"พวกเราไม่หายไปไหน ทุกสิ่งทุกอย่างยังเหมือนเดิม วอยซ์ทีวีอยู่มานานและจะอยู่ต่อไป ด้วยเหตุผลว่า ภารกิจที่ทำกันมา เพื่อสะท้อนปัญหาไม่ว่าจะเป็นความเหลื่อมล้ำ ปากท้อง และเศรษฐกิจยังไม่จบ วอยซ์ทีวีมีหน้าที่สะท้อนปัญหาไปยังผู้มีอำนาจให้กลับมาแก้ปัญหาให้ประชาชน"
ม.ล.ณัฏฐกรณ์ เทวกุล ผู้ดำเนินการรายการสถานีโทรทัศน์วอยซ์ทีวี เกริ่นนำก่อนเข้าสู่การจัดรายการตอนพิเศษ สานต่อภารกิจ ภายใต้กรอบคิด ‘Wake Up Thailand Reflections’ ตอน ‘วาระฝ่ายค้าน’ ร่วมสนทนาแลกเปลี่ยน ถึงปมปัญหาของสังคมไทยในแต่ละมิติกับ ‘3 ขุนพลทางความคิด’
เริ่มต้นด้วยแง่คิดการเมืองของ นายโภคิน พลกุล อดีตประธานรัฐสภา ในฐานะกรรมการยุทธ์ศาสตร์ด้านนโยบายและแผนงานพรรคเพื่อไทย ต่อแนวทางการรณรงค์ทางความคิดของ 7 พรรคฝ่ายค้าน เพื่อผลักดันให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2560 ทั้งฉบับ ด้วยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ ส.ส.ร. จำนวน 200 คน นั้น เกิดจากคำถามว่า ทำไมประเทศไทยจึงไม่มีรัฐธรรมนูญ ที่ร่างโดยประชาชนและเห็นชอบโดยประชาชนเลย
อย่างรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 ที่ร่างโดยประชาชน นั้นได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา ส่วนรัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามิตอย่างฉบับ 2550 และ 2560 นั้น คณะรัฐประหารเป็นผู้ร่าง โดยมีประชาชนเป็นผู้เห็นชอบ การรณรงค์แก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 จึงต้องให้เป็นรัฐธรรมนูญที่ร่างโดยประชาชน และได้รับความเห็นชอบจากประชาชน
อดีตประธานรัฐสภา ระบุว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ มีลักษณะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก แม้แต่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหมก็ยังเหนื่อยเอง แรกเริ่มเขียนกติกาเพื่อจะกีดกันบางพรรคบางคน พอตอนหลังมาคิดว่าตนเองก็เป็นรัฐบาลได้ จึงเขียนบทเฉพาะกาลให้ ส.ว.แต่งตั้งเลือกนายกฯเอง แต่แม้แต่พล.อ.ประยุทธ์ ก็ไม่อาจแก้ไขเองได้ เพราะต้องมีเสียงส.ส.ฝ่ายค้านสนับสนุนด้วย 5 เปอร์เซ็นต์ในวาระที่สาม เช่นเดียวกับฝ่ายค้านหากจะแก้ไข ก็ต้องมีเสียงส.ว.เห็นชอบด้วย 1 ใน 3 ทั้งในวาระแรกและวาระสุดท้าย
นี่จึงเป็นเรื่องที่สังคมไทยต้องช่วยกัน ขอให้มาเดินวิธีนี้ร่วมกันได้หรือไม่ ทั้งรัฐบาลและส.ว.ที่เป็นตัวแทนประชาชนเหมือนกัน ไม่ใช่เพื่อตอบโจทย์ฝ่ายค้านแต่เพื่อสังคมไทย จึงอยากฝากถึงพล.อ.ประยุทธ์ที่บอกรักทุกคนอยากเห็นสังคมไทยปรองดองว่า ทำไมไม่มาร่วมกันสักเรื่อง เรื่องนี้ยังไม่รู้ใครจะได้ประโยชน์ ยังไม่รู้ว่าจะร่างอย่างไร แต่หากเนื้อหาไม่ดีก็สามารถปรับแก้ได้ เพราะถ้ากระบวนการได้มาถูกต้องชอบธรรมคนก็ยอมรับ
“อย่ามองฝ่ายค้าน คนที่ออกมาเรียกร้อง หรือวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลและนายกฯว่าเป็นศัตรูทุกคนหวังดี อาจมีความคิดเห็นแตกต่างกันบ้าง แต่ถ้าผู้นำไม่ช่วยกันทำ ประเทศก็ไปรอดอยาก จึงอยากให้ฟังซึ่งกันและกันไม่มีใครคิดร้ายกับใคร” โภคิน พลกุล
ในด้านปัญหาปากท้อง ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ นักเศรษฐศาสตร์ มองมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลประยุทธ์ 2 ว่า ภาพรวมควรทำ แต่ก็สะท้อนว่าเศรษฐกิจจะฟุบเร็วกว่าที่คาด รัฐบาลกลัวว่าไตรมาส 3 ไตรมาส4 จะแย่จึงขอยันเอาไว้ก่อนการคาดว่าจะกระตุ้นเศรษฐกิจถึง 3 แสนล้านบาท คงไม่น่าใหญ่ขนาดนั้น การกระตุ้นให้คนไทย 10 ล้านคนใช้จ่ายเงินทันทีผ่านโครงการ 'ชิม ช็อป ใช้' ที่ไปลงทะเบียนเพื่อรับเงิน 1,000 บาท ไว้ใช้จ่ายระหว่างเดือน ก.ย.-ต.ค. รวมวงเงิน 2 หมื่นล้านบาท ก็เป็นการให้ประชาชนใช้เงินไปก่อน แต่เดี๋ยวประชาชนก็ต้องจ่ายภาษีภายหลัง ส่วนสินเชื่อผู้ประสบภัยแล้งการพักชำระหนี้กู้ดอกเบี้ยต่ำไม่ได้ดีมาก แต่ช่วยให้รอดได้
สำหรับการเติมเงินบัตรสวัสดิการแห่งรัฐรวม 20,000 ล้านบาท อีก2 เดือนนั้น ก็ยิ่งตอกย้ำว่ารัฐบาลต้องการยัน 2 เดือนนี้ไม่ให้เศรษฐกิจทรุดลงไปแรงผ่านการฉีดเงินเข้าไปกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งหมดหลักแสนล้านบาท แล้วหวังว่าเดือนธ.ค. - ม.ค.63 การส่งออกจะฟื้น เมื่อ พ.ร.บ.งบประมาณฯจะผ่าน จะได้รีบนำออกมาใช้
ในแง่ประกันราคาสินค้านทางการเกษตรนั้นก็เป็นประเด็นหนึ่งที่เคยว่ารัฐบาลไทยรักไทยรัฐบาลเพื่อไทย ซึ่งเป็นเรื่องเดียวถ้าสินค้าราคาเหล่านี้ต่ำลงมากๆ รัฐบาลก็จะขาดทุนเยอะจึงต้องตั้งมั่นให้ดี ในความเห็นผมคือต้องกลับมาผูกกับค่าเงินบาทด้วย ถ้าเราเดินนโยบายการเงินให้บาทแข็งไปเรื่อยๆ แล้วประกันราคาสินค้าเกษตรไปด้วยก็ยิ่งขาดทุนสูงมากเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นกว่า20 เปอร์เซ็นต์ในรอบ5 ปีที่ผ่านมาแค่ประกันราคาเท่าราคาตลาดโลกก็ต้องใช้เงินมากกว่าปกติ20 เปอร์เซ็นต์แล้ว ดังนั้นจึงต้องดูนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนด้วยเพื่อไม่ให้ขาดทุนมากระบบเศรษกิจจะต้องคิดยาวๆไม่ได้คิดแต่เพียงว่าจะใส่เงินไปกระตุ้นเศรษฐกิจเท่าไร
การแก่ตัวของประชากรไทยเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศ ปัจจุบันคนไทยวัยทำงานมีอยู่ประมาณ 40 ล้านคนถึงจุดสูงสุดไปแล้วเมื่อ 3 ปีก่อนอีก20 ปีข้างหน้าจะเหลือ32.5 ล้านคนโดยประมาณหายไป8 ล้านคนเศรษฐกิจไทยจะโตยาก เพราะไม่มีแรงงานในขณะที่คนอายุ60 ขึ้นไปวันนี้มีอยู่12.2 ล้านคนอีก20 ปีจะมี21.3 ล้านคนเพิ่มขึ้นอีก9 ล้านคนเศรษฐกิจไทยจะมีปัญหา32.5 ล้านคนจะต้องมีศักยภาพในการผลิตเพื่อเลี้ยงตนเองและคนอีก21.3 ล้านคนด้วยนี่คือโจทย์ใหญ่จริงๆของประเทศไทย
"ต้องระวังเรื่องประชากรแก่ตัวลง ต้องมีแผนยุทธศาสตร์ให้ดีตั้งแต่วันนี้ เรากำลังเข้าใจผิดว่ารักษาโรคกับรักษาสุขภาพไม่เหมือนกัน ทรัพยากรที่จะช่วยให้คนสุขภาพดีโดยไม่ต้องเข้าโรงพยาบาลต้องเป็นเรื่องหลัก" ศุภวุฒิ สายเชื้อ
ปิดท้ายด้วยมุมมองทางสังคมการเมืองเรื่องสิทธิและเสรีภาพที่สัมพันธ์กับการสร้างงานศิลปะ หากต้องถูกลิดรอนภายใต้ระบอบเผด็จการ ในสายตาผู้กำกับภาพยนตร์ ชื่อดังอย่าง ‘ต้อม’ ยุทธเลิศ สิปปภาค
โดยเขาระบุว่า “ศิลปะคือความคิดอันเป็นอิสระ ถ้าไม่มีอิสระคุณไม่มีวันทำงานศิลปะได้ ประเทศคอมมิวนิสต์จะไม่มีศิลปิน เพราะถ้ามี มันจะต่อต้านทำได้อย่างเดียวคือจับขัง กลุ่มคนที่มีความคิดแบบนี้จะฝังตัวอยู่ในศิลปิน ศิลปะของพี่อยู่ในการสร้างเรื่องก็จะออกมาเป็นหนัง เขาต้องไปปิดโรงหนังถึงจะหยุดพี่ได้ หรือต้องหยุดพี่ก่อนที่หนังจะฉาย”
ยุทธเลิศ เล่าถึงที่มาที่ไปในการขยับขัดขืนผ่านโซเชียลมีเดีย NMG.Movement ‘ปฏิบัติการสกัดดาวลุง’ ด้วยว่า พอคนเห็นยุทธเลิศด่ารัฐบาล คนก็ติดต่อว่าจะสามารถทำอะไรได้ จะเอาคนลงถนน เขาก็ยิงทิ้งมาแล้ว 99 ศพ จะมาร่วมกับผมนั่งด่ากันก็เปลี่ยนอะไรไม่ได้ ผมก็เลยคิดว่าการจะเปลี่ยนแปลงประเทศนี้ได้ดีที่สุดคือเปลี่ยนความคิด อย่าไปไล่นายกฯออก เปลี่ยนความคิดคนไทยให้ได้ก่อนง่ายกว่าเยอะ
การเมืองไทยมักจะเล่นแบบแบ่งเป็น right (ขวา) กับ left (ซ้าย) มองกันแบบฝ่ายหนึ่งถูกทุกอย่างอีกฝ่ายไม่ถูกเลย แต่มันควรจะเป็น rights (สิทธิ) กับ wrong (ไม่ถูกต้อง) ดูกันว่าทำถูกต้องตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ ถ้าไม่ใช่ก็ผิด ง่ายๆแค่นั้น ไม่ซับซ้อน
"เราไม่รู้จักกันหรอกรู้จักกันผ่าสื่อด่ากันด้วยความเกลียดชังต้องดูก่อนว่าใครเริ่มการด่าทอใครเริ่มก่อน ถ้าจะพูดเรื่องของบ้านเมืองจริงๆ รัฐบาลถอยเป็นป่ะ ถอยคนละก้าว เราคิดแบบเดิมไม่ได้แล้ว ความคิดในโลกโซเชียลความคิดเดิมถูกชะล้างทำลายไปขนาดไหน ปกครองกันด้วยความกลัวแบบนี้ไม่ได้แล้ว" ยุทธเลิศ สิปปภาค