ที่สำนักงานอัยการสูงสุด ศูนย์ราชการฯ ถ.แจ้งวัฒนะ อิทธิพร แก้วทิพย์ รองอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีอาญา, ชาญชัย ชลานนท์นิวัฒน์ รองอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีอาญา และประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ร่วมแถลงความคืบหน้าการดำเนินคดีวรยุทธ หรือบอส อยู่วิทยา กรณีขับรถชนตำรวจ สน.ทองหล่อ เสียชีวิต
ประยุทธ เปิดเผยว่า ตามที่สำนักงานอัยการสูงสุดมีคำสั่งที่ พิเศษ/2563 ลงวันที่ 26 ก.ค. 2563 ตั้งคณะทำงานเพื่อตรวจสอบการพิจารณาสั่งคดี สำนวน ส.1 เลขรับที่ 107/2556 ของสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 1 คดีระหว่าง พ.ต.ท.วิรดล ทับทิมดี ผู้กล่าวหา วรยุทธ หรือบอส อยู่วิทยา ผู้ต้องหาที่ 1 และ ด.ต.วิเชียร กลั่นประเสริฐ ผู้ต้องหาที่ 2 ต่อมาเมื่อคณะทำงานได้ตรวจพิจารณาการสั่งสำนวนดังกล่าวเสร็จสิ้น และได้แถลงข่าวให้สื่อมวลชนทราบแล้วเมื่อวันที่ 4 ส.ค. 2563
ทั้งนี้ คณะทำงานได้ตรวจพบว่าข้อหาขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายที่มีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องไปแล้วนั้น ได้ปรากฏพยานหลักฐานใหม่ซึ่งเป็นพยานสำคัญสามารถทำให้ศาลลงโทษวรยุทธได้ จึงเข้าหลักเกณฑ์ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 147 ที่สามารถแจ้งให้พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนต่อไป และคณะทำงานยังตรวจสำนวนพบว่ามีหลักฐานการตรวจพบยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 2 (โคเคน) ในร่างกายวรยุทธ แต่พนักงานสอบสวนยังไม่ได้แจ้งข้อกล่าวหาและสอบสวนผู้ต้องหา ในข้อหาเสพยาเสพติดให้โทษประเภท 2 (โคเคน) โดยคณะทำงานได้ทำบันทึกรายงานและเรียนอัยการสูงสุดให้ดำเนินคดีวรยุทธ ต่อไป
ต่อมา อัยการสูงสุดได้พิจารณารายงานของคณะทำงานดังกล่าวแล้ว เห็นชอบด้วยกับข้อเสนอของคณะทำงานและอัยการสูงสุดได้อาศัยอำนาจตามมาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติองค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ.2553 จึงมีคำสั่งสำนักงานอัยการสูงสุดที่ 1400/2563 ลงวันที่ 4 ส.ค. 2563 แต่งตั้งพนักงานอัยการเป็นคณะทำงานพิจารณามีคำสั่งคดีอาญาสำนวน ส.1 เลขรับที่ 107/2556 ของสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 1 ดังนี้ อิทธิพร แก้วทิพย์ เป็นหัวหน้าคณะทำงาน, ชาญชัย ชลานนท์นิวัฒน์ เป็นรองหัวหน้าคณะทำงาน, อุทัย สังขจร เป็นคณะทำงาน, ประยุทธ เพชรคุณ เป็นคณะทำงานและเลขานุการ, นรา เขมอุดลวิทย์ เป็นคณะทำงานและผู้ช่วยเลขานุการ โดยมีสมใจ โตศุกลวรรณ์ เป็นที่ปรึกษาคณะทำงาน
ทั้งนี้ ให้คณะทำงานมีอำนาจหน้าที่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา โดยให้ดำเนินการเรียกสำนวนคดีดังกล่าวเพื่อพิจารณา สั่งให้พนักงานสอบสวนดำเนินการสอบสวนเพิ่มเติมหรือส่งพยานคนใดมาให้ซักถาม และหากปรากฏว่ามีพยานหลักฐานใหม่ ให้ดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายเพื่อพิจารณาสั่งคดีต่อไป
ด้าน อิทธิพร กล่าวว่า วันนี้ (10 ส.ค.) คณะทำงานตามคำสั่งสำนักงานอัยการสูงสุดที่ 1400/2563 ดังกล่าว ได้ประชุมพิจารณาสำนวนคดี ส.1 เลขรับที่ 107/2556 ของสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 1 แล้ว คณะทำงานได้มีคำสั่งทางคดี คือ พนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องวรยุทธ ผู้ต้องหาที่ 1 ฐานกระทำโดยประมาทและการกระทำนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 26 ) พ.ศ.2560 มาตรา 4 และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติได้มีคำสั่งไม่แย้งคำสั่งไม่ฟ้องของพนักงานอัยการแล้วเมื่อวันที่ 5 มิ.ย.63 อันเป็นผลให้คดีต้องห้ามมิให้ทำการสอบสวนเกี่ยวกับการกระทำของวรยุทธในเรื่องเดียวกันนั้นอีก เว้นแต่จะได้พยานหลักฐานใหม่ อันสำคัญแก่คดี ซึ่งน่าจะทำให้ศาลลงโทษผู้ต้องหานั้นได้ ทั้งนี้ ตามนัยประมวลกฎหมาย วิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 147
ภายหลังจากพนักงานอัยการได้มีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องวรยุทธดังกล่าวแล้ว ได้ปรากฏข้อเท็จจริงทางสื่อมวลชนอย่างแพร่หลายว่ามีผู้เชี่ยวชาญให้ความเห็นเกี่ยวกับอัตราความเร็วในการขับรถของนายวรยุทธ แตกต่างจากอัตราความเร็วที่ใช้เป็นข้อเท็จจริงในการพิจารณาความเห็นสั่งไม่ฟ้อง
1.ปรากฏข้อเท็จจริงจากคำให้สัมภาษณ์ทางสื่อมวลชนของ สธน วิจารณ์วรรณลักษณ์ อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์ว่าเป็นผู้คำนวณความเร็วรถยนต์ที่วรยุทธขับ ได้ความเร็ว 177 กม./ชม.
2.สามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้คำนวณความเร็วรถยนต์ของวรยุทธขับได้ความเร็ว 126 กม./ชม.
คณะทำงานได้ร่วมกันพิจารณาแล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงที่ได้จากการให้สัมภาษณ์และการคำนวณของ สธน และสามารถ เป็นพยานหลักฐานใหม่ตามความหมายของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 147 โดยเห็นว่า พยานหลักฐานใหม่ หมายถึง พยานหลักฐานที่ไม่เคยปรากฏอยู่ในสำนวนการสอบสวนและเป็นพยานหลักฐานอันสำคัญ ซึ่งอาจมีผลให้การพิจารณาความเห็นเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมได้ ดังนั้น ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความเร็วของรถยนต์ที่วรยุทธขับในขณะเกิดเหตุจึงเป็นพยานหลักฐานที่สำคัญ และสามารถทำให้ศาลลงโทษผู้ต้องหาที่ 1 ได้ ถือเป็นพยานหลักฐานใหม่ที่ควรสั่งให้พนักงานสอบสวนดำเนินการสอบสวนเพิ่มเติมเพื่อประกอบการพิจารณาสั่งคดีต่อไป ตามนัยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 147
คณะทำงานจึงมีคำสั่งให้พนักงานสอบสวนดำเนินการ ดังนี้
1.ให้สอบสวน "ดร.สธน" และ "สามารถ" เป็นพยานตามรูปคดี ที่คณะทำงานได้กำหนดเป็นประเด็นในหนังสือสั่งสอบสวนเพิ่มเติม
2.ให้สอบสวนนายกสภาวิศวกรหรือผู้ได้รับมอบหมายเป็นพยานในประเด็นว่า ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรของ รศ.ดร.สายประสิทธิ์ เกิดนิยม ขาดต่อใบอนุญาตจริงหรือไม่ การขาดต่อใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรจะมีผลต่อการทำเอกสารรับรองการคำนวณความเร็วของรถยนต์ที่นายวรยุทธขับ มากน้อยเพียงใด การคำนวณความเร็วของรถยนต์มีความถูกต้องมากน้อยเพียงใด
3. นอกจากนี้ยังปรากฏว่าผลการตรวจร่างกายของวรยุทธพบสารโคเคน ซึ่งเป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 2 คดีจึงมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะดำเนินคดีกับผู้ต้องหาที่ 1 ในความผิดฐานเสพยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 2 (โคเคน) เข้าสู่ร่างกาย โดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 แต่พนักงานยังไม่ได้ดำเนินคดีข้อหานี้กับวรยุทธ คณะทำงานจึงมีคำสั่งให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีกับวรยุทธ ป็นคดีใหม่ต่อไปตามกฎหมาย โดยคณะทำงานได้มีคำสั่งให้พนักงานสอบสวนดำเนินการสอบสวนเพิ่มเติมดังกล่าวโดยด่วน และให้จัดส่งผลการสอบสวนเพิ่มเติมภายในวันที่ 20 ส.ค. 2563 นี้