งานวิจัยดังกล่าวซึ่งตีพิมพ์โดยผู้เชี่ยวชาญจากสภาวิทยาศาสตร์แห่งสวิตเซอร์แลนด์ค้นพบว่า เทือกเขาแอลป์กำลังสูญเสียน้ำแข็งอย่างน้อย 3 ลูกบาศก์กิโลเมตร จากคลื่นความร้อนที่มีอย่างต่อเนื่องตลอดฤดูร้อน และอัตราการตกของหิมะที่ต่ำ
สิ่งนี้หมายความว่ากว่า 6% ของธารน้ำแข็งได้หายไปแล้ว ในเดือนที่แล้ว (ส.ค.) มีงานวิจัยอีกฉบับที่เผยว่า ธารน้ำแข็งอย่างน้อย 1,400 แห่งในสวิตเซอร์แลนด์ สูญเสียปริมาตรน้ำแข็งมากกว่าครึ่ง นับตั้งแต่ทศวรรษที่ 1930 อย่างไรก็ตาม ในปีนี้สถานการณ์กลับเลวร้ายลงมาก โดยชั้นหินที่ถูกฝังอยู่ใต้น้ำแข็งเป็นสหัสวรรษถูกเผยขึ้นมาในธารน้ำแข็งแห่งหนึ่ง นอกจากนี้ศพและซากเครื่องบินที่ตกในเทือกเขาแอลป์เมื่อหลายทศวรรษก่อนก็ถูกค้นพบจากการละลายของน้ำแข็งด้วย
การวิจัยของสภาวิทยาศาสตร์แห่งสวิสเซอร์แลนด์ ระบุถึงสาเหตุเบื้องหลังการละลายของธารน้ำแข็งว่า โดยปกติธารน้ำแข็งเหล่านี้จะมีชั้นหิมะปกคลุม ซึ่งจะปกป้องธารน้ำแข็งจากแสงอาทิตย์ แต่ในเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา ฝุ่นทรายจากทะเลทรายซาฮาราพัดเข้ามาในบริเวณเทือกเขาแอลป์เป็นจำนวนมาก หิมะที่ปนเปื้อนฝุ่นทรายจะดูดซับพลังงานแสงอาทิตย์และละลายตัวเร็วขึ้น ในขณะที่คลื่นความร้อนในฤดูร้อนที่ผ่านมาทำลายชั้นน้ำแข็งที่อยู่ข้างใต้
แม้ว่าสถานการณ์ดังกล่าวถูกคาดการณ์ว่าจะเกิดขึ้น “ในอนาคต” มาติอาส ฮุส หัวหน้าเครือข่ายเฝ้าระวังธารน้ำแข็งสวิสเซอร์แลนด์ (GLAMOS) กล่าวว่า “การรู้ว่าอนาคตที่ว่านั้นกำลังเกิดขึ้นอยู่ในตอนนี้ เป็นประสบการณ์ที่น่าตกใจที่สุดในฤดูร้อนนี้” ก่อนที่ฮุสจะกล่าวเสริมว่า “มันเป็นไปไม่ได้ที่จะชะลอการละลายของธารน้ำแข็งในระยะสั้น”
จากการรายงานของคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาล ด้านความเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศของสหประชาชาติในปี 2562 การละลายของหิมะและน้ำแข็งเป็นหนึ่งใน 10 ภัยคุกคามหลักจากการเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศ รายงานฉบับนี้ระบุว่า ถ้าก๊าซเรือนกระจกถูกปล่อยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในปี 2100 เทือกเขาแอลป์จะสูญเสียมวลหิมะและน้ำแข็งกว่า 80%
การละลายของหิมะอย่างหนักหน่วง ทำให้นักเดินทางในเทือกเขาแอลป์ค้นพบศพมนุษย์ที่ถูกฝังอยู่ใต้หิมะเป็นเวลาหลายทศวรรษหรือศตวรรษ และนักโบราณคดีก็สามารถเข้าถึงและศึกษาวัตถุโบราณที่ถูกฝังอยู่ใต้ชั้นหิมะได้
นอกจากนี้ การละลายของธารน้ำแข็งบริเวณชายแดนของสวิตเซอร์แลนด์และอิตาลี ได้เคลื่อนย้ายเส้นสันปันน้ำระหว่าง 2 ประเทศซึ่งเป็นตัวกำหนดเส้นพรมแดนไป ประเด็นดังกล่าวนำไปสู่การเจรจาทางการทูตระหว่างทั้ง 2 ประเทศตามมา
ในขณะเดียวกัน นักวิทยาศาสตร์ต้องซ่อมแซมอุปกรณ์เก็บข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ในหลายพื้นที่เป็นกรณีฉุกเฉิน เนื่องจากอุปกรณ์เหล่านั้นได้รับความเสียหายจากการละลายของธารน้ำแข็งอย่างเร่งด่วนเช่นกัน
ที่มา: