14.6% ซึ่งทำเงินได้กว่า 3.4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 1.2 ล้านล้านบาท) หลัง มาซาโยชิ ซง ผู้บริหารระดับสูงของบริษัท เคยลงทุนด้วยเงิน 20 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 707 ล้านบาท) ในอาลีบาบาเมื่อปี 2543
อย่างไรก็ดี อาลีบาบาไม่ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นใดๆ ต่อการรายงานถึงการหลบซ่อนตัวของหม่า
ที่มา: