ไม่พบผลการค้นหา
'อองซาน ซูจี' ขึ้นศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ เพื่อต่อสู้ในคดีที่เมียนมาถูกกล่าวหาว่าฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญา โดยระบุว่าแกมเบียบิดเบือนภาพความเป็นจริงของสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในรัฐยะไข่

อองซาน ซูจี มุขมนตรีแห่งรัฐของเมียนมาเดินทางไปศาลยุติธรรมระหว่างประเทศหรือ ICJ ที่กรุงเฮกของเนเธอร์แลนด์ พร้อมกับเจ้าหน้าที่ในรัฐบาลและกองทัพ หลังจากที่แกมเบีย ในฐานะตัวแทน 57 ประเทศสมาชิกองค์การความร่วมมืออิสลาม หรือ OIC ยื่นฟ้องศาลว่า ทางการเมียนมามีส่วนรับผิดชอบกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญาระหว่างการปฏิบัติการเมื่อปี 2017

ซูจีได้กล่าวว่า “น่าเศร้า แกมเบียวางภาพที่ไม่สมบูรณ์และทำให้คนเข้าใจความจริงเกี่ยวกับสถานการณ์ในรัฐยะไข่ผิด” พร้อมระบุว่า การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ไม่ควรเป็นสมมติฐานเดียวในการสืบคดีของเมียนมา และแม้การตรวจสอบครั้งนี้จะมุ่งเน้นที่ผู้เกี่ยวข้องในฝั่งกองทัพ แต่ “ข้าพเจ้ารับประกันได้ว่าจะมีกระบวนการที่เหมาะสมในการดำเนินการกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือนตามกระบวนการยุติธรรม”

ซูจีกล่าวว่า สถานการณ์ในรัฐยะไข่มี “ความซับซ้อน” และเธอก็รับรู้ “ความทุกข์ทรมาน” ของคนกลุ่มน้อยชาวโรฮิงญา ซึ่งลี้ภัยออกไปยังบังกลาเทศมากกว่า 700,000 คน แต่เธอย้ำหลายครั้งว่า การปราบปรามชาวโรฮิงญาในปี 2017 เป็น “ปัญหาภายในประเทศ” และกองทัพเมียนมาได้ตอบโต้การโจมตีจากกองกำลังติดอาวุธท้องถิ่น เช่น กองกำลังปลดปล่อยโรฮิงญาอาระกัน (ARSA)

กลุ่มชาติพันธุ์เรียกร้องศาลโลกเอาผิดกองทัพเมียนมาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์โรฮิงญา

องค์กรในรัฐฉาน 17 องค์กรได้ออกแถลงการณ์ร่วมกัน เพื่อแสดงการสนับสนุนการดำเนินคดีที่ทางการเมียนมาถูกฟ้องร้องต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศหรือ ICJ ว่าฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญา พร้อมเรียกร้องให้นานาชาติคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจเจ้าหน้าที่ของเมียนมา เพื่อยุติความเลวร้ายนี้

แถลงการณ์ระบุว่า ชุมชนในรัฐฉานสนับสนุนให้มีการดำเนินคดีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญากับกองทัพเมียนมาทั้งในศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ICJ) การสืบสวนสอบสวนคดีเนรเทศชาวโรฮิงญาจากเมียนมาไปยังบังกลาเทศในศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) รวมถึงคดีอาชญากรรมต่อโรฮิงญาที่ฟ้องในอาร์เจนตินา

นอกจากนี้ พวกเขายังสนับสนุนการดำเนินคดีทางกฎหมายระหว่างประเทศในกองทัพเมียนมาที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับอาชญากรรมที่เลวร้ายต่อกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมาด้วย

พวกเขาเรียกร้องให้นานาชาติใช้มาตรการกดดันต่างๆ เช่น การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจเมียนมา เพื่อให้กองทัพยุติการโจมตีและความรุนแรงที่เกิดขึ้นทั่วประเทศ และเริ่มเปิดการเจรจาทางการเมืองเพื่อยุติสงครามกลางเมือง รวมถึงฟื้นฟูความยุติธรรมและเท่าเทียมให้กับทุกคนในเมียนมา

ก่อนหน้านี้ 48 องค์กรของกะเหรี่ยงก็ออกแถลงการณ์ร่วมกัน เพื่อแสดงความยินดีที่ ICJ จะดำเนินคดีกับทางการเมียนมาในคดีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และการที่ ICC จะสืบสวนสอบสวนกรณีการเนรเทศชาวโรฮิงญาไปบังกลาเทศ โดยระบุว่า ชาวกะเหรี่ยงต้องทุกข์ทรมานจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างเป็นระบบจากกองทัพเมียนมามาหลายทศวรรษแล้ว และเรียกร้องให้นานาชาติกดดันทางการเมียนมาให้มากขึ้น

สหรัฐฯ คว่ำบาตร ผบ.สส.เมียนมา

สหรัฐฯ ประกาศคว่ำบาตรเจ้าหน้าที่ระดับสูงในกองทัพเมียนมา รวมถึงพลเอกอาวุโสมินอ่องหล่ายน์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของเมียนมา โดยจะอายัดทรัพย์สินทั้งหมดในสหรัฐฯ ของผู้ที่ถูกขึ้นบัญชี และห้ามไม่ให้ชาวอเมริกันทำธุรกิจกับบุคคลเหล่านี้ ถือเป็นมาตรการที่รุนแรงที่สุดของสหรัฐฯ ในการประณามการละเมิดสิทธิมนุษยชนของชาวโรฮิงญาและกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ 

กระทรวงการคลังของสหรัฐฯ ระบุในแถลงการณ์ว่า กองทัพเมียนมาได้ “ละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรง” ภายใต้การบัญชาการของ พล.อ.อาวุโสมินอ่องหล่ายน์ ส่งผลให้กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ถูกยิงเสียชีวิตหรือบาดเจ็บ มีประชาชนจำนวนมากต้องอพยพออกจากบ้านเรือนของตัวเอง นอกจากนี้ ทหารยังใช้มีดดาบ หรือเผาคนกลุ่มน้อยทั้งเป็นในบ้านของตัวเอง

ที่มา : Al Jazeera, Irrawaddy, SCMP