'โค้ช' และ 'จีวองชี' ออกมาแถลงขอโทษชาวจีนเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ตามรอย 'เวอร์ซาเช' ที่ออกมาแถลงขอโทษก่อนหน้าหนึ่งวัน หลังภาพเสื้อยืดของแบรนด์หรูที่มีการสื่อถึงการแยกตัวเป็นอิสระของฮ่องกง และ มาเก๊า กลายเป็นไวรัลบนเวย์ปั๋ว เว็บไซต์ลูกผสมระหว่างทวิตเตอร์และเฟซบุ๊กของจีน
ภาพที่กลายเป็นชนวนไวรัลในครั้งนี้ แท้จริงเป็นภาพเสื้อยืดของแบรนด์เวอร์ซาเช ที่มีการออกแบบเป็นชื่อเมืองคู่กับชื่อประเทศ อาทิ "ปักกิ่ง - จีน" และ "โรม - อิตาลี" แต่พอมาถึงฮ่องกงกับมาเก๊า กลับเป็น "ฮ่องกง - ฮ่องกง" และ "มาเก๊า - มาเก๊า" ส่งผลให้ชาวเน็ตจีนไม่พอใจเป็นอย่างมาก เพราะมองว่าการออกแบบนี้เป็นการทำร้ายอธิปไตยของประเทศ ที่อยู่ภายใต้นโยบาย "จีนหนึ่งเดียว" (One China)
ขณะที่อีก 2 แบรนด์ อย่าง 'โค้ช' และ 'จีวองชี' ก็มีสินค้าเสื้อผ้า ที่การออกแบบ สื่อถึงความเป็นเอกราชหรือประเทศอิสระของทั้ง ไต้หวัน และ ฮ่องกง ในทำนองคล้ายคลึงกัน
คำขอโทษจากทั้ง 3 แบรนด์
เมื่อกลายเป็นกระแสไวรัลออกไปอย่างแพร่หลาย 'เวอร์ซาเช' รีบออกมาแถลงขอโทษผ่านทวิตเตอร์ทางการของแบรนด์ โดยมีใจความระบุว่า
"บริษัทต้องขออภัยเรื่องการออกแบบผลิตภัณฑ์และการเรียกคืนสินค้าถูกดำเนินการตั้งแต่เดือนกรกฏาคมที่ผ่านมา เวอร์ซาเชพร้อมรับผิดชอบและกำลังมองหาวิธีการพัฒนากระบวนการทำงานในแต่ละวันให้มีความเหมาะสมและรู้เท่าถึงข้อมูลมากขึ้น"
ขณะที่ในทวีตนี้ยังมีข้อความแสดงความขอโทษออกมาจาก 'ดอนนาเทลลา เวอร์ซาเช' หัวหน้านักออกแบบและประธานบริหารของเวอร์ซาเช กรุ๊ป โดยมีใจความว่า
"ฉันเสียใจอย่างสุดซึ้งกับความผิดพลาดที่น่าเศร้าใจของบริษัทในครั้งนี้่ซึ่งกำลังถูกวิจารณ์อย่างหนักบนหลายช่องทางบนโซเชียลมีเดีย ฉันไม่เคยมีความคิดที่จะรบหรู่อธิปไตยของประเทศจีน และนี่คือสาเหตุที่ฉันอยากจะออกมาขอโทษด้วยตัวเองกับความผิดพลาดและความทุกข์ใจที่หลายฝ่ายต้องเผชิญ"
ขณะที่ 'โค้ช' ออกมาทวีตข้อความขอโทษในทำนองเดียวกัน พร้อมยืนยันว่า "โค้ชเคารพและสนับสนุนอธิปไตยและความมั่นคงทางดินแดนของจีน" เช่นเดียวกับ 'จีวองชี' ที่ออกมาแถลงขอโทษผ่านเวปั๋วว่า "ความผิดพลดที่เกิดจากการละเลยของพนักงานจะต้องได้รับการแก้ไขโดยทันที" พร้อมย้ำว่า "จีวองชี เคารพอธิปไตยของจีนมาเสมอพร้อมยึดมั่นในนโยบายจีนหนึ่งเดียวและจะยังคงยึดมั่นอย่างนี้ไม่เปลี่ยนแปลง"
หากจะมองว่าทั้ง 3 แบรนด์ ตระหนักถึงความผิดพลาดและออกมาขอโทษอย่างจริงใจก็ย่อมได้ แต่อีกมุมหนึ่งก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ชาวจีนคือกลุ่มลูกค้าสำคัญของแบรนด์หรูเหล่านี้ เพราะผู้บริโภคจีนมีสัดส่วนการซื้อสินค้าหรูทั่วโลกถึงกว่า 1 ใน 3 เป็นอย่างต่ำ และแบรนด์คงไม่อยากเสียลูกค้ากำลังซื้อดีไป