วันที่ 9 ธ.ค. ในการประชุมใหญ่วิสามัญพรรคประชาธิปัตย์ ครั้งที่ 3 ประจำปี 2566 วาระการเลือกตั้งหัวหน้าพรรค คณะกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ชุดใหม่
หลังจาก ชวน หลีกภัย สส.แบบบัญชีรายชื่อ และอดีตหัวหน้าพรรค ได้เสนอชื่อ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ลงชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรค โดยมีผู้รับรองถูกต้อง และมีคุณสมบัติเหมาะสม
อภิสิทธิ์ ได้ลุกขึ้นกล่าวต่อที่ประชุมว่า ไม่เคยคิดอยากเป็นหัวหน้าพรรคจากความต้องการส่วนตัว การตัดสินใจทุกครั้งมองถึงอนาคตของส่วนรวมมากกว่า ซึ่ง 4 ปีที่ผ่านมา ทุกคนทราบดีว่า ตนเองได้แสดงจุดยืนที่ไม่ตรงกับพรรค เรื่องการไม่สนับสนุนการร่วมรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้มีความพยายามทาบทามให้ตนเป็นหัวหน้าพรรคอีก ซึ่งได้ปฏิเสธไป เพราะพรรคได้มีแนวทางชัดเจนแล้ว
"ถามว่ามีเหตุผลอะไรไหมที่ผมต้องกลับมาเป็นหัวหน้าพรรค ภายใต้สถานการณ์หลายอย่าง และผมไม่มีตำแหน่งทางการเมืองใดๆ เลย ผมก็ต้องตอบว่าแทบไม่มีเหตุผลอะไรที่จะตอบรับ แต่ผมก็คิดเช่นเดียวกับท่านอดีตหัวหน้าชวน ว่าผมก็เป็นหนี้บุญคุณพรรคประชาธิปัตย์ แล้วก็มีคนคาดหวัง ไม่น่าเชื่อว่าบางครั้ง มีคนโทรศัพท์มาพูดต่อหน้าว่า ผมเห็นแก่ตัว ที่ไม่เข้ามากอบกู้พรรค" อภิสิทธิ์ กล่าว
อภิสิทธิ์ กล่าวต่อไปว่า สิ่งที่ทำให้สะเทือนใจคือ พวกเราในที่นี้ตระหนักกันเพียงไหนว่าพรรคกำลังอยู่ในภาวะวิกฤต หลายคนบอกว่าการเมืองมีขึ้นมีลง แต่ตนเองมองว่ามีลงแล้ว ใช่ว่าจะมีขึ้น ถ้าหากว่าไม่มีการสรุปบทเรียน เราคิดกันจริงจังหรือยังว่าเรามาอยู่จุดนี้ได้อย่างไร
"ผมอยู่กับพรรคมา 30 ปีผมขอยืนยันว่า ไม่มียุคใดที่การสนับสนุนพรรค และผู้สมัครของพรรคทำได้มากเท่ายุคของท่านเลขาฯ เฉลิมชัย ศรีอ่อน แต่ความพร้อมที่มากที่สุดนั้น กลับมาพร้อมความพ่ายแพ้ทางการเมืองที่ใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่ง ต้องยอมรับว่าที่เรามาถึงจุดนี้ เพราะประชาชนมองไม่เห็นว่า พรรคประชาธิปัตย์มีจุดยืน หรือเป็นตัวแทนของความคิดอะไร"
"ทางเดินไปข้างหน้าของพรรค จึงเป็นเรื่องของการค้นหาจิตวิญญาณ ของความเป็นประชาธิปัตย์ว่า ที่ยืนของเรา จะเป็นความหวัง และจะเป็นตัวแทนทางความคิด ของประชาชนกลุ่มไหน ในเรื่องใด"
อภิสิทธิ์ ระบุว่า วันนี้ไม่มีใครชนะหรือแพ้ แต่วันนี้พรรคเดินต่อไม่ได้หากไม่มีเอกภาพแท้จริง ถ้าตนเองลงชิงหัวหน้าพรรคแล้ว ไม่ว่าจะแพ้หรือชนะ ก็จะมีปัญหา ที่ผ่านมามีความพยายามขอพูดคุยกัน แต่ได้รับการปฏิเสธ ดังนั้น ในเมื่อมีผู้เสนอชื่อตนมา จึงขอถาม เฉลิมชัย ในฐานะรักษาการหัวหน้าพรรคว่า เราควรพักการประชุมแล้วคุยกันหรือไม่
จากนั้น เฉลิมชัย จึงได้สั่งพักการประชุม 10 นาที เพื่อพูดคุยเป็นการส่วนตัวนอกห้องประชุมกับ อภิสิทธิ์ โดยมีการสวมกอดและจับมือกันก่อนการพูดคุยด้วย
ต่อมา ทั้งสองได้กลับมาในที่ประชุม ก่อนที่ อภิสิทธิ์ จะกล่าวว่า ได้พูดคุยเข้าใจตรงกันทุกอย่าง ท่านอธิบายว่ามีแนวทางเดินหน้าอย่างไร ตนเองก็อธิบายว่ามีแนวคิดอย่างไร
"ผมขอถอนตัวจากการเป็นผู้สมัครหัวหน้าพรรค พร้อมลาออกจากสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ตนเองไม่ไปพรรคอื่น กรีดเลือดมาก็เป็นสีฟ้าจนวันตาย เป็นลูกพระแม่ธรณีเอาอุดมการณ์ประชาธิปัตย์รับใช้บ้านเมืองต่อไป วันหน้าหากพรรคประชาธิปัตย์คิดว่าตนเองจะช่วยได้ ผมก็ไม่ปฏิเสธ หวังว่าผู้บริหารชุดใหม่จะทำงานสำเร็จตามที่แจ้งไว้" อภิสิทธิ์ กล่าวก่อนจะเดินออกจากห้องประชุมทันที
โดยผู้สื่อข่าวได้พยายามติดตามไปเพื่อสอบถาม อภิสิทธิ์ ว่า การตัดสินใจลาออกเป็นเพราะพรรคประชาธิปัตย์มีแนวโน้มจะไปร่วมรัฐบาลหรือไม่ โดย อภิสิทธิ์ กล่าวเพียงว่า ให้ เฉลิมชัย ตอบ พร้อมระบุว่าไม่มีอะไรคาใจแล้ว ส่วนบทบาททางการเมืองต่อไปนั้นยังไม่ได้คิด
ขณะที่บรรยากาศในช่วงเช้า วทันยา บุนนาค ผู้สมัครชิงหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า มาถึงจุดนี้ เกินสิ่งที่คิดว่าจะแพ้หรือชนะ เป็นการสู้ให้ถึงที่สุดและทำให้ดีที่สุด เพื่อเอาจิตวิญญาณของพรรคประชาธิปัตย์กลับมาให้ได้
ส่วนจะสามารถดึงเสียงโหวตจากกลุ่ม 21 สส.ได้กี่คนนั้น วทันยา ระบุว่า ยังไม่ทราบ คิดเพียงว่าเราทำให้ดีที่สุด ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นก็พร้อมยอมรับและไม่ค้างคาใจ และเชื่อว่าผู้ใหญ่ในพรรค ทั้ง ชวน หลีกภัย, อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ, และ เฉลิมชัย ศรีอ่อน ทุกคนล้วนมีเหตุผลส่วนตัวไม่อาจก้าวล่วงได้
วทันยา ยังเผยว่า จะขอประเมินอีกครั้งว่าหลังการเลือกตั้งจะทำงานกับพรรคประชาธิปัตย์หรือไม่ เพราะต้องดูว่าอุดมการณ์และวิถีทางที่เชื่อและศรัทธาในพรรคประชาธิปัตย์จะยังเหมือนเดิมหรือไม่ และจะขอไม่รับตำแหน่งใดๆ จนกว่าจะเห็นวิถีทางที่ชัดเจนของพรรค
อย่างไรก็ตาม วทันยา ยอมรับว่าไม่มั่นใจจะผ่านมติโหวต 3 ใน 4 เพื่อขอยกเว้นคุณสมบัติหัวหน้าพรรค แต่หวังว่าพรรคประชาธิปัตย์จะมีความเป็นประชาธิปไตยและเสรีภาพทางความคิด
พร้อมกันนี้ วทันยา ยืนยันว่าไม่ได้มาเป็นตัวแทนของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แต่มาด้วยความตั้งใจทำงานระยะยาว มาด้วยอุดมการณ์ ไม่ใช่ผลประโยชน์ และไม่คิดว่าจะย้ายไปไหน หากพรรคเปลี่ยนไปก็เป็นเรื่องที่ต้องตัดสินใจอีกครั้ง