วันนี้ (8 ตุลาคม 2567) นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานประชุมศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช.) ครั้งที่ 3/2567 โดยมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นางสาวธีรรัตน์ สําเร็จวาณิชย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม
นายภูมิธรรม กล่าวก่อนการประชุมถึงสถานการณ์น้ำท่วมอำเภอเมืองเชียงใหม่ว่าเป็นสิ่งปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในรอบ 500 ปี ซึ่งเกิดจากน้ำท่วมใหญ่ ไม่ใช่ความผิดพลาดของราชการหรือการบริหารจัดการของราชการเป็นที่ต้องเผชิญ สิ่งที่เกิดขึ้นชี้ให้เห็นว่าจำเป็นต้องมีระบบป้องเมืองด้วยเขื่อนขนาดเล็กจึงขอให้กรมชลประทาน กระทรวงมหาดไทยศึกษาเรื่องนี้ พร้อมกับให้ร่วมกับมือกับส่วนท้องถิ่นศึกษาแนวทางเส้นทางน้ำให้เกิดการระบายน้ำให้มากที่สุด ทั้งนี้ ขอให้ศึกษาอย่างจริงจังในการฟื้นฟูสภาพป่าไม้ เพิ่มพื้นที่ต้นน้ำ เพื่อสร้างความสมบูรณ์และป้องกันการพังทลายของดิน โดยให้จัดตั้งคณะทำงาน นำผู้มีประสบการณ์มีความรู้มาร่วมกันศึกษาและวางแผนในระยะสั้นและระยะกลางระยะยาวต่อไป ซึ่งต้องการเห็นคำแนะนำที่จะสามารถเกิดเกิดขึ้นภายใน 3 เดือนนี้ เพื่อที่จะได้ดำเนินการออกแบบรับมือกับสถานการณ์ต่อไป
ที่ประชุมรับทราบผลการประชุมและผลการดำเนินงานภายใต้คำสั่งศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช.) ของ ศปช.ส่วนหน้าในพื้นที่จังหวัดเชียงราย ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จ 100% ภายในวันที่ 21 ตุลาคมนี้ พร้อมทั้งเห็นชอบการติดตามด้านการบริหารจัดการน้ำและการคาดการณ์น้ำ โดยมอบหมายให้กรมชลประทาน และสำนักทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ติดตามและรายงานสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง และให้จัดการระบายน้ำอย่างเหมาะสม ลดผลกระทบต่อประชาชน ทั้งนี้ ขอให้กรมชลประทานประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบสถานการณ์น้ำให้ชัดเจน เพื่อสร้างความมั่นใจต่อสถานการณ์น้ำของประชาชน รวมถึงให้ติดตามปริมาณน้ำในภาคใต้ด้วย
นายภูมิธรรม กำชับ ให้คณะทำงานภายใต้ ศปช. ประชุมและแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่จังหวัดอยุธยาและใกล้เคียง ที่ได้รับผลกระทบการระบายน้ำ โดยได้สั่งการให้คณะทำงานภายใต้ศูนย์ฯ พิจารณาให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด จากการประเมินเบื้องต้นเขื่อนเจ้าพระยาจะระบายสูงสุดประมาณ 2,400 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที โดยพยายามระบายน้ำในระดับคงที่ ที่ 2,200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งจะเกิดผลกระทบในพื้นที่นอกคั้นกันน้ำในจังหวัดชัยนาท อยุธยา อ่างทอง และสิงห์บุรี แต่ไม่มีผลกระทบกับกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล สำหรับการหนุนของน้ำทะเลจะขึ้นสูงอีกครั้งในช่วงวันที่ 20-21 ตุลาคม 2567 ในช่วงเวลาดังกล่าวสถานการณ์ในภาคเหนือและภาคกลางตามคาดการณ์ฝนจะลดน้อยลงและฝนจะตกหนักในพื้นที่ภาคใต้
โดยได้สั่งการให้มีการประชุมติดตามสถานการณ์เป็นประจำทุกวันเพื่อเตรียมการแก้ไขปัญหาได้ทันที หากมีฝนตกหนักเกิดขึ้น ขอให้ติดตามสถานการณ์เป็นประจำทุกวันเพื่อเตรียมการแก้ไขปัญหาได้ทันทีหากมีฝนตกหนักเกิดขึ้น ซึ่งลักษณะเป็นน้ำไหลแรงและฉับพลัน ขอให้แก้ไขสิ่งกีดขวางทางน้ำ กำจัดขยะต่าง ๆ ที่มีโอกาสทำให้เป็นปัญหาอุปสรรคต่อการระบายน้ำ สำหรับการพังหลายของไหล่เขา ขอให้กรมทรัพยากรธรณีประสานกรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบทตรวจสอบถนนที่มีความเสี่ยงสูงที่มีโอกาสดินสไลด์ ให้แจ้งเตือนหรือหาวิธีปรับปรุง เพื่อป้องกันเหตุการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้น
“ขอขอบคุณและขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนที่ร่วมมือช่วยกันช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ต่าง ๆ ซึ่งทุกคนได้เสียสละทุ่มเททำงานอย่างเต็มที่ ในส่วนของเจ้าหน้าที่อาจจะมีเสียงวิพากวิจารณ์ ขอให้อดทนต่อเสียงต่าง ๆ เหล่านี้ เชื่อว่าเจ้าหน้าที่ทุกคนทำดีแล้ว แต่อาจมีปัญหาและอุปสรรคในการทำงาน ขอให้อย่าหมดกำลังใจ”
นายภูมิธรรม กล่าว