ไม่พบผลการค้นหา
มหาวิทยาลัยในสหราชอาณาจักรกำลังเปิดตัว หนึ่งในการศึกษารระดับบัณฑิตศึกษาเป็นครั้งแรก ในหัวข้อการศึกษาด้านยาหลอนประสาท เพื่อสอนบุคลากรทางการแพทย์เกี่ยวกับการใช้ยาแอลเอสดี ยาอีหรือเอ็มดีเอ็มเอ และยาที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทอื่นๆ ในการบำบัดรักษา

ใบรับรองจากมหาวิทยาลัยเอ็กซิเตอร์ในสหราชอาณาจักรระบุว่า ยาหลอนประสาทเป็นพื้นที่การศึกษาที่มีความสำคัญในทางวิทยาศาสตร์ของสหราชอาณาจักร ซึ่งอาจช่วยปูทางให้การรักษาทางคลินิกเริ่มใช้ได้ภายใน 5 ปีข้างหน้า โดยในตอนนี้ การรักษาบางอย่างอยู่ในขั้นตอนสุดท้ายของการทดลองทางคลินิกแล้ว

การศึกษาในครั้งนี้เป็นไปตามการศึกษาก่อนหน้าในออสเตรเลีย ซึ่งเป็นประเทศแรกที่อนุญาตให้จิตแพทย์สั่งจ่ายยาหลอนประสาท สำหรับโรคซึมเศร้าที่ดื้อต่อการรักษา ทั้งนี้ ในด้านของสหรัฐฯ ยาอีอาจได้รับอนุญาตให้ใช้รักษาโรคเครียดหลังเหตุการณ์กระทบกระเทือนจิตใจได้ภายในสิ้นปีนี้ และมลรัฐโอเรกอนและโคโลราโดกำลังวางแผนที่จะทำให้การใช้สารแอลไซโลบิน ซึ่งเป็นสารหลอนประสาทที่พบได้ในเห็ดขี้ควายให้ถูกต้องตามกฎหมาย

ซีเลีย มอร์แกน ศาสตราจารย์ด้านเภสัชวิทยาจิตเวชแห่งมหาวิทยาลัยเอ็กซิเตอร์ และหัวหน้าร่วมของโครงการกล่าวว่า "ในขณะที่โลกกำลังตื่นตัวกับศักยภาพของยาหลอนประสาท ที่จะเป็นส่วนสำคัญของชุดเครื่องมือในการรักษาสภาวะสุขภาพโรคทางจิต ที่สร้างความเสียหายมากที่สุดของเรา มันมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องฝึกอบรมเจ้าหน้าที่เพื่อตอบสนองความต้องการ ในขณะนี้องคาพยพของหลักฐานที่มีคุณภาพระดับสูงซึ่งมีอยู่ทั่วโลกไม่สามารถหักล้างได้ โดยยาประสาทหลอนสามารถทำงานได้ในกรณีที่การรักษาอื่นๆ ล้มเหลว”

ในการตั้งข้อสังเกตถึงอุปสรรคหลัก ในการใช้งานยาหลอนประสาทในการรักษาทางคลินิก ซึ่งขึ้นอยู่กับกฎหมายและปัญหาเชิงโครงสร้างมากกว่าทางการแพทย์ มอร์แกนกล่าวเสริมว่า “ฉันคิดว่าสิ่งนี้แสดงให้เห็นว่า เราอยู่ห่างไกลจากความกลัวและความอัปยศ ที่ครอบงำพื้นที่ศึกษานี้มานานหลายปีเพียงใด ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เราเห็นเช่นกัน อันสะท้อนให้เห็นในมหาวิทยาลัยชั้นนำทั่วโลก ที่ดำเนินการทดลองทางคลินิกด้วยมาตรฐานระดับสูง”

“การควบคุมสารเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นตามกำหนดการที่ 1 ซึ่งหมายความว่ามันไม่มีคุณค่าทางการแพทย์ มันยังคงเป็นอุปสรรคที่ใหญ่ที่สุด แต่เรายังคงมองโลกในแง่ดีว่า สิ่งนี้อาจเปลี่ยนแปลงในสหราชอาณาจักรด้วยน้ำหนักของหลักฐานที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากมันกำลังเริ่มขึ้นในหลายประเทศ อย่างสหรัฐฯ และออสเตรเลีย” มอร์แกนระบุ

การทดลองในครั้งนี้จะใช้ประโยชน์จากการวิจัยยาหลอนประสาทชั้นนำระดับโลกของมหาวิทยาลัยเอ็กซิเตอร์ และจะมีชื่อโครงการว่า ยาหลอนประสาท: จิตใจ และวัฒนธรรม โดยโครงการจะมีการแถลงเปิดเผยรายละเอียดที่งานเบริกกิงคอนเวนชัน ซึ่งเป็นงานประชุมสารหลอนประสาทที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป

โครงการดังกล่าวนี้มีเป้าหมายการอบรมบุคลากรทางการแพทย์และนักบำบัดโรค รวมถึงทุกคนที่สนใจในศักยภาพของสารหลอนประสาท ซึ่งรวมถึงผู้ที่ต้องการเจาะตลาดการดูแลสุขภาพ จากการใช้ยาหลอนประสาท ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าจะสามารถสร้างมูลค่าได้กว่า 8.4 พันล้านปอนด์ (ประมาณ 3.58 แสนล้านบาท) ภายในปี 2561

ใบรับรองจะครอบคลุมหัวข้อต่างๆ มากมาย รวมถึงการสอนเกี่ยวกับการบำบัดด้วยสารหลอนประสาทที่มีอยู่และการวิจัยทางจิตวิทยา จิตเวชศาสตร์ และประสาทวิทยาศาสตร์ ตลอดจนโมดูลเกี่ยวกับปรัชญา เช่น ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับจิตสำนึกและอภิปรัชญาที่สารหลอนประสาทมีให้ และการอภิปรายเกี่ยวกับการแยกการวิจัยและการปฏิบัติทางสารหลอนประสาท รวมถึงมุมมองด้านมานุษยวิทยาในวัฒนธรรมที่ใช้สารหลอนประสาทมานานหลายศตวรรษ โดยนักศึกษาจะได้เรียนรู้ทักษะการปฏิบัติ เช่น เทคนิคการรักษา และทักษะการวิจัย

มีการพบว่ายาหลอนประสาทมีแนวโน้มที่ถูกนำไปใช้ในการรักษาสุขภาพจิต เมื่อช่วงทศวรรษที่ 1950 และ 1960 แต่การวิจัยดังกล่าวถูกห้าม เนื่องจากเป็นส่วนหนึ่งของการปราบปรามทางการเมือง เกี่ยวกับการใช้ยาเสพติดที่ผิดกฎหมาย

อย่างไรก็ดี ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา กระแสต่อยาหลอนประสาทได้เปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากงานวิจัยจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ แสดงให้เห็นว่า ยาที่ทำให้ผู้ใช้เกิดอาการหลอนประสาท สามารถรักษาอาการต่างๆ เช่น โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล โรคเครียดหลังเหตุการณ์สะเทือนใจ โรคย้ำคิดย้ำทำ การติดยาสูบ การติดสารเสพติดและแอลกอฮอล์


ที่มา:

https://www.theguardian.com/society/2023/apr/21/uk-university-launches-postgraduate-course-in-clinical-use-of-psychedelics-exeter?CMP=Share_AndroidApp_Other&fbclid=IwAR0htmHrT4c9dNx5n0p61_rlE1h2RVmNtDVkn7S9vSijTLb3kY9MLMSdlvg