วันที่ 22 ก.พ. ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศาลนัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกา ในคดีค้ามนุษย์โรฮิงญาที่พนักงานอัยการคดีปราบปรามการค้ามนุษย์ 1 เป็นโจทก์ฟ้อง บรรณจง จงปองผล หรือ โกจง อดีตนายกเทศมนตรีเมืองปาดังเบซาร์ จ.สงขลา กับพวกรวม 103 คน ในความผิดฐานร่วมกันค้ามนุษย์ และร่วมกันเป็นองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ โดยคดีนี้ พล.ท.มนัส คงแป้น อดีตผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพบก จำเลยที่ 54 ได้เสียชีวิตแล้ว
ทั้งนี้ จากกรณีเมื่อเดือน ม.ค. 2554 - 1 พ.ค. 2558 จำเลยได้ร่วมกันหลอกขู่บังคับชาวบังกลาเทศ และชาวโรฮิงญากว่า 80 คนจากประเทศบังคลาเทศ และประเทศเมียนมา เข้ามายังประเทศไทยเพื่อเตรียมส่งไปทำงานประเทศมาเลเซีย โดยแบ่งหน้าที่กันทำทั้งเป็นนายหน้าชักชวนผู้เสียหายว่าจะส่งไปทำงาน ซึ่งมีทั้งผู้เสียหายที่หลงเชื่อ และที่ไม่สมัครใจ
โดยมีการใช้กำลังหรืออาวุธปืนประทุษร้ายและข่มขู่ผู้เสียหายด้วย และเมื่อรวบรวมผู้เสียหายได้ 200-500 คน ก็จะส่งขึ้นเรือลำใหญ่ที่จอดลอยลำอยู่กลางทะเล ที่มีผู้ควบคุมโดยใช้อาวุธปืนไม่ให้ผู้เสียหายหลบหนี จากนั้นจะมีเรือเล็กรับผู้เสียหายขึ้นฝั่งไปพักในเขต จ.ระนอง จ.พังงา โดยจะขายผู้เสียหายคิดเป็นเงินไทยคนละ 60,000-70,000 บาท
คดีนี้ศาลชั้นต้น ได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 19 ก.ค. 2560 ซึ่งใช้เวลาอ่านคำพิพากษา 540 หน้า นานกว่า 12 ชั่วโมง และตัดสินว่า ให้จำคุก จำเลย 61 คน ตั้งแต่ 4-79 ปี และยกฟ้อง 40 คน ส่วนศาลอุทธรณ์ สั่งแก้โทษ จำคุกจำเลย ทั้งสิ้น 55 คน จากเดิมที่ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกไว้ 61 คน ส่วนจำเลยที่ศาลชั้นต้นยกฟ้อง 40 ราย เมื่อคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แก้ในส่วนของจำเลยต่างๆ แล้ว คงเหลือจำเลยที่ศาลยกฟ้องเพียง 26 รายเท่านั้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาในวันนี้ (22 ก.พ.) ใช้ระบบ Google Meet จากศาลฎีกา มายังศาลอาญา ซึ่งเป็นศาลต้นทางให้จำเลยที่ถูกคุมขัง จำเลยที่ได้รับการประกันตัว และจำเลยที่ศาลพิพากษายกฟ้อง มาฟังคำพิพากษาศาลฎีกา
ขณะเดียวกันวันนี้มีญาติของจำเลยเดินทางมาร่วมฟังคำพิพากษาศาลฎีกาด้วยโดยศาลอาญาใช้ห้องพิจารณาคดีที่ 704 ซึ่งเป็นห้องที่ใหญ่ที่สุด โดยมีการจัดระเบียบให้ญาติเข้าไปร่วมฟังได้ 75 คน รวมถึงเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์อีก 16 คน และตำรวจศาล พนักงานรักษาความปลอดภัยไปดูแลความเรียบร้อย
อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงเวลา ปรากฎว่า จำเลยที่ 37 สมพล อาดำ อดีต สจ.เขต อ.เมืองสตูล ไม่มาฟังคำพิพากษา เพราะอ้างว่า เดินทางไปต่างประเทศ ศาลจึงเห็นว่า มีพฤติการณ์หลบหนี ไม่มาฟังคำพิพากษาศาลฎีกาสั่งให้ออกหมายจับไว้
ขณะเดียวกัน ทนายของ อาบู หรือ สจ.บู ฮะอุรา จำเลยที่ 14 แถลงต่อศาลว่า จำเลยที่ 14 เสียชีวิตแล้วขณะถูกคุมขังในเรือนจำเมื่อปี 2566 แต่ทางทนายไม่ได้แจ้งศาลก่อนหน้านี้ ศาลจึงสั่งให้มีการไต่สวนการเสียชีวิต ซึ่งถ้าหากเสียชีวิตจริงก็จะนำคดีออกสู่ระบบต่อไป จึงให้เลื่อนอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา เป็นวันที่ 2 เม.ย. 2567 เวลา 9.30 น.