จากเสื้อเหลืองตัวแม่ ผู้ประกาศปกป้องสถาบันและขับไล่รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร เรื่อยมาจนถึงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จนนำไปสู่รัฐประหารปี 2557 อะไรทำให้เธอตัดสินใจวางนกหวีด สร้างความฮือฮาเข้าร่วมชุมนุมกับผู้คนอีกขั้วอุดมการณ์ ที่ถูกตีตราจากผู้มีอำนาจในรัฐบาลว่า ‘พวกชังชาติ’ หรือแม้แต่ข่มขู่ออกสื่อว่า ‘ให้ระวังมัจจุราช’
‘วอยซ์ออนไลน์’ พูดคุยกับ ‘สุกัญญา มิเกล’ ศิลปินหญิงยุคเฟื่องฟูของแนวเพลงอัลเทอร์เนทีฟ ด้วยน้ำเสียงเข้มขรึมบวกกับดีกรีความห้าวเท่ จนทำให้ได้รับฉายา “แบดเกิร์ล” จากสื่อมวลชนในยุคสมัยนั้น ปัจจุบันนอกเหนือจากทำธุรกิจส่วนตัวแล้ว อีกหน้าที่คือ ‘แม่’
ย้อนอดีต คน กปปส.
ย้อนกลับไปเมื่อปี 2549 กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ได้ออกมาขับไล่รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร พร้อมป่าวประกาศการกู้ชาติ ด้วยวาทกรรมต่อต้านรัฐบาลคอร์รัปชัน-ล้มล้างสถาบันกษัตริย์ จนนำไปสู่การรัฐประหารโดยคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2549 ‘สุกัญญา’ ก็เป็นหนึ่งในแนวร่วมตั้งแต่สวมเสื้อเหลือง-เป่านกหวีด อย่างไรก็ตาม 6 ปี ที่ผ่านมา ได้สร้างบทเรียนอันล้ำค่า สำหรับข้ออ้าง ‘เข้ามาเพื่อปราบโกง’ เป็นเช่นไร
“จะโกรธจะเคืองกันอย่าง ให้ดีต่อกันไว้” ท่อนหนึ่งของบทเพลง ‘ดีดีกันไว้’ ช่างสอดคล้องกับจุดยืนทางการเมืองของเธอในปัจจุบันที่ออกมาร่วมชุมนุม เมื่อวันที่ 19 ก.ย. บนท้องทุ่งสนามหลวง พร้อมร่วมลงชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญของไอลอว์ เมือย้อนไปในอดีตปี 2550 เธอเคยขึ้นเวทีม็อบพันธมิตรเช่นเดียวกับเวที กปปส. เมื่อปี 2556 สุกัญญาได้ขึ้นไปควงไมค์โชว์น้ำเสียงเช่นเดียวกัน
“น้องถามแง่ดีพี่นึกไม่ออกเลย” มิเกลขำ เมื่อเจอคำถามว่าชีวิตดีขึ้นไหมหลังร่วมม็อบพันธมิตร และ กปปส. เธอเล่าต่อว่า “ไม่ว่าศิลปินจะไปอยู่ฝั่งประชาธิปไตยหรือฝั่งอนุรักษนิยม ก็เจอผลกระทบทั้งสองฝั่ง อาชีพนี้แม่งเหมือนคำสาป พูดอะไรไม่ได้แสดงอะไรไม่ได้ คนที่รู้จักเราก็จะมีความคิดต่างๆ และจะยึดโยงให้เราไปเป็น แบบที่เขาเป็น”
เธอถอนหายใจแล้วนิยามการแสดงออกทางการเมืองว่า "เหมือนลูกอัณฑะ" ที่แกว่งไปแกว่งมาไม่ว่าอยู่ฝ่ายไหนก็จะโดนถล่มอยู่ดี สมัยอยู่ฝ่ายอนุรักษนิยมก็ใช่ว่าจะได้รับการเชิดชูมาก
หลังขึ้นเวทีเสื้อเหลือง ได้เข้าไปดูเว็บไซค์พันทิปบอร์ดราชดำเนิน เพื่อดูว่าโดนด่าอะไรบ้าง แต่กลับพบเสน่ห์ที่ซ่อนอยู่ในกลุ่มคนที่สวมสีเสื้อต่างกัน แม้ว่าอยู่ฝั่งพันธมิตรแต่พวกเขาก้าวข้ามมองเห็นคุณค่าความเป็นมนุษย์หรือในฐานะอาชีพศิลปิน “ไม่ได้ยึดโยงว่าฉันไม่ชอบ และต้องเหยียบมัน”
แน่นอนว่าหลังแสดงออกทางการเมืองเธอได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน และมองว่า “มันไม่แฟร์ แต่ถามว่ามันเป็นจริงในประเทศนี้ไหม อย่าว่าแต่สีเสื้อเลยแค่คุณไม่ได้เป็นพรรคพวกเขา คุณก็ไม่ได้รับความยุติธรรมแล้ว”
หลังได้รับบทเรียนจากทำรัฐประหาร สุกัญญาได้ถอยออกมาตั้งหลักกลับสู่เซฟโซน “เราเริ่มหันมาหาข้อมูลอีกฝั่ง เริ่มต้นเลยคือ “ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์” ผู้ดำเนินรายการวอยซ์ ทีวี เนื่องจากมองว่ารัฐบาลนี้ไม่รักษาคำพูด แต่เก็ยังเงียบไม่แสดงออกเพราะเพื่อนฝูงหลายคนก็อยู่อีกฝั่ง ซึ่งเราก็เคยพูดว่าจะไม่คอมเมนต์อะไรกับรัฐบาลเลย
“สุดท้ายพอเจอเหตุการณ์โควิด-19 ทุกอาชีพได้รับผลกระทบ กลุ่มแรกเลยคือผู้คนในแวดวงธุรกิจบันเทิง ก็เลยคิดว่าจะมีใครบ้างที่มองเห็นกลุ่มคนเหล่านี้มั่งว่ะ ปรากฏว่าสิ่งที่เราเห็นคือพวกเขาไม่ใส่ใจเลย ซึ่งก่อนหน้าโควิดสถานบันเทิงมันก็ เริ่มร้างสงบจนสงัดแล้ว
“เราเริ่มตัดสินใจที่จะหาข้อมูล โดยเห็นศิโรตม์ไปไลฟ์สดในห้าง ซึ่งตอนนั้นมีกระแสข่าวว่าคนเริ่มกักตุนอาหารกันไปจนหมดแล้ว แล้วศิโรตม์พูดถึงนักดนตรี วันนั้นเรานั่งน้ำตาไหล แล้วคิดว่าทำไมสื่ออื่นแม่งไม่พูดถึงพวกเรามั่งว่ะ
“แล้วทำไมสื่อที่ฝั่งอนุรักษ์นิยมเกลียด กลับพูดถึงเซลล์เล็กๆของสังคม มันกระแทกใจเรามาก” กลายเป็นจุดเปลี่ยนที่เธอบอกกับตัวเองว่า "กูจะไม่ดักดานอยู่ฝั่งเดียวแล้ว"
จึงเข้าสู่โลกข้อมูลที่ไม่ใช่สื่อกระแสหลัก จนพบต้นตอว่า "เราคือจุดเปลี่ยนในนั้นด้วย" หลังจากนั้นเธอเริ่มเปิดหัวสมองทำให้เห็นความไม่ยุติธรรม และคิดว่าถ้าไม่ออกไปร่วมชุมนุมวันที่ 19 ก.ย. บ้านเมืองมันก็จะไม่เปลี่ยน “ลูกเราก็จะเจอปัญหาแบบนี้อีก” อดีตศิลปินที่สื่อมอบฉายาว่า "แบดเกิร์ล" ฉุกคิดว่าถ้ายังอยู่ในเซฟโซน อนาคตของประเทศก็จะถดถอยไปเรื่อยๆ
19 ก.ย.ผู้คนเรือนแสนอยู่บนท้องทุ่งสนามหลวง รวมถึงสุกัญญาผู้ผ่านการชุมนุมมาแล้วหลายครั้ง เธอเล่าถึงการก้าวย่างร่วมม็อบที่เต็มไปด้วยสีสัน ว่า "ทุกคนมีจุดมุ่งหมายเดียวกัน คือต้องการเปลี่ยนแปลง" นอกเหนือจากนี้เธอยังมองว่ามันคือสิ่งสวยงามของผู้คนแต่ละช่วงวัย ไม่ใช่การต่อสู้เฉพาะกลุ่มคนที่เรียกว่า ‘ปัญญาชน’
ถ้าเป็นคนรุ่นเก่าคงมองว่าที่เด็กออกมาคือความก้าวร้าว แต่ในมุมของเธอมันคือการปลดปล่อยพลังของเยาวชน ที่ออกมาจัดซุ้มต่างๆ ทั้งการแสดงหรือปราศรัย เธอย้ำว่าสังคมนี้เปลี่ยนแปลงแน่นอน ต่อให้พยายามค้านหรือว่าเอาจารีตประเพณีมาลดทอนการเรียกร้อง
“ในยุคใหม่คุณไม่รู้หรอกว่าในโลกของพวกเขามีปฏิสัมพันธ์กันยังไง เราไม่สามารถที่จะไปบอกเขาเลิกหรือหยุดคนรุ่นใหม่ได้ แม้ว่าจะจับคนที่ไปชุมนุมวันนั้นทั้งหมด แต่ก็มีอีกหลายคนที่ไม่ได้ถูกขังพร้อมที่จะออกมาพูดในสิ่งที่พวกเขาต้องการ
"ก็คนรุ่นเราไม่ใช่เหรอที่เคยบอกว่า เราต้องสอนให้ลูกมีความกล้า ต้องมีความเป็นผู้นำ ทีตอนนี้พวกเขามีความกล้า มึงเสือกว่าเขาทำไม"
“ดังนั้นการชุมนุมของคนรุ่นใหม่คือการเรียกร้องที่ถูกต้อง มีความกล้ามากกว่าคนรุ่นเก่า แม้ว่าความกล้านั้นจะเสียวไส้เหลือเกิน แต่ขอให้ภูมิใจว่ามีคนที่เชื่อสิ่งที่เยาวชนต้องการสื่อสารอีกเยอะ แต่อย่าโกรธพวกเขาเลย ความกล้าคนเราแม่งมีไม่เท่ากัน ถ้าน้องคิดว่ามันถูกก็ลุยไป เหมือนที่ด่ารัฐบาลว่ามาด้วยความไม่ชอบธรรม ก็อย่าทำในสิ่งที่ไม่ชอบธรรมเช่นกัน”
เมื่อมีคนชื่นชมในความกล้ากลับมายืนข้างประชาธิปไตย อีกด้านหนึ่งก็มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่าเธอเป็นพวกชังชาติ
“หลายคนบอกว่าผิด เพราะถ้าไปลงชื่อแก้รัฐธรรมนูญเฉยๆคนก็คงไม่รู้สึกอะไร แต่พอถ่ายรูปกับ อ.ปิยบุตร แสงกนกกุล โอ้ว..กลายเป็นคนชาติชั่วเลย" เธอเล่าเคล้าเสียงหัวเราะ จากที่เคยเป็นคนดีมาตลอด ก็ถูกเตือนว่า "อย่าแตะสถาบันนะ" แต่เธอก็ไม่ได้รู้สึกโกรธ เพราะเห็นว่าเป็นธรรมดาที่สังคมมนุษย์จะมีนานาทัศนคติ