ไม่พบผลการค้นหา
กล่าวได้เต็มปากเต็มคำแล้วว่า สายการบินแห่งชาติอิตาลีที่มีประวัติความยาวนานถึง 75 ปี ปีกหักโดยสมบูรณ์ ผู้โดยสารจะไม่อาจจองตั๋วกับ ‘อาลีตาเลีย’ (Alitalia: AZ) หลังวันที่ 15 ตุลาคมนี้ ได้อีกต่อไป
“ความรักชาติไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องนี้สักนิด ประสิทธิภาพต่างหากคือกุญแจสำคัญ” ความในใจจากอดีตผู้โดยสาร

หลังทะยานขึ้นสู่ฟากฟ้าครั้งแรกหนึ่งปีให้หลังจุดสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สองในปี 1945 ความภาคภูมิใจแห่งอิตาลีที่สะท้อนอยู่บนความหรูหราของอาหารที่บริหารและเครื่องแบบลูกเรือที่ได้ดีไซเนอร์มือดีระดับโลกมารังสรรค์ ไม่ว่าจะเป็นห้องเสื้อชั้นสูงซอเรล ฟอนตานา (Sorelle Fontana) ของสามพี่น้องหญิงนักออกแบบชาวอิตาลีในยุคเริ่มต้น มาจนถึง จอร์โจ อาร์มานี (Giorgio Armani)

...ทว่าสายการบินกลับปักหัวลงดินอย่างรวดเร็วตั้งแต่ปี 2017 เป็นต้นมา 

เอเอฟี อาลีตาเลีย อิตาลี สายการบิน
  • ภาพสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส กำลังเดินลงจากเครื่องบินแอร์บัส A330 ของสายการบินอาลีตาเลีย ณ ท่าอากาศยานนานาชาติแบกแดด ประเทศอิรัก เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2021

เกิดอะไรขึ้นกับ ‘อาลีตาเลีย’

พฤษภาคม 2017 อาลีตาเลียประกาศล้มละลายอย่างเป็นทางการ หลัง ‘เอทิฮัด’ (Etihad: EY) สายการบินแห่งชาติของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ผู้เข้าซื้อหุ้นถึง 49% ในปี 2014 ของอาลีตาเลียถอนทัพ ไม่เดินหน้าละลายเงินลงแม่น้ำต่อ

จิโอวานนี ออร์ซินา ผู้อำนวยการโรงเรียนการปกครอง จากมหาวิทยาลัย LUISS ในโรม ให้สัมภาษณ์กับซีเอ็นเอ็นว่า การตกต่ำลงของอาลีตาเลียเป็นสัญลักษณ์ชั้นดีที่สะท้อนประวัติศาสตร์การสืบทอดความไร้ศักยภาพในการต่อสู้กับโลกาภิวัฒน์และคู่แข่ง 

“ขณะที่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวผ่านการปฏิวัติไปถึงไหน...อาลีตาเลียตกอยู่ในทางตัน ถูกบีบคอจนหายใจไม่ออกจากองค์กรต่างๆ การล็อบบี้ สหภาพการค้า และแรงกดดันทางการเมือง”

ผอ.โรงเรียนการปกครอง เสริมว่า อาลีตาเลียมีความยืดหยุ่นในการแข่งขันน้อยมาก สายการบินแทบจะสู้กับผู้อื่นไม่ได้เลยเมื่อทศวรรษของสายการบินราคาถูก (low-cost carriers) มาถึง ทั้งการบริหารคนงานที่น้อยกว่าแต่ได้ประสิทธิภาพใกล้เคียงกัน ค่าโดยสารที่น่าดึงดูด เครื่องบินที่ใหม่ขึ้น และเส้นทางการบินที่ครอบคลุมทั่วโลก 

โรเซตตา สครุกลี อดีตผู้โดยสารประจำของอาลีตาเลียเผยกับซีเอ็นเอ็นว่า เธอโดยสายด้วยสายการบินแห่งชาตินี้เป็นประจำเพื่อมาทำงานในทวีปเอเชีย แต่บ่อยครั้งก็ต้องเจอการประท้วงของสหภาพแรงงานที่ทำให้การเดินทางล่าช้า ไม่ก็ถูกยกเลิกเที่ยวบินไปดื้อ ๆ

“ฉันใช้เวลานั่งรอเป็นชั่วโมง ๆ ที่สนามบิน และสัมภาระของฉันก็หายหลายครั้งมาก...ถ้าโดยสารกับสายการบินแห่งชาติแล้วทุกอย่างราบรื่นมันจะดีมาก แต่ถ้ากลับกัน มันก็นรกดี ๆ นี่เอง”

“ความรักชาติไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องนี้สักนิด ประสิทธิภาพต่างหากคือกุญแจสำคัญ” โรเซตตา สครุกลี ย้ำ
เอเอฟี อาลีตาเลีย อิตาลี สายการบิน
  • ภาพลูกเรือของสายการบินอาลีตาเลียรวมตัวประท้วง เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2017 หลังมีข่าวว่าสายการบินจะปรับลดพนักงานออก 2,000 ตำแหน่ง และลดเงินเดือนราวหนึ่งในสาม เพื่อรักษาเสถียรภาพทางการเงิน

“ในอดีต สายการบินแห่งชาติเป็นเรื่อง ‘ต้องมี’ ของอิตาลี ในฐานะสัญลักษณ์ของความภาคภูมิใจและความรักชาติ...อิตาลีไม่อาจปราศจากสิ่งนี้...อาลีตาเลียราวกับเป็นเครื่องประดับชิ้นสำคัญที่ไม่อาจขาดหายไปของชาติ มันราวกับมีชิ้นส่วนความเป็นอิตาลีโผบินไปรอบโลก” ออร์ซินา กล่าว 

การจมไม่ลงในความรักชาตินี้ทำให้รัฐบาลอิตาลีเข้ามาอุ้มอาลีตาเลียอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยหรือ ‘เข็ดหลาบ’ แทบจะทันทีที่ภาคเอกชนถอนตัวออกไป รัฐบาลอิตาลีใช้เงินภาษีมูลค่าหลายพันล้านยูโร บวกการปรับโครงสร้างหนี้ถึงสามครั้ง แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ 

ไม่เพียงตัวเลขหนี้ของบริษัทที่สูงทะลุเพดาน ประกอบกับรัฐบาลยังหานักลงทุนรายใหม่เข้ามาเติมเต็มความแร้นแค้นของเงินทุนดำเนินการไม่ได้ อาลีตาเลียยังต้องมาเผชิญกับหนึ่งในวิกฤตที่เลวร้ายที่สุดของแวดวงการบินอย่างโควิด-19 เมื่อเริ่มเข้าไป 2020 

ข้อมูลจากสมาคมการขนสงทางอากาศระหว่างประเทศ (International Air Transport Association : IATA) พบว่า รายได้จากปริมาณขนส่งผู้โดยสาร (Revenue Passenger-Kilometer / RPK) ซึ่งเป็นมาตรวัดสากลในแวดวงการบินตกลงถึง 66% ในปีที่ผ่านมา เมื่อเทียบกับตัวเลขในปี 2019

มูลค่าการขาดทุนของสายการบินรวมกันกว่า 126,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 4 ล้านล้านบาท โดย IATA มองว่ากว่ากิจการการบินจะกลับไปสู่ก่อนระดับโควิด-19 ต้องรอนานถึงปี 2024 และไม่ใช่ทุกสายการบินจะรอไหว

เอเอฟี อาลีตาเลีย อิตาลี สายการบิน
  • ภาพผู้หญิงคนหนึ่งกำลังถือธงชาติอิตาลีที่มีถ้อยคำระบุว่า "เราจะไม่ยอมแพ้" ท่ามกลางการประท้วงของพนักงานอาลีตาเลีย เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2021 เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลอิตาลีไม่ยอมรับข้อเสนอของสหภาพยุโรปในการปรับลดตัวเลขพนักงานลง

ผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนอิตาลีในช่วงต้นปีที่ผ่านมาต่อการนำเงินของพวกเขาไปอุ้มชูสายการบินที่มีบัญชีงบดุลเละเทะตลอดทศวรรษล่าสุดพบว่า มากถึง 83% ของผู้ตอบแบบสอบถามมองว่ารัฐบาลอิตาลีควรเลิกกู้ชีพอาลีตาเลียสักที และท้ายที่สุดรัฐบาลอิตาลีก็ยอมจำนน 


เปิดศักราชใหม่ ITA

จะไม่มี ‘อาลีตาเลีย’ อีกต่อไป ตามพระราชกฤษฎีกาที่ได้รับการลงนามจากทั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาเศรษฐกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานของอิตาลี ITA ที่ย่อมาจาก Italia Trasporti Aereo จะกลายเป็นสายการบินแห่งชาติสายการบินใหม่ของอิตาลี 

ฟาบิโอ ลาซเซอรินี ซึ่งเคยนั่งเป็นผู้อำนวยการฝ่ายบริหารธุรกิจของอาลีตาเลียราว 3 ปี ได้รับเลือกให้ขึ้นมานั่งหัวโต๊ะบริหาร ITA ในฐานะซีอีโอ กล่าวว่า แท้จริงแล้วเขาต้องการเริ่มต้นเปิดให้บริการ ITA ตั้งแต่ช่วงเมษายนของปีนี้ซึ่งเป็นช่วงวันหยุดฤดูร้อน แต่การเจรจากับคณะกรรมาธิการยุโรปเกิดความล่าช้าจนต้องผลักออกไปเรื่อยๆ กำหนดการล่าสุดในการเปิดให้บริการอยู่ที่เดือนกันยายนที่จะถึงนี้ 

ITA ที่กุมชะตาชีวิตของลูกจ้างภายใต้สายการบินเก่าอย่างอาลีตาเลียกว่า 11,000 คน ตั้งเป้าระดมทุนในช่วงต้นให้ได้ราว 700 ล้านยูโร (26,700 ล้านบาท) เพื่อเข้าซื้อทรัพย์สินจากบริษัทเก่าและเริ่มต้นดำเนินงาน

โดยคาดว่าจะมีรายได้เข้ามาราวๆ 3,300 ล้านยูโร (125,900 ล้านบาท) ภายในปี 2025 ทั้งยังอธิบายว่าบริษัทจะมีรายได้ก่อนดอกเบี้ยและภาษี (EBIT) ถึง 209 ล้านยูโร (7,977 ล้านบาท) และถึงจุดคุ้มทุนภายในไตรมาส 3/2023

เพื่อทำให้ได้ตามเป้าหมายข้างต้น ITA จำเป็นต้องปรับแผนธุรกิจให้สอดคล้องกับความสามารถในการแข่งขันกับสายการบินราคาถูกอื่น ๆ ในช่วงแรกนั้น ITA จะเปิดดำเนินการด้วยเครื่องบินทั้งหมด 52 ลำ เพื่อรองรับ 61 เส้นทางบิน ก่อนจะค่อย ๆ ขยับขึ้นไปเป็น 105 ลำ ในปี 2025 

เอเอฟี อาลีตาเลีย อิตาลี สายการบิน
  • กลุ่มลูกจ้างของอาลีตาเลียรวมตัวประท้วงเมื่อวันที่ 16 เมษายน 2021 เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลอิตาลีออกมาสนับสนุนสายการบินมากกว่านี้ และปฏิเสธข้อเสนอจากสหภาพยุโรปเรื่องการปรับลดจำนวนพนักงานลง

อย่างไรก็ดี สิ่งนี้หมายถึง ตัวเลขลูกจ้างปัจจุบันของอาลีตาเลียที่ราว 11,000 คน เป็นจำนวนที่มากเกินไป ITA ต้องการพนักงานแค่ 2,750 - 2,950 คน ในช่วงต้น และจะเพิ่มขึ้นมาเป็น 5,550 - 5,700 คนเท่านั้น ในปี 2025 ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมของอิตาลีเองก็ออกประกาศว่าจะมีการดูแลและเยียวยาทางสังคมให้กับพนักงานที่ไม่ได้ไปต่อกับสายการบินใหม่ของชาติ 

แน่นอนว่าประเด็นข้างต้นทำให้สหภาพแรงงานในกลุ่มอุตสาหกรรมการบินออกประท้วงไม่ยอมรับแผนธุรกิจของ ITA โดยอธิบายถึงความไม่แข็งแรงของแผนธุรกิจและรับไม่ได้กับประเด็นการจ้างงาน 

ไม่มีใครทราบว่าอนาคตของ ITA จะเป็นเช่นไร ความพยายามครั้งนี้ของรัฐบอลอิตาลีกับการมีสายการบินแห่งชาติใหม่จะประสบความสำเร็จไหม เมื่อเครื่องบินลำแรกจาก ITA ยังไม่ทะยานสู่ฟากฟ้า ก็คงประเมินไม่ได้มากว่ามันจะตกลงมาหรือบินสูงต่อไป

อ้างอิง; Reuters(1), Reuters(2), Reuters(3), Bloomberg(1), Bloomberg(2), CNN, Euronews, Airways Magazine, AFAR, European Commission, One Mile At A Time