โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ หรือ ซอฟต์โลนจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ภายใต้วงเงิน 5 แสนล้านบาท หรือตาม พ.ร.ก.ให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบการวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ถูกตั้งขึ้นมาเป็นความหวังในการเติมสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก (เอสเอ็มอี) ที่กำลังจะล้มตายจากวิกฤตโรคระบาดที่เข้ามาแทรกแซงระบบเศรษฐกิจ
ณ วันที่ 28 ก.ย. 2563 สถาบันการเงินในฐานะผู้ปล่อยกู้ส่งผ่านความช่วยเหลือไปแล้วทั้งสิ้น 69,984 ราย คิดเป็นมูลค่า 1.1 แสนล้านบาท ขณะที่ ณ สิ้นปี 2562 มีจำนวนเอสเอ็มอีทั้งสิ้น 3.1 ล้านราย
ความลักลั่นจากการเป็นมาตรการใหญ่ แต่กลับช่วยเหลือผู้เดือดร้อนกลุ่มสำคัญของประเทศได้ไม่ถึง 3% มีต้นเหตุสำคัญมาจาก มาตรา 11 ใน พระราชกำหนด การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 หรือ พ.ร.ก.ช่วยเหลือเอสเอ็มอี ซึ่งระบุไว้ว่า แม้ ธปท.จะมีหน้าที่เข้าไปเยียวยาในกรณีที่สถาบันการเงินผู้ปล่อยกู้ได้รับความเสียหาย แต่การชดเชยไม่ได้ครอบคลุมมูลค่าหนี้ที่ปล่อยไปทั้งหมด
เมื่อความเสี่ยงหลักยังตกเป็นของสถาบันการเงิน แม้จะได้รับเกณฑ์การขอสินเชื่อจากแบงก์ชาติด้วยดอกเบี้ยอัตราต่ำที่ 0.01% ต่อปี ทั้งยังสามารถไปปล่อยสินเชื่อต่อให้กับลูกค้าของตนเองในอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 2% ต่อปี ซึ่งอยู่ในวิสัยที่ทำกำไรได้ แต่เมื่อพิจารณาสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน เป็นเรื่องเข้าใจได้ว่าทำไมธนาคารพาณิชย์ไปจนถึงนอนแบงก์จำนวนมากเลือกไม่ปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการ
ตามข้อมูลจากสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กลุ่มบริษัทเหล่านี้กินส่วนแบ่งถึง 35.5% ของจีดีพีทั้งปี 2562 หรือคิดเป็นมูลค่าสูงเกือบ 6 ล้านล้านบาท
ยิ่งเมื่อกลับมาพิจารณาโครงสร้างจีดีพีประเทศไทยปีก่อนที่พึ่งพิงภาคบริการสูงถึง 36.2% จากมูลค่าเศรษฐกิจรวม 16.8 ล้านล้านบาท จึงไม่แปลกที่ข้อมูลจะสะท้อนว่า เกิน 40% ของเอสเอ็มอีไทยกระจุกตัวอยู่ในภาคบริการ ก่อนลดหลั่นลงมาที่ภาคการค้าปลีกและค้าส่ง และภาคการผลิต ในสัดส่วน 31.1% และ 20.3% ตามลำดับ
กระทั่งเมื่อทั่วโลกเริ่มรับรู้ถึงผลกระทบอย่างหนักของโควิด-19 และรัฐบาลหลายประเทศหันมาบังคับใช้มาตรการล็อกดาวน์ เพื่อสะกัดกั้นการแพร่ระบาดของไวรัส ตัวเลขนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าไทยตามข้อมูลจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ลดฮวบจาก 8 แสนราย ณ สิ้นเดือนสุดท้ายของไตรมาสแรก ซึ่งนับเป็นระดับเลวร้ายกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า ที่ไทยอ้าแขนรับนักท่องเที่ยวสูงถึง 3.4 ล้านคน และมีมูลค่าเศรษฐกิจตกมาอยู่ที่ 3.9 หมื่นล้านบาท จากที่เคยทำได้ 1.7 แสนล้านบาท
เท่านั้นยังไม่พอ เมื่อเข้าช่วง 'ไฮซีซั่น' ของท่องเที่ยวไทยกับเทศกาลสงกรานต์ ประเทศไทยกลับต้องสูญเสียนักท่องเที่ยวไปทั้งหมด จนเห็นตัวเลขเป็นศูนย์เรื่อยมาจนถึงเดือน ส.ค. 2563 คิดเป็นการสูญเสียเม็ดเงินอย่างต่ำ 1 แสนล้านบาท/เดือน หากอ้างอิงจากสถิติของปี 2562
เอสเอ็มอีไทยจำนวนไม่น้อยที่ประกอบธุรกิจในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจึงได้รับผลกระทบอย่างหนัก สะท้อนผ่านดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยที่ปรับลดลงอย่างมากนับตั้งแต่เดือน ก.พ. 2563 ที่ระดับ 44.9 ก่อนหดตัวต่ำสุดในเดือน พ.ค. 2563 ที่ระดับ 31.3 ยิ่งเมื่อเข้าไปมองระดับความเชื่อมั่นในภาคเหนือและภาคใต้ ซึ่งพึ่งพิงการท่องเที่ยว ข้อมูลบ่งชี้อย่างชัดเจนว่าผู้ประกอบการมีความกังวลต่อการดำเนินธุรกิจอย่างหนัก
อีกตัวแปรของสมการจีดีพีอย่างภาคส่งออกไม่ได้มีสถานการณ์ดีกว่ากันแต่อย่างใด ตัวเลขจากสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) ชี้ว่า นับตั้งแต่เดือน เม.ย.เป็นต้นมา ส่งออกของไทยติดลบด้วยเลขสองหลักถึง 3 เดือนต่อเนื่องกัน คือ -22.5% ในเดือน พ.ค.ไล่มาที่ -23.17% และ -11.37% ก่อนจะปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยในเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา แต่ยัง -7.94%
มีเพียงกลุ่มสินค้าบางประเภทที่ได้รับอานิสงส์จากโรคระบาด อาทิ ผลิตภัณฑ์ยาง อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วนประกอบที่เกี่ยวข้องกับคอมพิวเตอร์ ไปจนถึงฝั่งอาหารทะเลกระป๋องและแช่แข็งหรือผลไม้
ขณะที่สินค้าเกษตรสำคัญของประเทศอย่างข้าวและยางพารา -14.5% และ -27.8% ตลอด 7 เดือนแรกของปีนี้ เช่นเดียวกับฝั่งสินค้าไม่คงทน อาทิ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ที่ -30% ในช่วงเวลาเดียวกัน
ผลข้างต้นเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้สถาบันด้านเศรษฐศาสตร์หลายแห่งออกมาประเมินการเศรษฐกิจไทยปีนี้จะถดถอยหนัก ล่าสุด ธนาคารโลกประเมินจีดีพีไทยอาจติดลบสูงถึง 8.3% ในกรณีฐาน หรือในกรณีเลวร้ายจะลงไปถึง -10.4% ทั้งยังต้องใช้เวลาอีก 2-3 ปี กว่าประเทศจะฟื้นเศรษฐกิจขึ้นมาได้
เมื่อพิจารณาจากองค์ประกอบทั้งหมด จึงเป็นที่มาสำคัญว่าเหตุใดสถาบันการเงินถึงไม่ยอมปล่อยสินเชื่อที่มีต้นทุนทางดอกเบี้ยต่ำเหล่านี้ให้กับผู้ประกอบการที่กำลังจะหมดลมหายใจ แต่กลับตั้งเงื่อนไขให้ผู้ประกอบการต้องยื่นทั้งสินทรัพย์ค้ำประกันและมีการตรวจสอบภาคอุตสาหกรรมที่ทำธุรกิจอย่างเข้มข้น
เพราะสิ่งที่ธนาคารพาณิชย์และนอนแบงก์กังวลคือสินเชื่อที่ปล่อยออกไปจะกลายเป็น 'หนี้เสีย' และย้อนกลับมาเป็นภาระบั่นทอนกำไรของธุรกิจ
เมื่อไม่อาจพึ่งความเห็นใจและเสียสละจากเอกชนได้เท่าที่ควร ซึ่งตามเนื้อแท้แล้วไม่ใช่เรื่องผิดอะไร หน้าที่สำคัญจึงต้องกลับมาอยู่ที่รัฐบาลในฐานะผู้กำหนดนโยบายและผู้รับผิดชอบโดยตรงในการบริหารประเทศให้ก้าวผ่านวิกฤตครั้งนี้
ธปท.ในฐานะ ตัวเอกของซอฟต์โลน 5 แสนล้านบาท ออกมายอมรับตรงๆ ว่าศักยภาพในการปล่อยเงินกู้ก้อนนี้ต่ำเกินไปและต้องมีการปรับปรุง ซึ่งนอกจากจะพยายามกระตุ้นให้สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อในโครงการซอฟต์โลนเพิ่มเติม ก่อนหน้านี้ยังเพิ่มมาตรการช่วยเหลือเรื่องการยืดกำหนดชำระหนี้จาก 3 เป็น 6 เดือน
อย่างไรก็ตาม มาตรการพักหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยจะครบกำหนดในวันที่ 22 ต.ค.ซึ่งจนถึงปัจจุบัน ธปท.ยังไม่แสดงท่าทีจะยืดมาตรการดังกล่าวออกไป
ล่าสุด ธปท.เพิ่งออกโครงการใหม่ภายใต้ชื่อ ‘DR BIZ’ ซึ่งมุ่งเป้าช่วยเหลือผู้ประกอบการที่มีหนี้สินกับหลายธนาคารด้วยวงเงินตั้งแต่ 50-500 ล้านบาท โดยหวังจะเข้าไปช่วยทั้งการลดค่างวด ขยายเวลาชำระหนี้ เพิ่มช่วงปลอดหนี้ รวมไปถึงการพิจารณาให้สินเชื่อเพิ่มเติมกับบริษัทที่มีประวัติดีและมีศักยภาพในการสานต่อธุรกิจ โดยเริ่มเปิดให้ความช่วยเหลือเมื่อ 1 ก.ย.ที่ผ่านมา
ฝั่งรัฐบาล เมื่อ 18 ส.ค.ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบออกมาตรการสนับสนุนเอสเอ็มเพิ่มเติมใน 3 กลุ่มเอสเอ็มอีสำคัญ คือ 1.กลุ่มเอสเอ็มอีทั่วไป 2.กลุ่มเอสเอ็มอีในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และ 3.กลุ่มเอสเอ็มอีรายย่อยและประชาชน ด้วยวงเงินรวม 1.14 แสนล้านบาท โดยแบ่งเป็น
ความช่วยเหลือจากทั้งภาครัฐและเอกชนเป็นแรงส่งสำคัญที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีต้องการเป็นอย่างมาก ทว่า ตามข้อมูลล่าสุดจาก สสว.ในเดือน ก.ค. 2563 ธุรกิจจำนวนมากยังเผชิญหน้ากับยอดขายที่ตกลง ประกอบกับต้นทุนการทำธุรกิจที่เพิ่มสูงขึ้น จนกลายไปเป็นปัญหาเรื่องสภาพคล่อง
ซ้ำร้าย ในการสำรวจดังกล่าว ยังพบว่ามาตรการช่วยเหลือเจาะจงจากภาครัฐเข้าไม่ถึงเอสเอ็มอีอย่างแท้จริง เนื่องจากการเยียวยาที่ผู้ประกอบการได้รับมากที่สุดคือเงินเยียวยา 5,000 บาท ในสัดส่วน 36.7% ขณะที่มาตรการรองลงมาคือการลดค่าน้ำค่าไฟ และการพักชำระหนี้
หากมาตรการต่างๆ ที่ออกมาจากรัฐยังไม่สามารถเดินทางไปถึงมือผู้ต้องการความช่วยเหลือได้อย่างแท้จริง ประเทศไทยจะต้องเจอความเสี่ยงในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่ตามมาอีกมาก
ถ้าแรงขับเคลื่อนหลักสำคัญของไทยอ่อนแอ แรงงาน 12 ล้านคนในภาคส่วนเหล่านี้ ตกอยู่ในสถานการณ์เปราะบางต่อการตกงาน เกิดเป็นปัญหาวกเป็นงูกินหางทั้งในระยะสั้น กลาง และยาว ให้แก้กันไม่จบไม่สิ้นอีก
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: