แต่ดูแล้วนักเลือกตั้ง ไม่ว่าฝ่ายค้าน หรือ ฝ่ายรัฐบาล ออกมาตั้งป้อมคัดค้านหัวชนฝา
แต่ก่อนจะไปไกลถึงการย้อนกลับไปแก้รัฐธรรมนูญเพื่อให้เป็น “บัตรเลือกตั้งใบเดียว” ยังมีด่านสำคัญทางการเมืองในเบื้องหน้าให้ต้องลุ้นกันหลายช็อต
หลังจากที่ประชุมรัฐสภา มีมติเสียงข้างมากให้การคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ “สูตรหาร 500” พลิกชนะ “สูตรหาร 100” ระหว่างการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่..) พ.ศ... ก็ทำให้การเมืองปั่นป่วนไปทั้งกระดาน
เพราะสูตรการคิดคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หาร 500 นั้น เป็นสูตรคำนวณ ส.ส.พึงมี โดยนำ 500 ไปหารจำนวน ส.ส.ทั้งสภา ตามกติกาเลือกตั้งบัตรใบเดียว โดยมีพรรคเล็ก - พรรคน้อย ส.ส.ปัดเศษเกิดขึ้นมากมาย
แต่เมื่อที่ประชุมรัฐสภา มีมติแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาใช้กติกาบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ บัตรแรก ส.ส.เขต มี 400 คนบัตรที่สอง บัตร ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน
ทำให้พิจารณา ร่างแก้ไข พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. (กฎหมายลูกว่าด้วยการเลือกตั้ง) ถูกกำหนดให้การคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ เป็นแบบ “สัมพันธ์ทางตรง” กับจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน แล้วพลันที่การประชุมรัฐสภาเมื่อช่วงต้นเดือนกรกฎาคม โหวตโดยเสียงข้างมากตามคำบัญชาจากทำเนียบรัฐบาลให้ใช้สูตรหาร 500 ในการพิจารณารายมาตราวาระที่ 2
อาจเป็นเพราะ เกรงกลัว “คำขู่” แตกแบงก์พันรอบสองของพรรคเพื่อไทย ที่เตรียมแผนแก้เกมสูตรหาร 500 เอาไว้แต่เนิ่นๆ เพื่อกวาด ส.ส.แลนด์สไลด์
อีกทั้ง ผู้มีอำนาจก็มิได้ดูตาม้าตาเรือให้ถ้วนเพียงพอ
เมื่อกลับมาใช้สูตรหาร 500 อาจทำให้พรรคขนาดกลาง อย่าง พรรคภูมิใจไทย ไม่ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อเลย
แล้วจู่ๆ ผู้มีอำนาจในทำเนียบรัฐบาล ก็เกิดเปลี่ยนใจอยากกลับไปใช้สูตรหาร 500 อีกครั้งหนึ่ง หลังคำนวณทิศทางการเมืองแล้วว่าฝ่ายตัวเองเสียเปรียบ
ดังนั้น ในช่วงเดือน ส.ค. ตลอดทั้งเดือน กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง จะเป็นจุดโฟกัสใหญ่ทางการเมือง
หนึ่ง เริ่มต้นการประชุมรัฐสภา ในวันที่ 3-4 ส.ค.นี้ ว่า กฎหมายลูกว่าด้วยการเลือกตั้ง จะถูกเลื่อนขึ้นมาพิจารณาอีกครั้งในวาระที่ 2-3 ให้จบตอนไหน เพราะก่อนหน้านี้ ที่ประชุมรัฐสภาได้ทำการ “ลงมติ” ถอนร่างกฎหมายดังกล่าว กลับไปแก้ให้สอดคล้องกับสูตรหาร 500 เสียก่อน แล้วค่อยกลับมาลงมติในรัฐสภากันอีกรอบ
โดยมี ร่าง พ.ร.บ.ปรับเป็นพินัย กับ ร่าง พ.ร.บ.กำหนดเวลาในกระบวนการยุติธรรติธรรมขวางทางอยู่
สอง หากมีการลงมติในวาระที่ 3 จะต้องจับตาดูว่า ที่ประชุมรัฐสภาจะมีการ “คว่ำ” ร่างกฎหมายลูกว่าด้วยการเลือกตั้งหรือไม่ แม้โอกาสที่หวยล็อกมาที่การคว่ำในวาระที่ 3 จะมีไม่มาก เพราะกฎหมายฉบับนี้เป็นร่างกฎหมายที่เสนอโดยรัฐบาล หากถูกคว่ำในสภารับรองว่า เละ!
รัฐบาลอาจถูกจี้ให้แสดงความรับผิดชอบด้วยการ ลาออก
สาม ผ่านวาระ 3 โดยที่ประชุมรัฐสภาโหวตเห็นชอบกับสูตรหาร 500 แล้วค่อยไปตายเอาดาบหน้า กล่าวคือ ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 131 กำหนดไว้ว่า หลังจากผ่านวาระ 3 ภายใน 15 วัน รัฐสภาจะต้องส่งตัวร่างกฎหมายให้ศาลฎีกา ศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องตรวจสอบ
ในกรณีกฎหมายฉบับนี้ยังมีการถกเถียงกันว่า นอกจากยื่นให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในฐานะผู้ปฏิบัติจัดการเลือกตั้งพิจารณาแล้ว ยังต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาในคราวเดียวกันด้วยหรือไม่ โดยภาระหน้าที่ส่ง เป็นอำนาจของ “ชวน หลีกภัย” ประธานรัฐสภา
หาก กกต.ไม่มีข้อทักท้วง ก็จะนำไปสู่ขั้นตอนการส่งให้นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าฯ แต่ถ้ามีข้อ “ทักท้วง” จะต้องทักท้วงภายใน 10 วัน โดยสมมติว่า กกต.ทักท้วงว่า สูตรหาร 500 กกต.ไม่สามารถปฏิบัติได้ เรื่องก็จะถูกกลับมายังที่ประชุมรัฐสภา มีเวลา 30 วันในการพิจารณาว่าจะทำตามข้อเสนอของ กกต.หรือไม่
โดยสถานการณ์ ทุกขั้วการเมือง ไม่ว่าสนับสนุนสูตรหาร 100 หรือ สนับสนุนสูตรหาร 500 ต่างจับจ้องไปที่ กกต.ว่าจะยืนอยู่ฝ่ายไหน
สี่ ไม่ว่า กกต.จะยืนยันสูตรหาร 500 หรือ สูตรหาร 100 ก็จะมีฝ่ายที่พ่ายแพ้ และด่านต่อไปคือยื่นศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาด
ดังนั้น คนในวงการการเมืองวิเคราะห์ว่า เมื่อเรื่องไปถึงมือศาลรัฐธรรมนูญ อาจเป็นการ “เปิดประตู” ให้ย้อนกลับไป แก้ไขรัฐธรรมนูญ ย้อนกติกาให้กลับไปสู่การเลือกตั้งแบบ “บัตรใบเดียว” ตามคำขอของผู้มีอำนาจ อีกครั้ง แม้จะมีเสียงทักท้วงจากผองเพื่อนพรรคร่วมรัฐบาลก็ตาม
กระบวนการพิจารณา ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. (ฉบับที่..) พ.ศ... จึงยังเข้มข้นต่อเนื่อง จนถึงร้อนระอุในช่วงเดือน ส.ค.
เพราะจะเป็นการ “ชี้ชะตา” การเมือง - การเลือกตั้งในภาพใหญ่ ที่จะเกิดขึ้นอีกไม่ถึง 1 ปี นับจากนี้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง