ท่ามกลางเสียงท้วงติงจากฝั่งการเมือง พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลชะลอการจัดเก็บภาษีจาก 10 % เป็น 100 % หลังฝ่าวิกฤตโควิดในห้วง 2 ปีที่ผ่านมา อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง ส่งสัญญานว่าเศรษฐกิจไทยดีแล้ว จึงจะเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเพิ่มเต็มระบบ
แต่ข้อเท็จจริงด้านสภาพสังคมที่ยังไม่ฟื้นจากวิกฤต แม้ตัวเลขการขยายตัวเศรษฐกิจในปี 2564 ที่ผ่านมายังไม่ถึง 1% แต่เสียงสะท้อนผ่่านปากชาวบ้าน ทั้งข้าวยากหมากแพงทั้งแผ่นดิน ถาโถมด้วยผู้ติดเชื้อระลอกใหม่ก็คล้ายก็็ภูเขาไฟที่รอวันระเบิด
คำถามคือพ้นไปจากสถานการณ์ที่เห็นด้วยตาเปล่าแล้ว ภายใต้กฎหมายภาษีที่ดิน มีอะไรน่ากังวล
วอยซ์ คุยกับนายกเทศมนตรีจาก 3 จังหวัด เพื่อหามูลเหตุ-ผลกระทบที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต หากรัฐยังเดินหน้าเก็บภาษีตามตัวบทกฎหมายเต็มเพดาน รวมไปถึงข้้อเสนอที่สมเหตุสมผลก่อนวิกฤตระลอกใหม่จะซ้ำเข้ามา
ร.ต.อ.ตรีลุพธ์ ธูปกระจ่าง นายกเทศมนตรีนครรังสิต ซึ่งดูแลพื้นที่คราคร่ำไปด้วยห้างสรรพสินค้าและตึกสูง ฉายภาพ พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่ถูกกำหนดมาเพื่อแก้ไขปัญหาภาษีโรงเรือน ซึ่งข้อปฏิบัติเดิมมอบอำนาจให้ผู้ประเมินอัตราการจ่ายภาษีสูงมาก ส่อให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชัน
จึงเป็นที่มาของภาษีที่ดินฉบับปี 2562 ซึ่งมีฐานคำนวณตามหลักการมูลค่าของทรัพย์สินที่ดินและมูลค่าสิ่งปลูกสร้าง
ในช่วงโควิดที่ผ่านมา รัฐบาลได้ลดการจ่ายภาษีอยู่ที่ 10 % ทว่าแนวโน้มและข่าวของการจัดเก็บภาษีแบบ 100 % ได้กลับมาอีกครั้งในปี 65 สิ่งที่น่ากังวลคือปัญหาของที่ดินรกร้างว่างเปล่า ซึ่งกำลังเป็นข้อถกเถียงว่าภาระในการจัดเก็บภาษี ควรกำหนดไว้อย่างไร
“ภาระตรงนี้จะส่งผลไปยังพื้นที่ว่างเปล่า หากเป็นสถานประกอบการจะมีอัตราตามมูลค่าของที่ดินและมูลค่าของสิ่งปลูกสร้าง แต่ที่ดินว่างเปล่าประชาชนเคยเสียตามอัตราภาษีบำรุงท้องที่ จากเกณฑ์ประเมินเมื่อปี 2521-2524 ยกตัวอย่างเช่น 1 ไร่ จ่ายภาษีไม่เกิน 700 บาท แต่ภาษีที่ดินฉบับใหม่ กำหนดให้ที่ดินว่าเปล่าต้องจ่าย 0.3% ของมูลค่าที่ดิน ทำให้ค่าภาษีออกมาสูงมาก”
ในส่วนข้อครหาเรื่องภาษีที่ดินอุ้มเจ้าสัว แต่ชาวบ้านต้องจ่ายเพิ่ม นายกเทศมนตรีนครรังสิตชี้ให้เห็นถึงเงื่อนไขที่ผู้คนตั้งคำถาม เนื่องจากข้อกำหนดภาษีระบุให้ผู้ทำการเกษตรมีอัตราเริ่มต้นที่ 0.01% จึงทำให้ผู้มีความพร้อมด้านทุนทรัพย์เนรมิตที่ดินเป็นผืนเกษตร เพื่อหลีกเลี่ยงการเก็บภาษีที่สูง
“เราเข้าใจว่าสถานการณ์ปัจจุบันทั้งเรื่องเศรษฐกิจและโควิด ทำให้ความเป็นอยู่ของชาวบ้านเปลี่ยนไป ทั้งเรื่องรายได้และธุรกิจ สิ่งที่รัฐบาลปรับเพดานจัดเก็บภาษีก็มีผลกับตัวเทศบาล จากรายได้ที่น้อยลง เกิดผลกระทบกับการบริหารจัดการ แต่เรื่องปากท้องชาวบ้านถือเป็นสิ่งสำคัญ ถ้าหากรัฐบาลถ่ายโอนงบกลางเข้ามาช่วยเหลือท้องถิ่น ถือว่าเป็นเรื่องดี”
“ทางผู้บริหารท้องถิ่นถือเป็นฟันเฟืองเล็กๆ ที่ช่วยบริหาร แต่หัวเรือใหญ่อย่างภาครัฐเองก็ต้องช่วยฟันเฟืองเล็กๆ อย่างท้องถิ่นด้วย” นายกเทศมนตรีนครรังสิต ให้ความเห็น
ฟากโซนภาคเหนือ โชคชัย พนมขวัญ นายกเทศมนตรีเมืองแพร่ ชวนมองไปยังบริบทของการเก็บภาษีในปัจจุบัน พบว่าแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงกับที่กฎหมายฉบับเก่า
เขานิยามว่าเดิมทีเรียกว่า ภาษีโรงเรือนและที่ดิน โดยการจัดเก็บจะประเมินตามรายได้ เช่นโรงแรมหรือตึกแถว หากทำรายได้เท่าไหร่จะคิดตามอัตราส่วนของแต่ละแห่งต่างกันไป แต่ปัจุบันเรียกว่า ภาษีทรัพย์สิน โดยยึดตามราคาของราคาที่ดินหรืออาคารที่ถือครอง รวมถึงที่ดินรกร้างว่างเปล่า
“ปัญหาที่ตามมาอาจจะเกิดจากผู้ร่างกฎหมายไม่ได้ลงมาดูข้อเท็จจริงจากผู้ปฏิบัติ เลยทำให้การทำงานติดขัด”
เขาอธิบายเพิ่มว่่า อีกปัจจัยสำคัญคือการบังคับใช้อย่างไม่เป็นธรรม เช่น การตีราคาบ้านหลังแรกที่ไม่ต้องเสียภาษี เช่น บ้านในราคา 50 ล้านบาท ซึ่งประชาชนทั่วไปคงไม่สามารถถือครองบ้านราคาสูงขนาดนั้นได้ ดังนั้นไม่ควรที่จะกำหนดราคาที่มูลค่าสูง เพื่อเปิดโอกาสให้คนทั่วไปสามารถเข้าถึงประโยชน์
ส่วนกรณีผู้ที่เกี่ยวข้องทางกฎหมาย อ้างว่ากฎหมายดังกล่าวจะสามารถเก็บภาษีผู้ถือครองที่ดินจำนวนหลายหมื่นไร่ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริง ผู้มีเงินทุนสามารถหลีกเลี่ยงการจ่ายภาษี ด้วยการนำที่ดินว่างเปล่าปลูกสวนมะนาวหรือปลูกกล้วยแทน
“ความลักลั่นทางกฎหมาย เห็นได้จากห้างสรรพสินค้า เดิมทีเสียภาษีค่อนข้างสูง พอตีราคาเป็นตัวอาคารก็ทำให้เสียภาษีน้อยลง แต่ร้านค้าขนาดเล็กต้องเสียภาษีมากขึ้น บางรายขายของได้วันละ 500-600 บาท ต้องมาเสียภาษีต่อปีราว 10,000 บาท ขณะที่บทลงโทษผู้ไม่เสียภาษีค่อนข้างสูง ทำให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนหมู่มาก”
ส่วนการแก้ปัญหา นายกเทศมนตรีเมืองแพร่เสนอให้แยกหมวดหมู่ให้ชัดเจน เช่น โรงแรม ห้างสรรพสินค้า ให้จัดอยู่ในภาษีโรงเรือน ส่วนการแก้ปัญหาอัตราภาษีที่อยู่อาศัย ควรลดเพดานราคาบ้านหลังแรกลง ส่วนอาคารพาณิชย์ ต้องกำกับให้ชัดว่าเพื่อการค้าขายหรือที่อยู่อาศัย
“ปัญหาที่ดินว่างเปล่าคือประเด็นสำคัญ ต้องไม่ตีความว่า 100 ไร่ เทียบเท่ากับ 10,000 ไร่ เพราะประชาชนทั่วไปแม้มีที่ดิน แต่ก็ไม่มีเงินที่จะปลูกสวนหรือพัฒนา แถมต้องมาเสียภาษีในอัตราสูง ดังนั้นควรจะมีขั้นต่ำในการถือครอง เช่น ยกเว้นการเก็บภาษีผู้ถือครองที่ดินต่ำกว่า 3 ไร่ หรือ กำหนดให้ผู้ถือครองที่ดิน 500 ไร่ขึ้นไป แม้ว่าจะดัดแปลงเป็นสวนเกษตรแล้ว แต่ต้องพิจารณาการจัดเก็บภาษีให้เหมาะสม”
สำหรับการเพิ่มอัตราภาษีที่มีแนวโน้มจะกลับมาเป็น 100 % นายกฯ โชคชัย เรียกร้องให้ภาครัฐขยายเพดานขึ้นรอบละ 10 % เนื่องจากประชาชนกำลังตกอยู่ในสภาวะเศรษฐกิจย่ำแย่ ผนวกกับหนี้สินที่เพิ่มขึ้นมา หากรัฐบาลไม่รับฟังเสียง เขากังวลว่าอาจเป็นแรงกระตุ้นให้เกิดการเคลื่อนไหวของประชาชนหนักขึ้น
“การเก็บภาษีสูงจะเป็นผลดีต่อท้องถิ่น แต่ทางผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเองก็มีความละอายใจที่จะได้เงินบนความเดือดร้อนของชาวบ้าน” นายเทศมนตรีเมืองแพร่ ย้ำ
เช่นเดียวกับพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ ปัญหาเดียวกันที่ พงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีนครยะลา เห็นและสำทับประเด็นผลกระทบกับท้องถิ่น คือ แม้นโยบายภาครัฐต้องการให้ใช้ประโยชน์ในที่ดิน ลดการถือครองที่รกร้าง
แต่ในมุมกลับ คนที่มีทุนทรัพย์ ก็หาช่องทางในการหลีกเลี่ยงจ่ายภาษี เช่น การปลูกกล้วย ขณะที่ประชาชนไร้เงินทุนเพียงพอ ต้องมาแบกรับปัญหาเพิ่มขึ้น
“เมืองยะลาเป็นเมืองที่มีห้างสรรพสินค้าหรือศูนย์การค้าน้อยมาก ส่วนใหญ่จะเป็นที่อยู่อาศัยทั่วไป ทำให้ประชาชนต้องแบกรับภาระที่มากขึ้น แต่คนที่เป็นเจ้าของหอพักหรืออพาร์ทเม้นท์มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการจ่ายภาษี ซึ่งคนเหล่านี้ก็จะได้ประโยชน์จากช่องทางกฎหมาย”
ขณะที่การเก็บภาษีเต็ม 100% ได้สร้างแรงผลกระทบต่อความรู้สึกของคนในพื้นที่ เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา เขาเสนอว่าควรจะมีการปรับแก้กฎหมายให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่ประชาชนส่่วนใหญ่เจอให้มากที่สุด
เขาบอกต้้องพยายามป้องกันไม่ให้เกิดคำถามว่า "อุ้มคนรวย ซ้ำเติมคนจน" เพราะอำนาจท้องถิ่นมาจากการเลือกของประชาชน
"ถ้ามันเกิดขึ้นจริง จะเป็นภาพที่ดูไม่ดี ต้องปรับปรุงสิ่งจะสร้างปัญหา เพื่อให้เป็นธรรมต่อผู้จ่ายภาษีทุกฝ่าย” นายกเทศมนตรีนครยะลา ชี้ทางออก
การจัดเก็บภาษีแบ่งออกเป็น ดังนี้
อ่านเพิ่มเติม