ไม่พบผลการค้นหา
ถึงแม้คนเราเกิดมาไม่เท่ากัน แต่มีสิ่งหนึ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ นั่นคือความตาย สุขภาพที่มีมาแต่กำเนิดของมนุษย์จะค่อยๆเสื่อมสลายตามกฎไตรลักษณ์ สังขารไม่เที่ยง ถึงแม้ว่าการใช้กำลังทรัพย์มหาศาลเพื่อเข้าถึงเทคโนโลยีการแพทย์สมัยใหม่สามารถชะลอต่ออายุขัยได้ แต่ก็ต้องแลกมาซึ่งการอดทนรับความเจ็บปวดจากการรักษา การเจ็บป่วยก็เสมือนการเล่นเสี่ยงโชค โรคร้ายต่างๆสามารถพบเห็นได้แม้แต่กลุ่มคนที่ประสบความสำเร็จในชีวิต หรือ นักการเมือง

 สุขภาพนักการเมืองที่มีชื่อเสียงในอดีต

นักการเมืองคือผู้นำของประชาชนในสังคมนั้นๆ ทำงานเพื่อประชาชนในสังคมนั้นๆ และเมื่อใดที่ออกไปทำงานในที่สาธารณะ ย่อมต้องการสุขภาพที่แข็งแรง ทั้งเพื่อสร้างความมั่นใจขวัญกำลังใจให้ประชาชน อย่างไรก็ตามก็ไม่แน่เสมอไปว่านักการเมืองทุกคนจะมีสุขภาพแข็งแรง มีบันทึกต่างๆเล่าถึงนักการเมืองที่มีชื่อเสียงของยุโรปในอดีตล้วนต้องทนทุกข์กับสภาพร่างกายที่ย่ำแย่ของตัวเองแม้แต่ในช่วงเวลาทำงาน

Jean-Paul Marat นักวิทยาศาสตร์ นักหนังสือพิมพ์และ นักปฏิวัติในช่วงปฏิวัติฝรั่งเศส ก็ป่วยเป็นโรคร้ายแรงเช่นกัน จากบันทึกอาการของเขามีการสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นโรคทางพันธุกรรม หรือโรคสะเก็ดเงิน จึงทำให้ผิวหนังเขาแห้งและลอกตลอดเวลา ซึ่งเป็นสาเหตุให้มาราต์ต้องใช้เวลากว่าครึ่งวันของแต่ละวันในการแช่ในอ่างน้ำ ซึ่งในสมัยนั้นเชื่อว่าเป็นการรักษาที่ถูกวิธี ผลที่ตามมาคือวันหนึ่งมาราต์ถูกลอบสังหารจากมาดาม Charlotte Corday  ด้วยมีดทำครัวขณะที่มาราต์นอนแช่ในอ่างอาบน้ำ

โรคร้ายไม่เลือกแม้แต่คนที่มีอำนาจสูงสุดในยุโรปช่วงปลายศตวรรษ17และต้นศตวรรษ18 อย่างพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 กษัตริย์ที่ครองราชย์ยาวนานที่สุดของฝรั่งเศสพระองค์นี้ (60ปี) กลับมีสุขภาพที่ไม่แข็งแรงนักและต้องทนทุกข์ทรมานตลอดทั้งชีวิต บันทึกลับการรักษาของแพทย์ส่วนตัวของหลุยส์ 14 ได้บันทึกไว้ว่า ในช่วง 0-5ปีแรกของเจ้าชายหลุยส์ ได้เกือบเสียชีวิตจาก โรคอีสุกอีใส ตอนอายุ 35 ปี เกือบตายด้วยไข้เรื้อรัง และยังเป็นโรคไซนัสอักเสบ โรคเกาท์ โรคริดสีดวงทวาร และ โรคเบาหวาน ในภาพวาดบางภาพจะเห็นรูปหลุยส์ 14 มีจมูกสีแดง เพราะโรคไซนัสอักเสบเรื้อรัง ตอนอายุ 48ปี หลุยส์เข้ารับการผ่าตัดใหญ่ เพื่อผ้าเอาก้อนเนื้อที่อยู่ระหว่างรูทวารและอัณฑะออก โดยสมัยนั้นวิทยาการใช้ยาสลบยังไม่พัฒนา หลุยส์จึงต้องทนความเจ็บปวดตลอดการผ่าตัด ยิ่งกว่านั้นแพทย์กลับพบว่าลำไส้มีรูทะลุ และต้องผ่าตัดเพิ่มเพื่อซ่อมแซม ส่วนในช่วงสุดท้ายของชีวิต หลุยส์14 ทรมานกับโรคเบาหวานและมีร่างกายอ่อนแอผ่ายผอม ที่เท้ามีอาการขาดเลือดและเนื้อเน่า แพทย์ได้แนะนำให้ผ่าตัดทิ้งแต่หลุยส์14ปฏิเสธการรักษา และวันที่ 26 สิงหาคม 1715 หลุยส์14เสียชีวิตบนเตียงนอนพร้อมกลิ่นเนื้อเยื่ออันเน่าเหม็น

นโปเลียน โบนาปาร์ตผู้เกรียงไกรยกทัพรวบรวมยุโรปเกือบสำเร็จ แต่ทว่ากลับเจ็บป่วยบ่อยครั้ง  ในสมัยเด็กๆเขามีอาการลมบ้าหมูบ่อยครั้ง เมื่อเติบใหญ่สุขภาพก็ยังเจ็บป่วยเช่นเดิมซึ่งมาจากการทำงานหนัก สภาพแวดล้อมและการกินอาหารไม่ถูกสุขลักษณะ ในการรบที่อิยิปต์นโปเลียนป่วยด้วยโรคปอดอักเสบจนร่างกายซูบผอม ผิวเหลืองแห้ง เมื่อเป็นจักรพรรดิแล้วอาการป่วยกลับมีมากขึ้นอีก เขาเริ่มมีอาการกระเพาะอักเสบและเป็นเรื้อรังตลอดชีวิต ในปี 1812 แพทย์ส่วนตัวถูกเรียกตัวฉุกเฉินในตอนกลางคืน เพราะนโปเลียนมีอาการขาบวมและปัสสาวะไม่ได้ ในปี 1813 ขณะติดพันการรบที่ Leipzig นโปเลียนมีอาการปวดที่ตับและกระเพาะ และในปี 1815 ก็ป่วยด้วยริดสีดวงทวาร    

นักการเมืองและปัญหาสุขภาพจิต

อาชีพการเมืองเป็นอาชีพหนึ่งที่รับสภาพกดดันมาก และพบว่านักการเมืองที่มีชื่อเสียงในอดีตหลายคนต้องทนทุกข์ทรมานกับปัญหาสุขภาพจิต อับราฮัม ลินคอล์น ประธานาธิบดีคนที่ 16 ของสหรัฐก็ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าในช่วงรับตำแหน่งบริหารประเทศ ทั้งนี้สันนิษฐานว่ามาจากการสูญเสียสมาชิกพี่น้องในครอบครัวและเพื่อนสนิท มีคนพบเห็นเขาเดินไปในป่าคนเดียวพร้อมปืนลูกซองโดยหวังอัตวินิบาตกรรม

วินสตัน เชอชิล วีรบุรุษผู้นำอังกฤษในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองเองก็ถูกวินิจฉัยว่ามีอาการโรคซึมเศร้า เชอร์ชิลเคยระบายกับแพทยส่วนตัวว่า "ผมทำงานผมนั่งทำงานในสภา แต่เหมือนมีความหดหู่สีดำขนาดใหญ่ทับอยู่บนตัวผม" และความซึมเศร้านี่ก็ติดตัวไปตลอดแม้หลังจากหมดวาระแล้ว เชอชิลให้สัมภาษณ์ว่า "ผมไม่ชอบเลยที่จะยืนอยู่บนขอบชานชาลาเมื่อรถไฟกำลังวิ่งผ่าน ผมชอบที่จะยืนอยู่ข้างหลังและจะดีมากถ้ามีเสากั้นระว่างผมกับรถไฟ ผมไม่ชอบเลยที่จะยืนอยู่ข้างๆเรือและมองลงไปในผืนน้ำ เพราะการกระทำแค่เสี้ยววินาทีอาจจะจบทุกสิ่งทุกอย่าง แค่ความสิ้นหวังช่วงขณะหนึ่ง"

เจ้าหญิงไดอานาแห่งเวลส์ ซึ่งหลังจากการแต่งงานแล้วชีวิตของเธอก็เปลี่ยนไป เพราะต้องรับมือกับสื่อและความสนใจจากสาธารณะชนมากขึ้น ความกดดันใหญ่หลวงนี้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตอย่างไม่รู้ตัว สันนิษฐานว่าเจ้าหญิงไดแอนน่ามีภาวะซึมเศร้าและโรคบูลิเมียเนอโวซา หรือโรคคนอยากผอม ที่มีลักษณะนิสัยการกินจำนวนมากๆแต่แล้วก็พยายามล้วงคอเพื่ออาเจียนออกมา ซึ่งเป็นภาวะที่พบบ่อยในคนที่ขาดความมั่นใจในตัวเอง

ผลกระทบของสุขภาพต่อการทำงาน

สุขภาพเป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญของประสิทธิภาพการทำงาน  มีงานวิจัยเชิงวิเคราะห์อภิมานซึ่งมุ่งวิเคราะห์งานวิจัยกว่า 100 ชิ้นที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อนี้ บ่งชี้ว่าถ้าคนทำงานมีสวัสดิภาพเชิงอัตวิสัยมากจะส่ผลให้มีประสิทธิภาพการทำงานมากกว่า นอกจากนี้สวัสดิภาพเชิงอัตวิสัยที่ดีกว่าส่งผลให้กระบวนการคิดวิเคราะห์มีประสิทธิภาพดีขึ้น[1]

นักการเมืองจึงมิใช่ทีมอเวนเจอร์ แต่เป็นคนธรรมดาที่เจ็บป่วยได้และการเจ็บป่วยเองก็ส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจและประสิทธิภาพการทำงานไม่มากก็น้อย จึงเกิดคำถามในสังคมตะวันตกว่า สุขภาพร่างกายของนักการเมืองที่ตำแหน่งหน้าที่และอำนาจรับผิดชอบส่งผลต่อประชาชนจำนวนมากนั้นควรจะเป็นข้อมูลความลับส่วนบุคคลหรือสาธารณชนสามารถเข้าถึงข้อมูลนั้นได้ และอาการเจ็บป่วยขั้นใดจึงควรเป็นสาเหตุให้นักการเมืองเหล่านั้นควรหยุดปฏิบัติหน้าที่? และเราควรกำหนดอายุเกษียณของนักการเมืองเช่นเดียวกับอาชีพอื่นๆหรือไม่?

ซึ่งเป็นคำถามที่ต้องการการถกเถียงในสังคม 

 

 [1]  Bryson, Alex et al. (2014). Does worker wellbeing affect workplace performance?. คัดลอกจากเวปไซต์ https://assets.publishing.service.gov.uk/government/uploads/system/uploads/attachment_data/file/366637/bis-14-1120-does-worker-wellbeing-affect-workplace-performance-final.pdf

ภาคภูมิ แสงกนกกุล
นักวิชาการผู้ศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข และวิจัยเรื่องความเหลื่อมล้ำในระบบสาธารณสุขไทย
1Article
0Video
21Blog