วันที่ 22 มกราคม พิชิต ชื่นบาน ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ระบุว่า ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีการเผยแพร่ข้อเสนอแนะที่เกี่ยวกับโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet โดยมีการกล่าวอ้างว่าเป็นข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 32 ต่อมา นิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้แจงว่า ขณะนี้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังไม่มีความเห็นใดๆ เกี่ยวกับโครงการดังกล่าว เพราะต้องรอคณะกรรมการ ป.ป.ช. แต่ละท่านส่งความเห็นสรุปกลับมาก่อนจะมีมติและส่งความเห็นไปยังรัฐบาล อย่างไรก็ตามร่างเอกสารที่เกี่ยวกับข้อเสนอแนะโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ที่เผยแพร่ออกมานั้น มีหลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตถึงช่วงเวลาความเหมาะสมต่อข้อเสนอแนะ ว่า “ถูกจังหวะ หรือไม่” เพราะโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet เป็นหนึ่งในโครงการที่นายกรัฐมนตรีได้แถลงนโยบายไว้ต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2566 ต่อมาคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2566 เห็นชอบในหลักการให้แต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงินฯ เพื่อทำหน้าที่ในการกำหนดนโยบาย วัตถุประสงค์ และแนวทางการดำเนินโครงการฯ หลักเกณฑ์และเงื่อนไข และแหล่งที่มาของเงินที่จะนำมาใช้ในโครงการฯ เพื่อเสนอต่อ ครม. ภายหลังคณะกรรมการนโยบายฯ ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการฯ เพื่อทำการศึกษา พิจารณา วิเคราะห์การดำเนินโครงการฯ และแหล่งที่มาของเงินที่จะนำมาใช้ในโครงการฯ รวมทั้งเสนอแนะนโยบาย วัตถุประสงค์ แนวทาง หลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการดำเนินโครงการฯ เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายฯ
พิชิต กล่าวว่า ปัจจุบันโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet อยู่ในระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายฯ ที่จะพิจารณาแหล่งที่มาของเงินที่จะนำมาใช้ในการดำเนินโครงการฯ ซึ่งยังไม่ได้ข้อยุติ เพราะต้องพิจารณาข้อเท็จจริง ความเห็น หรือข้อสังเกตของกรรมการในคณะกรรมการนโยบายฯ รวมทั้งข้อมูลจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนที่เกี่ยวข้องให้รอบคอบและรอบด้านเสียก่อนตามที่คณะกรรมการกฤษฎีกาให้ความเห็นไว้ และเมื่อคณะกรรมการนโยบายฯ พิจารณาแล้วเสร็จ จะต้องเสนอ ครม. เพื่อพิจารณาอีกครั้ง หากคณะรัฐมนตรีเห็นชอบก็ยังมีกระบวนการและขั้นตอนต่างๆ ที่จะดำเนินการเสนอร่าง พ.ร.บ.กู้เงินต่อสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 133 อีกเมื่อร่าง พ.ร.บ.กู้เงินเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรยังมีขั้นตอนที่ฝ่ายนิติบัญญัติซึ่งเป็นผู้แทนของปวงชนชาวไทยจะได้ร่วมกันพิจารณารายละเอียดต่าง ๆ ของโครงการฯ ร่วมกันอีกครั้ง หากได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ยังมีกระบวนการตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่าง พ.ร.บ.กู้เงินจากศาลรัฐธรรมนูญอีก ท้ายสุดหากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าร่าง พ.ร.บ.กู้เงินไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ก็จะเข้าสู่การประกาศบังคับใช้เป็นกฎหมาย และจะทำให้กระทรวงการคลังก็จะมีอำนาจในการกู้เงินได้
“กระบวนการต่างๆ ที่กล่าวมานี้ เป็นกระบวนการตามกฎหมายอันเป็นกระบวนการตรวจสอบตามครรลองในวิถีทางของประชาธิปไตยที่รัฐบาลได้กระทำบนพื้นฐานโดยสุจริตตามหลักการของรัฐธรรมนูญ ไม่มีเจตนาซ่อนเร้นหรือแอบแฝงเพื่อหาทางลงตามที่มีหลายฝ่ายวิจารณ์แต่ประการใด เพราะรัฐบาลเห็นว่าโครงการฯ ดังกล่าวมีความสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจ และสามารถช่วยเหลือประชาชนครอบคลุมมากกว่า 50 ล้านคน โดยที่ยังมีประชาชนอีกมากมายที่ยังคงเฝ้ารอโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet อยู่ ซึ่งรัฐบาลพยายามที่จะเร่งดำเนินการอย่างเต็มที่ แม้ข้อเสนอแนะต่าง ๆ เกี่ยวกับโครงการของรัฐบาลที่ภาคส่วนต่าง ๆ ดำเนินการตรวจสอบอยู่จะเป็นเรื่องที่ดี แต่ต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานข้อเท็จจริงที่เป็นที่ยุติ ไม่ควรสมมุติฐาน หรือคาดหมายล่วงหน้าในสถานการณ์ที่ไกลเกินกว่าที่ควรจะเป็น เมื่อปัจจุบันโครงการฯ ยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายฯ ที่ ครม.แต่งตั้งขึ้น ซึ่งยังไม่ได้เริ่มดำเนินการใดๆเพื่อที่จะกู้เงิน การที่หลายฝ่ายเร่งรีบให้ข้อเสนอแนะต่อโครงการฯ จึงอาจเร็วไปหน่อย ไม่ถูกจังหวะเท่าที่ควร และอาจกลายเป็นอุปสรรคในการบริหารราชการแผ่นดิน จึงได้แต่วิงวอนผู้มีอำนาจทั้งหลาย โปรดเหลียวตามองดูประชาชน และรอดูจังหวะที่เหมาะสมดีกว่าไหมครับ” พิชิต กล่าว