ไม่พบผลการค้นหา
'ธนกร' อวย “ประยุทธ์” นายกฯ ทำเพื่อ ปชช. ร่ายผลงานยาว โชว์ชิ้นโบว์แดง “บัตรลุงตู่” บอกประเทศต้องมีผู้บริหารที่ เพื่อนำรัฐนาวาไทยฝ่าคลื่นลมเศรษฐกิจโลกไป

ธนกร วังบุญคงชนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ดำเนินนโยบายบนผลประโยชน์ของประชาชนเป็นสำคัญ ทุกมาตรการเพื่อยกระดับความกินดีอยู่ดีของประชาชน โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อยและกลุ่มเปราะบาง อาทิ โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือที่ชาวบ้านเรียกกันติดปากแล้วว่า “บัตรลุงตู่” ที่มุ่งช่วยผู้มีรายได้น้อยทั่วประเทศแบบพุ่งเป้า ซึ่งโครงการลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐรอบใหม่ ปี 2565 มียอดสถานะการลงทะเบียนสมบูรณ์ทั้งสิ้น 19.64 ล้านรายซึ่งรอตรวจสอบสิทธ์ ส่วนโครงการคนละครึ่งเฟส 1-5 โดยรัฐช่วยจ่ายให้ครึ่งหนึ่งนั้น เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายของประชาชนที่มีกำลังซื้อ ช่วยรักษาระดับการบริโภคในประเทศ เพิ่มสภาพคล่องให้กับร้านค้ารายย่อย ครอบคลุมประชาชนผู้ใช้สิทธิกว่า 26.38 ล้านคน สร้างเม็ดเงินหมุนเวียนระบบเศรษฐกิจรวม 424,879.5 ล้านบาท ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทย ให้ขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยคนละครึ่งเฟส 5 ช่วยเพิ่มการเติบโตของ GDP ร้อยละ 0.1 ขณะที่คนละครึ่งเฟส 4 เพิ่ม GDP ร้อยละ 0.17 

ธนกร กล่าวอีกว่า โครงการเราเที่ยวด้วยกัน เฟส 5 เน้นส่งเสริมการท่องเที่ยวไทยต่อเนื่อง วงเงินรวม 2,016 ล้านบาท เริ่มใช้สิทธิ์ ก.พ.-ก.ย. 66 คาดว่าจะก่อให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจถึง 12,539 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้ปี 66 เป็นปีทองของการฟื้นฟูการท่องเที่ยวไทย โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยได้ปรับเป้าหมายจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเดินทางเข้ามาประเทศไทยตลอดทั้งปีนี้เป็น 27.5 ล้านคน คาดว่าจะสร้างรายได้หมุนเวียนเข้าประเทศทั้งจากนักท่องเที่ยวต่างชาติและไทยกว่า 2.38 ล้านล้านบาท สำหรับโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เป็นการสนับสนุนการลงทุนใน 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ผลักดันการลงทุนนวัตกรรมใหม่ สร้างรายได้ที่ยั่งยืน ยกระดับความสามารถในการแข่งขัน โดยปี 2565 ได้ออกบัตรส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่อEEC มูลค่า 262,982 ล้านบาท เป็นมูลค่าที่กลับเข้าสู่ระดับเทียบเท่าก่อนจะเกิดการระบาดของไวรัสโควิด-19 แล้ว นอกจากนี้ ตั้งแต่ปี 2561 - 2565 มีการอนุมัติงบลงทุนสูงถึง 1.8 ล้านล้านบาท และเป้าหมายในช่วง 5 ปีต่อไป (2566-70) ตั้งเป้าหมายการลงทุนไว้ที่ 2.2 ล้านล้านบาท โดยจะมีเงินลงทุนในพื้นที่ EEC ขยายตัวได้ร้อยละ 7-9 ต่อปี 

รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทั้งกายภาพและดิจิทัล ได้แก่ ทางราง มีแผนสร้างเพิ่มรวมเป็นระยะทาง 8,900 กิโลเมตร ครอบคลุม 62 จังหวัด เป็นทางคู่-ทางสาม ความยาว 5,640 กิโลเมตร มีสถานีกลางบางซื่อเป็นชุมทางรถไฟขนาดใหญ่ ทันสมัยที่สุดในอาเซียน มีรถไฟฟ้า (กทม.และปริมณฑล) สร้างเพิ่ม 10 สาย ระยะทางรวม 204.9 กิโลเมตร และอยู่ระหว่างการพิจารณาอีก 2 สาย นอกจากนี้ ยังมีรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน และรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ที่อยู่ระหว่างดำเนินการ ส่วนทางถนน ในปี 2564 มีระยะทางรวม 11,583 กิโลเมตร และได้สร้างมอเตอร์เวย์เพิ่ม 3 เส้นทางสำคัญ (บางปะอิน-โคราช / บางใหญ่-กาญจนบุรี / และพัทยา-มาบตาพุด) สำหรับทางน้ำ พัฒนาท่าเรือมาบตาพุดและท่าเรือแหลมฉบัง ขณะที่ ทางอากาศ ปรับปรุงสนามบินทั่วประเทศ เพิ่มศักยภาพการรองรับผู้โดยสาร ด้าน “เศรษฐกิจดิจิทัล” (Digital Economy) ได้พัฒนาแพลตฟอร์ม “พร้อมเพย์” (Prompt pay) และ QR Payment การใช้ G-Wallet ถุงเงิน application แอป “เป๋าตัง” เป็นต้น

ธนกร กล่าวว่า ส่วนการเพิ่มความมั่นคงในอาชีพสำหรับเกษตรกรให้มีรายได้ที่เหมาะสม คุ้มต้นทุนนั้น ผ่านโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว โดยปี 2565/66 มีเป้าหมายเกษตรกร 4.68 ล้านครัวเรือน วงเงิน รวม 18,700.13 ล้านบาท โครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมัน ปีการผลิต 2564/65 วงเงิน 7,660 ล้านบาท โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง ปีการผลิต 2564/65 วงเงิน 6,811.28 ล้านบาท รวมทั้งโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยางทั้ง 3 ระยะ รวมวงเงิน 46,789 ล้านบาท และยังมีโครงการคู่ขนานช่วยเหลือเกษตรกรอีกด้วย เพื่อส่งเสริมการเพิ่มผลิตภาพในการผลิต ควบคู่กับการพัฒนาการผลิตและพันธุ์พืช 

“ในปี 63-64 ที่ทั่วโลกประสบวิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อย่างหนัก ท่านนายกฯ สามารถนำพาประเทศผ่านวิกฤติไปได้ จนไทยได้รับการจัดอยู่ในอันดับ 1 ของโลกจาก 184 ประเทศทั่วโลก ที่ฟื้นตัวและรับมือกับการระบาดของโควิด-19 ได้ดีที่สุด จากการจัดอันดับดัชนี Global COVID-19 Index (GCI) ด้วยการแก้ปัญหาได้ยอดเยี่ยม รวดเร็ว และเด็ดขาด ทั้งนี้ ผลการทำงานอย่างหนักของรัฐบาลที่มีท่านนายกฯ เป็นเรือธง ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยเป็นขาขึ้นตั้งแต่ต้นปี 2566 และคาดว่าจะเป็นปีแรกที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจของไทยสามารถกลับมาอยู่ในระดับใกล้เคียงหรือสูงกว่าช่วงก่อนการระบาดของโควิด-19 ขณะที่ เศรษฐกิจโลกยังผันผวน และการเมืองระหว่างประเทศยังตึงเครียด รวมถึงความท้าทายใหม่ๆ ในอนาคต ทั้งปัจจัยสิ่งแวดล้อมและกฎระเบียบระหว่างประเทศใหม่ๆ ดังนั้น จะเห็นได้ว่าประเทศไทยจำเป็นต้องมีความต่อเนื่องเชิงนโยบาย มีผู้บริหารที่เก่ง เป็นคนดี มีวิสัยทัศน์ และซื่อสัตย์ เพื่อนำรัฐนาวาไทยฝ่าคลื่นลมเศรษฐกิจโลกไปให้ได้ เหมือนที่ท่านนายกฯ ได้คิดและทำมาแล้ว โดยที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” ธนกร กล่าว