นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 9 มิ.ย.2563 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ได้มีข้อสั่งการและแจ้งผลประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ถึงแผนการฟื้นฟูกิจการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ หรือ ขสมก. โดยเน้นย้ำถึงประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับจากการปรับปรุงรถโดยสาร การปรับเส้นทางวิ่งรถ การปรับค่าโดยสาร และการเชื่อมต่อการขนส่งที่ครอบคลุมกับทุกระบบ หรือ รถ ราง เรือ พร้อมกันนี้ได้เน้นย้ำการดูแลลูกจ้าง ขสมก. ให้สามารถพัฒนาองค์การอย่างยั่งยืนได้ รวมถึงมอบหมายให้กระทรวงการคลังและกระทรวงคมนาคมไปร่วมกันพิจารณาแผนทางการเงินก่อนนำเข้ามาพิจารณาในที่ประชุม ครม. อีกครั้งในระยะต่อไป
ในส่วนเรื่องของการบริหารจัดการน้ำ นายกรัฐมนตรี ขอให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมในการดำเนินการ ไม่ว่าจะเป็นประชาชน เจ้าของที่ดิน และเกษตรกร ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาวางระบบท่อแบบปิด เพื่อความยั่งยืนของการใช้น้ำในระยะยาว สำหรับกรุงเทพมหานครขอให้เตรียมการรับสถานการณ์น้ำท่วมขัง รวมถึงกำหนดแผนป้องกันเพื่อจะดำเนินการแก้ไขให้ได้ตรงจุด และขอให้สำนักทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) จัดทำฐานข้อมูลรวบรวมแหล่งเก็บน้ำที่ดำเนินการไปแล้วว่ามีศักยภาพแค่ไหน สามารถกับเก็บน้ำได้จำนวนเท่าไหร่
นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงการจ่ายเงินเยียวยาช่วยเหลือเกษตรกรที่ล่าช้านั้น เพราะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายหน่วยงาน ควรจะมีปรับปรุงรูปแบบการดำเนินการให้รัดกุมและเป็นระบบ เพื่อที่จะสามารถทำให้จ่ายเงินฯ ได้รวดเร็วขึ้น และขอให้ทุกหน่วยงานเร่งรัดการทำงาน กำกับการปฏิบัติหน้าที่ตามสายการบังคับบัญชา เพื่อให้การดำเนินงานช่วยเหลือประชาชนมีประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น รวมทั้งต้องรับฟังปัญหาจากประชาชนด้วย ทั้งนี้ ข้าราชการและนักการเมืองต้องทำงานร่วมกันเพื่อประชาชน และเพื่อประโยชน์ต่อประเทศชาติ
ส่วนการจัดที่ทำกินให้ประชาชนเป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล เพื่อต้องการให้ประชาชนมีที่ดินทำกิน แต่ปัญหาคือที่ดินที่มีการจัดสรรไปนั้น ไม่เหมาะต่อการเกษตร ขอให้พิจารณาว่าในทางกฎหมาย สามารถให้ประชาชนสามารถทำกิจการอื่นได้หรือไม่ โดยเฉพาะในพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษขอให้เน้นการจ้างแรงงานไทย ส่วนเรื่องเกษตร BCG (Bio, Circular and Green Economy) ขอให้กำหนดแผนปฎิบัติการให้ชัดเจน เน้นการจ้างคนจบใหม่ สร้างสตาร์ทอัพให้กับคนรุ่นใหม่
พร้อมกันนี้นายกฯ ยังได้กล่าวเน้นย้ำถึงการใช้งบประมาณจาก พ.ร.ก.เงินกู้ เพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม วงเงิน 4 แสนล้านบาท โดยได้เน้นให้เกิดการจ้างงานให้มากที่สุด เพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาให้กับประชาชนตั้งแต่ช่วงนี้ถึงช่วงการฟื้นฟูให้มีประสิทธิผลมากขึ้น รวมถึงการสร้างแรงซื้อในประเทศ โดยการให้หน่วยราชการจัดซื้อสินค้าและบริการจากผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ในประเทศ เพื่อเฉพาะเอสเอ็มอีที่ขึ้นทะเบียน พร้อมกับระบุว่า ควรจะมีการจัดซื้อสินค้าและบริการจากเอสเอ็มอีอย่างน้อยร้อยละ 15-30 ของงบประมาณการจัดซื้อ เพื่อเป็นการสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีของไทย ในขณะเดียวกัน นายกฯ ยังได้เน้นให้มีการใช้จ่ายงบประมาณให้คุ้มค่า โดยหน่วยงานใดยังเปิดจ่ายไม่ตรงเวลา ต้องชี้แจงว่าเหตุใดเบิกจ่ายไม่ทัน จ่ายไม่ครบ
คทช.รายงานครม.จัดสรรที่ดินทำกินให้ชุมชน 6.65 แสนไร่ จากเป้าหมาย 1.4 ล้านไร่
อีกทั้ง ยังมีวาระเพื่อทราบเรื่องผลการประชุมของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ หรือ คทช.ครั้งที่ 1/2563 โดยมีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กระทรวงกลาโหมเป็นประธานการประชุม เมื่อวันที่ 16 ม.ค. 2563 ทั้งนี้ คทช. รายงานผลดำเนินการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน ปีงบประมาณ 2558- 2562 โดยได้ออกหนังสืออนุญาตแล้ว 219 ฉบับ พื้นที่ 665,199 ไร่ จากพื้นที่เป้าหมายที่กำหนดไว้ 1,402,381 ไร่ ครอบคลุมประเภทที่ดินทั้งป่าสงวนแห่งชาติ ป่าชายเลน ที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดิน ที่ดินสาธารณประโยชน์ ที่ดินราชพัสดุ ที่ดินสงวนเพื่อกิจการนิคมในนิคมสร้างตนเอง สามารถจัดคนเข้าใช้ประโยชน์ในที่ดินกว่า 44,582 รายใน 55,786 แปลง
สำหรับปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 คทช. กำหนดเป้าหมายในการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน 59 พื้นที่ 36 จังหวัด เนื้อที่ประมาณ 230,381 ไร่ จัดคนเข้าใช้ประโยชน์ในที่ดินของรัฐ จำนวน 16,000 ราย และพัฒนาอาชีพกว่า 12,000 ราย โดยยังคงเน้นแนวทางการทำงาน ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพ จัดทำแผนบูรณาการพัฒนาอาชีพที่สะท้อนถึงความต้องการของชุมชนอย่างเป็นระบบครบวงจร ให้ความสำคัญกับการจัดหาน้ำเพื่อการเกษตร ควรสนับสนุนกลไกขับเคลื่อนชุมชนเข้มแข็ง และกลไกการเงินระดับชุมชนที่มีการดำเนินงานประสบความสำเร็จแล้ว รวมทั้งจัดหาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ
"นายกฯ ได้กล่าวว่าการจุดหาที่ดินต้องพิจารณาเรื่องสภาพที่ดิน เพื่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชน เพื่อสามารถใช้ประโยชน์จากที่ดินสร้างรายได้ได้ด้วย" นางนฤมล กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :