วันที่ 8 มี.ค. ที่พรรคเพื่อไทย แพทองธาร ชินวัตร ประธานคณะที่ปรึกษาด้านการมีส่วนร่วมและนวัตกรรม พรรคเพื่อไทย และหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย พร้อมด้วย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทย พวงเพ็ชร ชุนละเอียด ประธานคณะกรรมการประสานงานด้านการเมืองพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) พรรคเพื่อไทย ลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย
พร้อมด้วย ส.ส.พรรคเพื่อไทย และผู้ซึ่งประสงค์สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ครอบครัวเพื่อไทย ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ ส.ส.กทม. และโฆษกพรรคเพื่อไทย สุภาภรณ์ คงวุฒิปัญญา ส.ส.กทม. จิราพร สินธุไพร ส.ส. ร้อยเอ็ด กิตติ์ธัญญา วาจาดี ส.ส.อุบลราชธานี ขัตติยา สวัสดิผล คณะทำงานด้านกฏหมาย พรรคเพื่อไทย ตรีชฎา ศรีธาดา รองโฆษกพรรคเพื่อไทย ศรีญาดา ปาลิมาพันธ์ ลีลาวดี วัชโรบล กมลพัฒน์ ปุ้งบางกระดี่ ชญาภา สินธุไพร สกาวใจ พูนสวัสดิ์ เพ็ญพิสุทธิ์ จินตโสภณ พร้อมด้วย ส.ก.หญิงพรรคเพื่อไทย ชญาดา วิภัติภูมิประเทศ ปิยวรรณ จรกา กนกนุช กลิ่นสังข์
ร่วมแถลงข่าวนโยบายเพื่อผู้หญิง เนื่องในวันสตรีสากล ณ ที่พรรคเพื่อไทย ภายใต้ธีม "DigitALL: Innovation and technology for gender equality" นวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อความเท่าเทียมทางเพศ" โดยผู้เข้าร่วมมีการสวมเสื้อ “embrace equity โอบกอดความเสมอภาค” เพื่อแสดงจุดยืนความเสมอภาคทางเพศของพรรคเพื่อไทย
แพทองธาร กล่าว่า พรรคเพื่อไทยเล็งเห็นถึงความสำคัญของเทคโนโลยีที่จะเป็นตัวช่วยสำคัญ ทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงโอกาสต่างๆ และจะเป็นหัวใจสำคัญของการสร้างความเท่าเทียมทางเพศ โดยมีการเปิดนโยบาย 2 อย่างที่จะสนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศอย่างทั่วถึง
นโยบายแรกคือ ‘การยกระดับกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ด้วยเทคโนโลยี’ ให้ผู้หญิงทุกคนเข้าถึงโอกาสทางเศรษฐกิจ และการพัฒนาทักษะ ซึ่งเดิมที ‘กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี’ คือหนึ่งในความสำเร็จของการสร้างความเท่าเทียมทางเพศให้เกิดขึ้น ในสมัยรัฐบาลพรรคเพื่อไทยโดย ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โดยมีกรอบความรับผิดชอบ 3 ด้าน ได้แก่ การสร้างโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุน, การพัฒนาทักษะอาชีพ, และการดูแล ปกป้องสิทธิสตรี, ผู้ด้อยโอกาส, ผู้พิการ และผู้สูงอายุ เพื่อดูแลประชากรหญิงครอบคลุมทุกมิติ
แพทองธาร เสริมว่า ในปัจจุบันการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการหญิงยังเป็นปัญหา จากข้อมูลธนาคารโลกระบุว่า ในประเทศกำลังพัฒนา ผู้ประกอบการหญิงมีจำนวนเพียง 30 % และมีถึง 70% ที่ไม่ได้รับเงินทุนสนับสนุนจากสถาบันการเงิน โดยส่วนใหญ่เป็นธุรกิจในภาคค้าปลีกซึ่งเติบโตน้อย กำไรน้อย และยังขาดเทคโนโลยี
พรรคเพื่อไทยจึงมีนโยบายต่อยอดความสำเร็จของกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ผ่านการนำเทคโนโลยีเข้ามามีส่วนร่วมพัฒนาศักยภาพกองทุน โดยเทคโนโลยีจะเพิ่มโอกาสการเข้าถึงแหล่งทุนทั้งจากภาครัฐและเอกชน ทำให้เกิดการสร้างคน สร้างเครือข่าย เชื่อมตลาดในประเทศและต่างประเทศ เพิ่มศักยภาพการเข้าถึงนวัตกรรม และเพิ่มการปกป้องสิทธิ์ต่างๆ เพื่อผู้หญิงทุกคนได้รับโอกาสอย่างเท่าเทียม และสามารถยืนหยัดด้วยตัวเองอย่างภาคภูมิ
นโยบายที่ 2 คือ ‘การฉีดวัคซีนมะเร็งปากมดฟรีสำหรับผู้หญิงทุกคน’ เนื่องจากสาเหตุการเสียชีวิตของหญิงไทยเกิดจากมะเร็งปากมดลูกเป็นอันดับ 2 รองจากมะเร็งเต้านม ซึ่งพรรคเพื่อไทยได้เห็นถึงความสำคัญของสุขภาวะในเพศหญิงและมีแนวทางลดอัตราการเสียชีวิตจากมะเร็งปากกามดลูก ด้วยการฉีดวัคซีนป้องกันให้กับผู้หญิงทุกคนที่ยังไม่ติดเชื้อ HPV โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
แพทองธาร ยังกล่าวถึงความเท่าเทียมทางเพศในประเทศไทยที่มีแนวโน้มดีขึ้น จากการเคยมีนายกรัฐมนตรีหญิง มีผู้หญิงอยู่ในตำแหน่งผู้บริหารระดับสูง และในภาคการเมืองผู้หญิงก็มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยการเลือกตั้งที่ใกล้จะถึงนี้ พรรคเพื่อไทยมีสัดส่วนผู้สมัคร ส.ส.หญิง 20% มากกว่าการเลือกตั้งครั้งก่อนที่มี 15 % โดยไม่ได้มีการจำกัดเพศในการคัดเลือกผู้สมัครแต่มาจากความเหมาะสมเป็นหลัก
“พรรคเพื่อไทยยึดหลักความเสมอภาคทางเพศ (Gender Equity) เราจะทำให้เพศไม่ใช่อุปสรรคในการใช้ชีวิต เรายืนหยัดที่จะทำให้ทุกคนสามารถสานฝัน ทำในสิ่งที่ทุกคนต้องการ ไม่ว่าคุณจะเป็นเพศไหน ทุกคนสามารถเป็นทุกสิ่งที่คุณต้องการได้” แพทองธาร กล่าว