ซึ่ง ‘บิ๊กแดง’พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ. ก็ไม่ได้ตอบคำถามนี้ แค่เพียงสายหน้าแทนเท่านั้น
รวมทั้งร้อง “หูย” ไม่ได้ยินคำถามการทำรัฐประหาร แม้สื่ออยากจะได้ยินจากปาก ผบ.ทบ. ว่าเป็นข่าวลือหรือไม่ ซึ่ง พล.อ.อภิรัชต์ ก็ย้อนบอกสื่อว่า นักข่าวยังบอกเลยว่าเป็นข่าวลือ
ด้าน ‘บิ๊กตู่’ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวง (รมว.) กลาโหม ถึงกับร้อง “เฮ้ย” หลังสื่อถามถึงกระแสข่าวรัฐประหาร ได้ตอบสื่อว่า “เฮ้ย ไป กลับบ้าน” ก่อนที่ นายกฯ ถามสื่อกลับว่าใครจะรัฐประหาร โดยสื่อตอบว่า “กองทัพ” ทำให้ นายกฯ ตอบกลับ “เลอะเทอะ”
ทั้งนี้มีการลงข่าวของสื่อใหญ่ในการแจ้งเคลื่อนย้ายกำลังพล-ยุทโธปกรณ์ของ ทบ. ในการฝึกพื้นที่ต่างจังหวัด โดยเฉพาะการฝึกหน่วยพร้อมรบเคลื่อนที่เร็ว หรือ RDF ที่ อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา ในการเป็นพื้นที่ฝึกกลาง หลังนำกำลัง RDF แต่ละกองทัพภาคมาฝึกร่วมกัน
ทั้งนี้ตามนโยบาย ทบ. ที่ให้แจ้งให้ทราบเพื่อไม่ให้เกิดการตื่นตระหนก หากพบการเคลื่อนย้าย รวมทั้งติดป้าย “เพื่อการฝึก” ทว่ากลับมีการมองว่าเป็นการ ‘โชว์ออฟ’ หรือไม่
หลังในโซเชียลฯมีการแชร์ภาพการเคลื่อนย้ายกำลังพล-ยุทโธปกรณ์ รวมทั้งบันทึกข้อความที่อ้างว่าเป็นของ บก.น.8 สำรวจที่พักแรมกองร้อยควบคุมฝูงชน (คฝ.) ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยในปัจจุบัน โดยส่วนใหญ่เป็นที่ 5 สน. ย่านฝั่งธนชั้นใน รวม 7 กองร้อย
รวมทั้ง ‘จตุพร พรหมพันธุ์’ ประธาน นปช. ยังออกมาวิเคราะห์สถานการณ์เดือน ก.ย.นี้ ที่จะเป็นเดือนแห่งความเปลี่ยนแปลง แม้จะไม่มีฝ่ายใดเบ็ดเสร็จ ได้ แต่อยู่ที่ว่าฝ่ายใดมีความชอบธรรมมากกว่ากัน และเชื่อว่ารัฐธรรมนูญจะไม่ได้แก้แม้แต่เพียงมาตราเดียว และลงท้ายด้วยการฉีกรัฐธรรมนูญเช่นเดิม
อย่างไรก็ตามเหตุการณ์ที่ถูกมองว่าเป็น ‘จุดชี้ชะตา’ คือ การชุมนุมใหญ่ในวันที่ 19ก.ย.นี้ ซึ่งตรงกับวันครบรอบ 14 ปี การรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2549 สมัย ‘บิ๊กบัง’ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน อดีตประธาน คมช. ที่ยึดอำนาจรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ทำให้มีการนำเหตุการณ์มา ‘เทียบเคียง’ กับปัจจุบัน ถึงการเคลื่อนย้ายกำลังในขณะนี้
โดย พ.อ.หญิงศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษก ทบ. แจงเคลื่อนย้ายกำลัง นอกฤดูฝึก โดยมีสาเหตุหลังเลื่อนการฝึกจากช่วง มี.ค.-เม.ย.ที่ผ่านมา จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่ ทบ. จะต้องฝึกให้ทันตามแผนวงรอบงบประมาณ และตามนโยบาย พล.อ.อภิรัชต์ ที่การฝึก RDF ทบ. จะรวมหน่วย RDF ระดับกองทัพภาค ปีละครั้ง หลังมีการปรับหน่วยใน ทบ. โดยปีนี้เป็นปีที่ 2 แล้ว
พร้อมชี้แจงถึงกระแสข่าวที่ระบุว่ามีทหารกองทัพภาคที่ 3 จำนวน 3,000 นาย มาประจำที่ จ.สระบุรี ว่า หน่วยพร้อมรบเคลื่อนที่เร็ว ทบ. จากกองทัพภาคที่ 3 ที่เคลื่อนย้ายกำลังจาก จ.เชียงใหม่ จ.พิษณุโลก กองทัพภาคที่ 2 จาก จ.อุดรธานี จ.ร้อยเอ็ด และ จากกองทัพภาคที่ 1 จ.กาญจนบุรี ไปยังพื้นที่ฝึก อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา และได้ทยอยถอนกำลังกลับที่ตั้งหน่วย หลังฝึกเสร็จสิ้นแล้ว ซึ่งกำลังพลที่มาฝึกครั้งนี้ไม่ถึง 3,000 นาย
สำหรับการชุมนุมในวันที่ 19 ก.ย.นี้ ที่ มธ.ท่าพระจันทร์ ถูกจับตาจากฝ่ายความมั่นคง โดยล่าสุด มธ. ได้ออกระเบียบ 3 ข้อ ในการพิจารณาให้อนุญาตใช้พื้นที่หรือไม่ ซึ่งกลุ่มที่เป็นเจ้าภาพจัดงาน เป็นกลุ่มเดียวกับที่จัดการชุมนุมเมื่อวันที่ 10ส.ค.ที่ผ่านมา ที่ มธ.รังสิต ถือเป็นปรากฏการณ์ครั้งสำคัญ หลังเพดานข้อเรียกร้องสูงขึ้น กลายมาเป็น ‘1 ความฝัน’ ของการชุมนุม จนกลายเป็น ‘แม่แบบ’ แก่ม็อบอื่นๆ จนอีกฝั่งมองว่า ‘ล้ำเส้น’ มาแล้ว
ทั้งนี้มีข่าวว่า ‘ผู้ใหญ่ในรัฐบาล’ ได้ส่งสัญญาณไปถึง ‘ผู้บริหาร มธ.’ ให้อนุญาตจัดชุมนุมในพื้นที่มหาวิทยาลัย โดยครั้งนี้มีการประเมินว่าการชุมนุมจะ ‘ยกระดับ’ ขึ้นมา โดยอาจมีการเดินขบวนจาก มธ. ท่าพระจันทร์ มายังอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และสิ้นสุดที่ทำเนียบรัฐบาล รวมทั้งมีการวางแผนการพักค้างคืนด้วย
ตามมาด้วยปรากฏการณ์ปล่อยตัว ‘อานนท์ นำภา’ และ ‘ไมค์’ภานุพงศ์ จาดนอก ที่ถูกคุมตัวที่เรือนจำกลางกรุงเทพฯ 5 วัน หลังพนักงานสอบสวน สน.สำราญราษฎร์ ยกเลิกคำร้องฝากขังโดยให้เหตุผลว่าสอบปากคำได้บางส่วนแล้ว ไม่จำเป็นต้องคุมขังระหว่างการสอบสวนอีก จึงทำให้เกิดการวิเคราะห์เหตุใดจึงปล่อยตัว ‘ไมค์-อานนท์’ ออกมา อย่างไรก็ตามทั้งคู่ประกาศชัดร่วมชุนนุม 19 ก.ย.นี้ด้วย
ย้อนกลับไปก่อนหน้านั้น หลังจากศาลไต่สวนคำร้องของพนักงานสอบสวน ศาลมีคำสั่งให้เพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราวของนายอานนท์ แต่ในกรณี ’ไมค์-ภาณุพงศ์’ ศาลได้พิเคราะห์ ถึงอายุ อาชีพ และพฤติการณ์แห่งการกระทำที่ถูกกล่าวหา ได้กำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติมให้มีประกันในวงเงินเพิ่มเป็น 200,000 บาท โดยไม่ต้องมีหลักประกัน และให้นายภาณุพงศ์ มารายงานตัวทุก 15 วัน เพื่อปล่อยชั่วคราว
ทว่าทั้งคู่ไม่ได้ยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวเข้ามาใหม่ ศาลจึงให้เพิกถอนการปล่อยชั่วคราว และรับตัวไว้ ฝากขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 3ก.ย.ที่ผ่านมา
ดังนั้นการวิเคราะห์ที่ระบุว่าคุมตัวเพื่อไม่ให้ขึ้นเวทีในวันที่ 19 ก.ย. 2563 น้ำหนักจึงลดลงไป แต่อีกมุมมีการมองว่าเพื่อ ‘ลดแรงเสียดทาน’ และ ‘กระแส’ หรือไม่ รวมทั้งไม่ให้ถูกใช้เป็น ‘เหตุผล’ ในการระดมมวลชน
แต่อีกมุมก็มีการมองว่าเป็น ‘ยุทธวิธี’ ของฝั่งเจ้าหน้าที่ เพื่อหวังผลใดในอนาคตหรือไม่ รวมทั้งเพื่อ ‘ตั้งรับ’ การเดินเกมของคณะประชาชนปลดแอกด้วย หลัง ‘ไมค์-ภาณุพงศ์’ ไม่ได้ยื่นขอปล่อยชั่วคราว ในข้างต้น
อีกเพียง 3 สัปดาห์ ก่อนที่ พล.อ.อภิรัชต์ จะเกษียณฯ จากตำแหน่ง ผบ.ทบ. ย้อนไปเมื่อเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา พล.อ.อภิรัชต์ เคยให้สัมภาษณ์ว่า ไม่รู้ว่าสถานการณ์ข้างหน้าจะเกิดอะไรขึ้น เพราะสถานการณ์ทุกอย่างเป็นลักษณะวันต่อวัน เดือนต่อเดือน ไม่สามารถคาดการณ์ได้ หรือคนที่จะมาเป็น ผบ.ทบ. คนใหม่ จะทำอะไรอย่างไร ตนไม่ทราบ แต่ส่วนตัวเมื่อจบภารกิจ บทบาทตนก็คือ ‘เซ็ตซีโร่’ ตัวเอง
ทั้งนี้มาพร้อมกระแสข่าว ‘รัฐบาลแห่งชาติ’ ที่ถูกเปรียบว่าเป็น ‘รัฐประหารเงียบ’ จนเป็นที่มาของการหาชื่อ ‘นายกฯคนนอก-คนกลาง’ ที่จะมาแก้ปัญหาและแก้ไขรัฐธรรมนูญ ท่ามกลางสถานการณ์ที่ยังไม่เห็น ‘ปลายทาง’ ที่ทั้ง 2 ฝ่าย เห็นพ้องกันได้ จึงอยู่ที่ว่าเกมนี้ใครจะ ‘มีความชอบธรรม’ มากกว่ากัน ตรงกับที่ ‘จตุพร’ มองไว้
สิ่งที่เห็นได้ชัด คือ รัฐบาล ‘ถอย’ พอควรในหลายเรื่อง เพื่อเตรียม ‘เผด็จศึก’ กลับนั่นเอง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง