รัฐธรรมนูญกำหนดว่า กรณีสภาพิจารณาไม่ทัน 180 วันให้ถือว่าสภาเห็นชอบร่างที่เสนอมาตอนแรกเลย กรณีนี้มี 4 ร่าง แต่ตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อ 101 กำหนดให้หยิบ 'ร่างหลักในวาระสอง' มาใช้ ซึ่งก็คือร่างที่ ครม.เสนอ ซึ่งจัดทำโดย กกต. ซึ่งเป็นสูตรหารด้วย 100
ทั้งนี้ การกำหนดให้การคำนวนที่นั่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อ หาร 100 จะได้ระบบเลือกตั้งที่เหมือนกับรัฐธรรมนูญ 2540 บัตรสองใบคำนวณแยกขาดจากกัน ซึ่งดีต่อพรรคใหญ่แต่พรรคเล็กจะเกิดยาก แต่หากหาร 500 จะคำนวณคะแนนส.ส.เขตและส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์แบบสัมพันธ์กัน ดีต่อพรรคขนาดเล็กและขนาดกลาง แต่อาจทำให้พรรคขนาดใหญ่หรือพรรคที่แข็งแกร่งด้าน ส.ส.เขต ได้จำนวน ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์น้อยลง หรือไม่ได้เลย
ขั้นตอนของ ร่าง พ.ร.ป.หลังจากนี้ถูกกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ และในข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ.2563 นพ.ระวี มาศฉมาดล ตัวแทนพรรคเล็กที่เชียร์สูตรหาร 500 ระบุว่า "สงครามยังไม่จบฯ" เพราะจะมีการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าร่างดังกล่าวขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ตามมา
เนื่องจากอย่างที่ทราบกันว่า ต้นทางของการร่างกฎหมายลูกว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ฉบับนี้ เกิดจากการแก้รัฐธรรมนูญเรื่องระบบเลือกตั้งที่รัฐสภาเลือกใช้ร่างของพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งแก้แบบ 'ไม่สะเด็ดน้ำ' ทำให้เกิดข้อถกเถียงเรื่องขัดรัฐธรรมนูญกันตลอดเส้นทางร่างกฎหมายลูก
วิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ฝ่ายกฎหมายที่ไม่ว่าสภาเผชิญกับปัญหาทางกฎหมายเรื่องใดนักข่าวต้องเอาไมค์จ่อปากถาม ตอบคำถามนักข่าวที่ถามว่า พรรคเล็กจะสามารถใช้กลยุทธ์ยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้ตอนไหน มือกฎหมายของรัฐบาลตอบว่า ทำได้ทั้งในช่วง 3 วันที่ประธานรัฐสภาถือร่างอยู่ และในช่วง 5 วันที่นายกฯ ถือร่างอยู่ เพื่อรอดูว่าจะมีใครเสนอให้ยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ หรือแม้แต่ช่วง 20 วันที่นายกฯ เตรียมจะส่งร่างทูลเกล้าฯ ก็ยังกระทำได้ทั้งสิ้น แต่ทั้งนี้ ตามกฎหมายระบุว่า ต้องใช้เสียง ส.ส.-ส.ว.เข้าชื่อรวมกันแล้วไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของทั้งสองสภา เพื่อยื่นให้ประธานรัฐสภาส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ
เมื่อดูตามรัฐธรรมนูญ 2560, ข้อบังคับการประชุมรัฐสภา 2563 ประกอบกับคำให้สัมภาษณ์ของรองนายกฯ วิษณุ กระบวนการหลังจากนี้ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ก็จะดำเนินไปตามแผนภาพนี้ ซึ่งเป็นกรอบกว้างๆ ตามกฎหมายกำหนด และสามารถเร่งให้เร็วขึ้นได้ในทุกช่วง หากอยากจะเร่ง
(1) ประธานสภาหยิบร่างหลักขึ้นมา ส่งให้องค์กรอิสระที่เกี่ยวข้อง กรณีนี้คือ กกต. พิจาณาภายใน 15 วัน
(2) กกต. มีเวลาพิจารณา 10 วัน หากมีข้อท้วงติงให้แก้ไขก็ส่งกลับคืนและสภาทำการแก้ไขให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน
(3) กรณีไม่มีข้อท้วงติงให้แก้ไข ประธานสภาเตรียมส่งให้นายกฯ แต่ต้องชะลอไว้ 3 วัน เพื่อดูว่าจะมีส.ส.-ส.ว.เข้าชื่อกัน 1 ใน 10 ของรัฐสภา เพื่อขอให้ประธานสภาส่งร่างนี้ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเรื่องการขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่
(4) หากมี ประธานสภาก็ต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งไม่มีกำหนดเวลาไว้ว่าจะต้องวินิจฉัยภายในกี่วัน หากศาลเห็นว่าขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ กฎหมายจะตกไป ต้องเริ่มกระบวนการใหม่หมด หากศาลเห็นว่าขัดเล็กน้อยบางจุด จะส่งให้สภาแก้ไขอีกหน
(5) หากไม่มีการเข้าชื่อให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญ ประธานสภาจะส่งร่างให้นายกฯ เตรียมทูลเกล้าฯ
(6) นายกฯ ได้รับร่างแล้วต้องชะลอไว้ 5 วัน เพื่อดูว่า จะมีส.ส.-ส.ว.เข้าชื่อกัน 1 ใน 10 เพื่อขอให้ประธานสภาส่งร่างนี้ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเรื่องการขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ (อีกหน)
(7) หากไม่มีใครยื่นศาล นายกฯ ต้องทูลเกล้าฯ ภายใน 20 วัน
(9) หลังทูลเกล้าฯ แล้วกระบวนการนี้กำหนดไว้ไม่เกิน 90 วัน
(10) ลงพระปรมาภิไธย ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อบังคับใช้ต่อไป