ปัญหาหนักอก 'กระทรวงการคลัง' หลังจ่ายเยียวยาเดือนละ 5,000 บาทในโครงการ 'เราไม่ทิ้งกัน' ยังคาราคาซัง ประชาชนเดือดร้อนรอคอยเงินเยียวยาใกล้ครบ 1 เดือนเต็ม แต่คนอีกกลุ่ม 'เกษตรกร' ซึ่งเผชิญกับทุกข์ราคาพืชผลเกษตรตกต่ำต่อเนื่องหลายปี ภัยแล้ง และโควิดซ้ำเติม ก็กำลังรอคอยการเยียวยาดูแลจากรัฐบาล แม้ในช่วง 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมา จะมีการเสนอให้เงินเยียวยาครัวเรือนละ 15,000 บาท ตามที่นายอุตตม สาวนายน รมว.คลังให้ข่าว หรือครัวเรือนละ 35,000 บาทตามที่พรรคเพื่อไทยเสนอ และในการประชุม ครม.วันนี้ (21 เม.ย.) จะมีเรื่องการเยียวยาเกษตรกรเข้าสู่การพิจารณา ระหว่างนี้มีข้อเสนอจากฟากฝั่งนักวิชาการถึงการ 'ค้นหาจำนวนเกษตรกร และ ครัวเรือนเกษตร' เพื่อไม่ให้ปัญหาซ้ำรอย 'เราไม่ทิ้งกันในฝั่งแรงงานอิสระ ลูกจ้างชั่วคราว' ที่ทำคนเดือดเนื้อร้อนใจมาหลายสัปดาห์
'รศ.ดร. ยงยุทธ แฉล้มวงษ์' สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เผยแพร่บทความเรื่อง 'ครัวเรือนเกษตร เมื่อไรจะได้รับการเยียวยา? ฝ่ามรสุมราคาพืชผลตกต่ำ ภัยแล้ง และโควิด-19' ระบุว่า จากสถิติของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) มีครัวเรือนเกษตร จำนวน 5.91 ล้านครัวเรือน ที่อยู่ในภาวะชราภาพ (หัวหน้าครัวเรือนอายุเฉลี่ย 57 ปี) ในปีการผลิต 2560/61
อีกทั้ง สศก.ได้เปิดเผยข้อมูลว่า รายได้จากการเกษตรต่อครัวเรือนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อปีเฉลี่ยร้อยละ 7.6 ซึ่งดูเหมือนจะดีมีอนาคต แต่เมื่อเจาะลึกลงไปจะพบว่า พวกเขามีรายได้เพียงครัวเรือนละ 370,000 บาทต่อปี โดยมีรายได้จากการเกษตรจริงๆ เพียงร้อยละ 53 เท่านั้น ส่วนรายได้ที่มาช่วยสนับสนุนร้อยละ 47 มาจากกิจกรรมไม่ใช่การเกษตร
ขณะที่ รายจ่ายต่อครัวเรือนยังต่ำกว่า จึงมีรายได้สุทธิเหลือไม่มากเพียง 74,483 บาทต่อครัวเรือน ครัวเรือนอยู่ร่วมกันมีขนาดเฉลี่ย 3.83 คน ดังนั้นรายได้สุทธิเฉลี่ยจึงต่ำมาก คือมีเพียง 19,447 บาทต่อคน/ครัวเรือน/ปี หรือ 53 บาท/คน/วันเท่านั้น (ยังไม่รวมหนี้ที่ยังไม่ได้จ่ายคืน) เห็นได้ว่ารายได้สุทธิของครัวเรือนจำนวนดังกล่าวไม่สามารถชำระหนี้ที่มียอดสูงถึง 212,586 บาท/ครัวเรือน/ปี และมีรายได้สุทธิคิดเป็นร้อยละ 35 ของหนี้สินที่ต้องชำระเท่านั้น
หมายความว่า ยิ่งไม่มีรายได้นอกเกษตรมาช่วยแล้ว เกษตรยิ่งลำบากมากกว่านี้อีกมาก ในที่สุดหนี้สินต้องใช้วิธี "ผลัดผ้าขาวม้า" คือ เอาหนี้ใหม่ปลดหนี้เก่าและเป็นหนี้ ธ.ก.ส. ต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด และนี่คือบ่อเกิดแห่งความยากจนแร้นแค้นของเกษตรกรที่สมควรได้รับการเยียวยาอย่างยิ่ง
เคราะห์ซ้ำกรรมซัด ราคาพืชผลตกต่ำมาหลายปี -แล้งกระหน่ำ-โควิดซ้ำเติม
ก่อนฤดูเพาะปลูกที่ผ่านมาเกษตรกรต้องเผชิญกับปัญหาราคาพืชผลหลักตกต่ำต่อเนื่องกันหลายปี ส่วนในฤดูกาลเพาะปลูกที่เพิ่งผ่านมา เกษตรกรต้องประสบปัญหาภัยแล้งจนผลิตผลเสียหายในวงกว้าง ทางรัฐบาลกำลังอยู่ระหว่างดำเนินการให้ความช่วยเหลือซึ่งยังไม่สิ้นสุด และถึงจะไม่มีข้อมูลใหม่มาประเมินรายได้/รายจ่ายของครัวเรือนเกษตรก็คาดเดาได้ไม่ยากว่า เกษตรกรต้องลำบากยิ่งขึ้นทั้งรายได้ที่หดหายและหนี้สินที่พอกพูนขึ้นมาอีกแน่นอน แต่ความยากลำบากของเกษตรกรไม่ได้มีเพียงแค่นี้
เนื่องจากเกิดการระบาดของโควิด-19 ภายในเวลาไม่ถึง 3 เดือน มีคนติดเชื้อสะสมทั่วโลกตั้งแต่กุมภาพันธ์ 2563 จนถึงวันที่ 13 เม.ย. 2563 เกินกว่า 1.85 ล้านคน กระจายไปมากกว่า 200 ประเทศทั่วโลก มีคนล้มตายจากพิษโควิด-19 นี้มากกว่า 114,000 คน สำหรับสถิติของประเทศไทยถึงวันที่ 13 เม.ย. 2563 มีผู้ป่วยสะสม 2,579 ราย หายป่วย 1,288 ราย เสียชีวิตสะสม 40 ราย อยู่ลำดับที่ 44 ของโลก แต่เรื่องที่เป็นปัญหาคือ การขยายของเชื้อไวรัสประเภทนี้ขยายไปถึง 68 จังหวัดทั่วประเทศ
รัฐบาลมีนโยบายในการสกัดกั้นการขยายตัวของโรคโควิด-19 โดยใช้มาตรการทางกฎหมายในลักษณะผ่อนปรน กำหนดข้อห้ามให้ประชาชนอยู่กับบ้าน "กินร้อน ช้อนตัวเอง ล้างมือบ่อยๆ" และมาตรการเคอร์ฟิว 4 ทุ่มถึงตี 4 ห้ามออกนอกบ้าน ซึ่งทำให้เกิดผลกระทบมากมาย จากการประกาศปิดสถานประกอบการที่สุ่มเสี่ยงต่อการชุมนุมกันเป็นจำนวนมาก เพื่อสร้างสังคมอยู่กับบ้านและ "รักษาระยะห่าง" (Social distancing) ซึ่งมีคนทำงานและ/หรือแรงงานที่ได้รับความเดือดร้อนจากคำสั่งมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรค
พร้อมกันนี้ยังได้บังคับใช้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) บริหารราชการแผ่นดินในภาวะฉุกเฉินมีประกาศใช้แล้ว 3 ฉบับในช่วง 2 เดือนเศษที่ผ่านมา รัฐบาลได้กำหนดมาตรการมากมาย ประชาชนถูกขอร้องให้อยู่แต่ในบ้าน พระอยู่แต่ในวัด สถานศึกษาและสถานประกอบการที่มีคนหมู่มากมารวมกันปิดทั้งหมด การรวมตัวกันทำได้ไม่ควรเกิน 4 คน โดยต้องนั่งห่างกันในระยะที่กำหนด ช่วงเคอร์ฟิวทุกจังหวัดรวมทั้งกรุงเทพมหานครแทบจะเป็นเมืองร้าง ความเดือดร้อนเนื่องจากทำมาหากินไม่ได้หรือพอจะทำได้แต่ลูกค้าก็ลดน้อยจนขาดทุนกระจายไปทุกแห่งทั่วประเทศ ทำให้รัฐบาลตัดสินใจใช้มาตรการเยียวยา 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน โดยมีผู้เดือดร้อนได้รับเงินเยียวยารุ่นแรก 3 ล้านคน ซึ่งส่วนมากเป็นแรงงานอิสระก่อน โดยเริ่มจ่ายเงินรุ่นแรกไปแล้วและจะทยอยจ่ายให้ผู้ที่เข้าข่ายถูกต้องตามเงื่อนไขจนครบประมาณ 9 ล้านคน โดยรัฐจะใช้เงินประมาณ 270,000 ล้านบาทหรือประมาณร้อยละ 5 ของงบประมาณแผ่นดิน
ปัญหาใหญ่กระทรวงคลังขาดฐานข้อมูลจ่ายเยียวยาเกษตร
ขณะที่รัฐบาลตัดสินใจจะเยียวยาเกษตรกร ซึ่งได้รับการยกเว้นจากมาตรการ 'เยียวยา 5,000 บาท ช่วง 3 เดือนแรก' ก่อน แต่หลังจากการประชุม ครม.นัดพิเศษเมื่อวันที่ 10 เม.ย. 2563 กระทรวงการคลังได้พิจารณาให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) รวบรวมข้อมูลว่า มีเกษตรกรจำนวนเท่าไรเพื่อเยียวยาให้ใกล้เคียงกับกลุ่มอาชีพอิสระ ซึ่งเพิ่งเริ่มทยอยโอนเงินให้อยู่ในขณะนั้น
เนื่องจากเกษตรกรเองก็เดือดร้อนจากราคาพืชผลตกต่ำมายาวนาน ต้องเผชิญกับปัญหาภัยแล้งพืชผลเสียหาย ขาดรายได้ ซ้ำยังถูกกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิค-19 ทำให้การทำมาหากินหลังฤดูการเกษตรเพื่อหารายได้เสริมร้อยละ 47 ของรายได้ของเกษตรกรต่อครัวเรือน ส่วนนี้เกือบจะทำไม่ได้และระยะเวลาก็ใกล้ถึงฤดูการผลิตในอีก 1-2 เดือนข้างหน้า
แต่ขณะนี้เกษตรกรเดือดร้อนจากการขาดรายได้อย่างแสนสาหัสจำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนเช่นกัน แต่ที่สำคัญคือกระทรวงการคลังไม่มีข้อมูลที่สมบูรณ์เหมือนกับกลุ่มอื่นๆที่จะเอามาคัดกรองคน 27 ล้านคนที่ลงทะเบียนไว้ว่าใครคือเกษตรกรที่พึงได้รับเงินเยียวยาใน 9 ล้านครัวเรือน
การรวบรวมข้อมูลจากแหล่งต่างๆ พบว่าขณะนี้ยอดครัวเรือนของเกษตรกรตามสถิติของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรน่าจะอยู่ที่ 5.91 ล้านครัวเรือน แต่ตัวเลขประเมินของ ธ.ก.ส. ที่เคยมีลูกค้ามาลงทะเบียนอยู่กับธนาคารฯ มีอยู่ประมาณ 6 ล้านรายและเมื่อรวมสมาชิกสหกรณ์การเกษตรและกลุ่มอื่นๆ แล้วก็น่าจะอยู่ประมาณ 9 ล้านราย
ดังนั้น ธ.ก.ส. น่าจะมีบัญชีอยู่แล้วเกือบทั้งหมดของทุกรายสามารถโอนเงินผ่านทางระบบได้เลย แต่ก็เชื่อว่ายังมีเกษตรกรอีกจำนวนมากไม่เคยจดทะเบียนขอรับเงินกู้หรือเงินช่วยเหลือจากรัฐผ่าน ธ.ก.ส. แต่รัฐบาลไม่มีบัญชีคนกลุ่มนี้ที่สมบูรณ์ อีกทั้งยังสับสนกับสมาชิกของครัวเรือนเฉลี่ยประมาณ 4 คน ทุกคนเป็นเกษตรกรหรือไม่ จึงทำให้เกิดความไม่แน่นอนของการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรเป็น 'ครอบครัว' หรือ 'จำนวนคน (อาจจะเป็นหัวหน้าครัวเรือน)' ทำให้ต้องใช้เวลาหาข้อมูล
ตามหา 'ครัวเรือนเกษตร' ใครอยู่ตรงไหน จัดเกณฑ์เยียวยาตรงเป้าหมาย
ด้วยเหตุนี้ รศ.ดร.ยงยุทธ์ ได้ลองใช้ข้อมูลจากชุดการสำรวจการมีงานทำของประชากร ไตรมาส 3/2562 มาเป็นบรรทัดฐานในการคัดเลือก 'ครัวเรือนเกษตร' จากคำจำกัดความว่า ต้องมีคนในครอบครัวทำการเกษตรอย่างน้อย 1 คน พบว่า จะมีครัวเรือนลักษณะนี้ถึง 18.83 ล้านครัวเรือน
โดยสามารถแบ่งจำแนกครัวเรือน (มีคนทำการเกษตร 1 คน) ออกได้เป็น 7 กลุ่ม คือ
จากกลุ่มต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเป็นสมาชิกของครัวเรือนเกษตรนั้นมีมากมาย การให้ความช่วยเหลือกลุ่มที่ (2-7) นี้อาจจะต้องตรวจสอบสิทธิกับกลุ่มที่ลงทะเบียน 'เราไม่ทิ้งกัน' รวมทั้งใช้วิธีอื่นๆ ประกอบคือ การเป็นสมาชิกประกันสังคมมาตรา 40 (ซึ่งมีชื่ออยู่แล้วจากการโอนเงินผ่านธนาคารต่างๆ) กลุ่มที่น่าคัดออกคือ กลุ่ม 2 กลุ่ม 4 กลุ่ม 5 กลุ่ม 6 และกลุ่ม 7
ดังนั้น จึงเหลือกลุ่ม 1 (11.8 ล้านคน) และกลุ่ม 3 (1.76 ล้านคน) ไว้พิจารณาว่าเป็นครัวเรือนเกษตร ซึ่งมีจำนวนรวมกัน 13.57 ล้านคน โดยจำนวนนี้ต่างจากครัวเรือนเกษตรของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร 5.91 ล้านคน มากกว่าที่ ธ.ก.ส. ประมาณการเบื้องต้นเอาไว้ 9 ล้านคน
อย่างไรก็ตาม การพิจารณาถึงหลักเกณฑ์คัดออกจึงต้องทำอย่างระมัดระวัง เช่น เกษตรกรบางราย (ส่วนใหญ่) เป็นสมาชิกกลุ่มเงินกู้ของ ธ.ก.ส. แต่ยังมีสมาชิกกลุ่มเกษตรกรซึ่งอาจจะคาบเกี่ยวกันหรือเป็นคนละกลุ่มก็ได้ เป็นต้น
ไม่ว่า ธ.ก.ส. จะเสนอจำนวนเกษตรกรผู้รับสิทธิเป็นจำนวนเท่าไร มีแนวโน้มที่ 9 ล้านคนนี้อาจจะน้อยเกินไปที่จะครอบคลุมผู้ที่ถูกเรียกว่า 'เกษตรกร' ได้ครบถ้วน จากระบบการให้ความช่วยเหลือตามมาตรการคราวที่แล้ว 'เราไม่ทิ้งกัน' เคยยกเว้นเกษตรกรพร้อมสมาชิกครัวเรือนเอาไว้ 17 ล้านคน ตามตัวเลขที่แสดงไปแล้วว่า เกษตรกรและสมาชิกที่เกี่ยวข้องกับครัวเรือนมีมากกว่า 9 ล้านคนแน่นอน ถ้ายังยืนตัวเลข 9 ล้านคนคงมีเกษตรกรที่กำลังอยู่อย่างยากลำบากรอคอยการเยียวยาต้องผิดหวังเป็นจำนวนหลายล้านคน อย่างน่าเห็นใจจริงๆ
นอกจากนี้ รศ.ดร.ยงยุทธ์ ยังได้เผยแพร่บทความอีกชิ้น เรื่อง 'ทำอย่างไรครัวเรือนเกษตรกร จะได้รับการเยียวยาจากรัฐบาลครบถ้วน ?' โดยระบุว่า การช่วยเหลือเกษตรกรและครัวเรือนเกษตรกรดังได้แสดงสถิติไปแล้วไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะหาครัวเรือนที่สมาชิกทุกคนทำการเกษตร ดังนั้นรัฐบาลจะใช้วิธีการคัดกรองอย่างไรก็ไม่สามารถทำให้หายแคลงใจได้ว่าการช่วยเหลือครัวเรือนเกษตรกรผิดพลาดหรือคลาดเคลื่อน
จึงเสนอทางออกคือ ให้ดูที่หัวหน้าครัวเรือนเป็นหลัก เช่น มีครัวเรือนเกษตร 5.9 ล้านราย หรือถ้าดูจากเงื่อนไขที่ลองคัดกรองดูจากข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติที่ครัวเรือนมีเกษตรกรหนึ่งคนมีจำนวน 11.81 ล้านคน แล้วให้ ธ.ก.ส.ซึ่งมีทะเบียนเกษตรกรอยู่แล้ว โอนเงินให้ได้เลย
หรือหากรัฐบาลใจดีหน่อยก็ให้บวกภรรยาและหรือสามีด้วยอีกหนึ่งคน (ซึ่งบางคนก็อาจจะเป็นหม้าย) รวมแล้วก็อาจจะเป็น 9 ล้านคนตามที่รัฐมีข้อมูลเบื้องต้นอยู่แล้วและย้ำว่าอย่าไปคิดมากเรื่องครัวเรือนเกษตรร่ำรวยหรือครัวเรือนเกษตรยากจนเพราะนั่นเป็นการพิสูจน์ยาก แต่สำหรับเกษตรกรที่ตกหล่นเพราะเป็นเกษตรกรที่ไม่ได้เป็นสมาชิก ธ.ก.ส.ก็ให้ผู้ใหญ่บ้านช่วยสำรวจครัวเรือนที่เหลือจ่ายเงินให้อีกรอบก็ยังไม่สายเกินไป เพราะถ้าเงื้อง่าราคาแพง เกษตรกรบางคนก็อาจจะอดตายไปเสียก่อนที่จะได้รับเงินช่วยเหลือ
เรื่องที่เกี่ยวข้อง :