สมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะแห่งญี่ปุ่น ซึ่งมีพระชนมายุ 85 พรรษา ทรงเข้าพระราชพิธีสละราชสมบัติในเวลา 17.00 น. หรือเมื่อเวลา 15.00 น. ตามเวลาประเทศไทย และเป็นวันสิ้นสุดรัชศก 'เฮเซ' ที่ดำเนินมาเป็นเวลา 30 ปี นับตั้งแต่ พ.ศ. 2532 เป็นต้นมา หลังจากนั้น ประเทศญี่ปุ่นจะเข้าสู่รัชศกใหม่อย่างเป็นทางการ โดยชื่อเรียกรัชศกใหม่ คือ 'เรวะ'
ทำไมสมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะทรงสละราชสมบัติ?
พระองค์เคยตรัสไว้เมื่อปี 2016 ว่าพระองค์มีพระราชประสงค์ที่จะสละราชสมบัติในขณะที่พระองค์ยังมีพระพลามัยแข็งแรง ต่อมาในปี 2017 สมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะทรงแสดงพระราชประสงค์อย่างชัดเจนที่จะสละราชสมบัติ เนื่องจากทรงมีพระชนมายุมากแล้วและทรงมีปัญหาด้านพระพลานามัย ซึ่งชาวญี่ปุ่นส่วนใหญ่ก็สนับสนุนพระราชประสงค์ของพระองค์ ตามรัฐธรรมนูญสมเด็จพระจักรพรรดิถือเป็น "สัญลักษณ์แห่งรัฐและเอกภาพของประชาชน" แต่ไม่มีอำนาจทางการเมืองใดๆ อยู่แล้ว
ที่ผ่านมา ญี่ปุ่นไม่มีกฎหมายเกี่ยวกับการสละราชสมบัติของสมเด็จพระจักรพรรดิ เพราะปกติจะมีสมเด็จพระจักรพรรดิพระองค์ใหม่ได้ก็ต่อเมื่อพระจักรพรรดิพระองค์ปัจจุบันสวรรคตเท่านั้น ดังนั้น เมื่อสมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะทรงแสดงพระราชประสงค์เช่นนั้น รัฐสภาญี่ปุ่นจึงต้องผ่านกฎหมายเพื่อเปิดทางให้พระองค์ทรงสละราชบัลลังก์ได้โดยเฉพาะ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในรอบ 200 ปีที่สมเด็จพระจักรพรรดิของญี่ปุ่นทรงสละราชสมบัติ
สำนักข่าวเจแปนทูเดย์รายงานว่า นักวิเคราะห์บางคนวิเคราะห์ว่า สมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะทรงมีพระราชประสงค์ให้ตำแหน่งพระจักรพรรดิอยู่ในสายตาของประชาชนตลอดเวลา เพื่อความโปร่งใส ไม่ปกปิดและถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองเหมือนช่วงสงครามโลกที่สมเด็จพระจักรพรรดิฮิโรฮิโตะ ขณะที่นักวิเคราะห์อีกส่วนหนึ่งก็มองว่า สมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะทรงพยายามให้การเปลี่ยนผ่านรัชศกอย่างราบรื่น
ใครขึ้นครองราชย์แทน
มกุฏราชกุมารนะรุฮิโตจะขึ้นครองราชย์ต่อ โดยพระองค์ทรงมีพระชนมายุ 59 พรรษา เป็นพระราชโอรสองค์โตของสมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะ เจ้าชายนะรุฮิโตะทรงเป็นนักดนตรีและนักปีนเขา พระองค์ทรงเคยศึกษาที่อ็อกซ์ฟอร์ด 2 ปี และทรงเสนอวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับระบบคมนาคมในแม่น้ำเธมส์ในศตวรรษที่ 18 หลังจากทรงศึกษาประวัติศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยกะคุชุอิน
ด้านเจ้าหญิงมะซะโกะ พระชายาในองค์มกุฎราชกุมารทรงเป็นอดีตทูต จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ปัจจุบันพระองค์กำลังรักษาอาการเครียด หลังประสูติเจ้าหญิงไอโกะ พระธิดา ท่ามกลางความกดดันว่าพระองค์จะต้องมีพระโอรสสืบทอดพระราชสมบัติ
กฎหมายของญี่ปุ่นยังคงกีดกันไม่ให้เจ้าหญิงไอโกะสืบทอดพระราชสมบัติต่อจากเจ้าชายนะรุฮิโตะ ดังนั้น เจ้าชายฟุมิฮิโตะ พระอนุชาของเจ้าชายนะรุฮิโตะจะทรงเป็นผู้สืบสันตติวงศ์ลำดับแรก และเจ้าชายฮิซะฮิโตะ พระโอรสในเจ้าชายฟุมิฮิโตะจะทรงเป็นลำดับถัดมา อย่างไรก็ตาม ชาวญี่ปุ่นจำนวนมากสนับสนุนให้มีการแก้ไขกฎหมายอนุญาตให้ผู้หญิงสามารถขึ้นครองราชย์ได้
หลังสละราชสมบัติแล้ว สมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะจะทรงทำอะไรบ้าง?
สมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะจะทรงเกษียณจากพระราชกรณียกิจทั้งหมด จะไม่ลงพระปรมาภิไธยในเอกสารราชการใดๆ ไม่รับพระราชอาคันตุกะ ไม่เสด็จร่วมพิธีของรัฐบาล และไม่ประกอบพระราชพิธีใดๆ รวมถึงจะไม่เสด็จเข้าร่วมพระราชพิธีราชาภิเษก เริ่มต้นรัชศกเรวะ ในวันที่ 1 พ.ค.ด้วย
สมเด็จพระจักรพรรรดิอะกิฮิโตะจะทรงใช้เวลาส่วนตัวเงียบๆ จะไม่ทรงแทรกแซงสมเด็จพระจักรพรรดิพระองค์ใหม่ มีการคาดการณ์ว่า สมเด็จพระจักรพรรรดิอะกิฮิโตะจะทรงใช้ชีวิตเกษียณเสด็จเยือนพิพิธภัณฑ์ คอนเสิร์ตหรือวิจัยปลาบู่ หลังทรงย้ายไปประทับที่พระราชวังของเจ้าชายนะรุฮิโตะ ส่วนเจ้าชายนะรุฮิโตะก็จะทรงย้ายไปประทับที่พระราชวังหลวง เมื่อขึ้นเป็นสมเด็จพระจักรพรรดิพระองค์ใหม่
การสละราชสมบัติในประเทศอื่นๆ เป็นอย่างไรบ้าง?
นี่จะเป็นครั้งแรกที่สมเด็จพระจักรพรรดิของญี่ปุ่นทรงสละราชสมบัติ นับตั้งแต่สมเด็จพระจักรพรรดิโคคะคุทรงสละราชสมบัติในยุคเอโดะ เมื่อ 200 ปีก่อน แต่การสละราชสมบัติถือเป็นเรื่องที่พบเห็นได้บ่อยขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก
เมื่อปี 2006 สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี ซิงเย วังชุก ทรงประกาศสละราชสมบัติหลังทรงครองราชย์มายาวนานถึง 34 ปี สร้างความตกใจให้กับประชาชนในภูฏานอย่างมาก ก่อนที่สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุกพระราชโอรสพระองค์โตจะขึ้นครองราชย์ต่อ
เมื่อปี 2013 สมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16 ทรงประกาศลาออกจากตำแหน่ง ทำให้เป็นโป๊ปพระองค์แรกที่ออกจากตำแหน่งในรอบ 600 ปี จากนั้น จึงมีการแต่งตั้งโป๊ปฟรานซิสขึ้นมาดำรงตำแหน่งต่อ
ในปีเดียวกัน สมเด็จพระราชินีนาถเบียทริกซ์ของเนเธอร์แลนด์ก็ทรงสละราชสมบัติ หลังจากครองราชย์มากว่า 33 ปี โดยพระองค์ตรัสว่า ควรส่งต่อภาระความรับผิดชอบของประเทศไปให้คนรุ่นใหม่ ทำให้พระองค์เป็นประมุขพระองค์ที่ 3 ของเนเธอร์แลนด์ที่ทรงสละราชสมบัติ
นอกจากนี้ สมเด็จพระราชาธิบดีอัลแบร์ที่ 2 แห่งชาวเบลเยียมก็สละราชสมบัติหลังจากครองราชย์มากกว่า 20 ปี โดยพระองค์ทรงให้เหตุผลว่า พระองค์มีพระชนมายุมากแล้ว แต่หลายคนก็เชื่อว่า พระองค์ทรงสละราชสมบัติ เพราะมีพระราชธิดานอกสมรสที่ออกมาฟ้องร้องคดี ซึ่งพระองค์ก็ปฏิเสธคำสั่งศาลที่ให้เก็บตัวอย่างดีเอ็นเอของพระองค์
ที่มา : Japan Today, Japan Times