นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า พรรคร่วมฝ่ายค้านได้ร่วมกันลงชื่อ 84 คน เพื่อยื่นประธานสภาฯ ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามมาตรา 148 (1) ว่าร่างพ.ร.บ.งบประมาณปี 63 ตราขึ้นชอบด้วยบทบัญญัติรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งเรามีข้อเท็จจริงอ้างอิงชัดเจนว่า นายฉลอง เทอดวีระพงศ์ ส.ส.พัทลุง พรรคภูมิใจไทย (ภท.) มีชื่อลงคะแนนเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.งบฯ ตั้งแต่มาตรา 31 เป็นต้นไป จนถึงวาระที่ 3 แต่ขณะที่มีการลงคะแนนปรากฎหลักฐานชัดเจนว่าเจ้าตัวไม่ได้อยู่ในที่ประชุม ทำให้เห็นว่า ในกระบวนการตรากฎหมายน่าจะไม่ชอบด้วยบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ
ทั้งนี้ สิ่งที่ร้องหลักฐานมีความชัดเจน เพราะการทำหน้าที่ของ ส.ส.ตามมาตรา 114 จะต้องไม่อยู่ภายใต้อาณัติมอบหมาย หรือครอบงำใดๆ ฉะนั้น การที่มีคนเอาบัตร ส.ส.ท่านหนึ่งไปลงคะแนน ไม่เป็นไปตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญในส่วนนี้ ที่สำคัญคือ รัฐธรรมนูญมาตรา 115 เราปฏิญาณตนว่าจะปฏิบัติตตามรัฐธรรมนูญ ทำหน้าที่อย่างซื่อสัตย์สุจริต ประกอบกับรัฐธรรมนูญมาตรา 120 ที่บัญญัติเกี่ยวกับการออกเสียงลงคะแนนว่า 1 เสียง ต้องเป็น 1 สิทธิ์ จะลงคะแนนแทนกันไม่ได้ เหล่านี้เป็นมูลเหตุให้นำมาประกอบคำร้องดังกล่าว
เมื่อถามว่า จะแตกต่างกับที่ทางรัฐบาลยื่นให้พิจารณาในมาตรา 120 อย่างไร นพ.ชลน่าน กล่าวว่า แตกต่างจากคำร้องของฝ่ายรัฐบาลที่ยื่นไป โดยรัฐบาลยื่นในส่วนของการออกเสียงแทนกันในการลงคะแนน แต่ของเราเห็นว่ากระบวนการตราไม่ชอบด้วยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ซึ่งรัฐธรรมนูญให้สิทธิเราเสนอก่อนที่ประธานสภาจะนำ พ.ร.บ.ที่ผ่านการพิจารณาของสองสภาแล้วให้นายกฯ นำขึ้นทูลเกล้าฯ
เมื่อถามว่า การยื่นรัฐธรรมนูญของฝ่ายค้านนี้จะเป็นเหตุให้ร่าง พ.ร.บ.งบฯ เป็นโมฆะ หรือตกไปหรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามคำร้องของเราว่ากระบวนการตราไม่ชอบด้วยบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ ถ้าบทบัญญัตินั้นเป็นสาระสำคัญเป็นอันให้กฎหมายฉบับนั้นตกไป ซึ่งต้องรอผลการวินิจฉัยของศาลร้ฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตาม กระบวนการตรา พ.ร.บ.เป็นเรื่องสำคัญ
เมื่อถามว่า หาก พ.ร.บ.งบฯเป็นโมฆะ สิ่งที่ต้องรับผิดชอบต่อไปเป็นไปในแนวทางใด นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ในส่วนที่รัฐบาลต้องรับผิดชอบคือ เราจะเทียบเคียงกับกรณีที่ฝ่ายนิติบัญญัติไม่เห็นชอบ ซึ่งกรณีนั้นเป็นความรับผิดชอบของรัฐบาลที่ไม่สามารถใช้เสียงข้างมากของรัฐบาลได้ แปลว่าบริหารประเทศไม่ได้ ต้องลาออก หรือยุบสภา หากเรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับรัฐบาลโดยตรง แต่เป็นความรับผิดชอบของสภาในเรื่องของกระบวน ฉะนั้น การที่จะคาดหวังให้รัฐบาลลาออกคงเป็นไปไม่ได้ คนที่รับผิดชอบคือฝ่ายนิติบัญญัติ ที่ต้องหามูลเหตุ และหาข้อเท็จจริงให้ได้
ด้าน น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ส่วนกรณีคลิป ส.ส.ลงคะแนนแทนกันนั้น จะขอตรวจสอบรายละเอียดให้ชัดเจนก่อน ซึ่งเบื้องต้นเคยมีกรณีเทียบเคียงลักษณะพฤติกรรมแบบนี้มาแล้ว และมีการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ขณะเดียวกัน สามารถเอาผิดทางอาญากับ ส.ส.ที่เป็นผู้เสียบบัตรลงคะแนนแทนได้ ในฐานจงใจกระทำผิดต่อหน้าที่ ฝ่าฝืนบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและกฎหมาย