ไม่พบผลการค้นหา
'ชานันท์' เผย ‘เพื่อไทย’ เล็งผลักดัน ฝนโยบาย 'หลักประกันสุขภาพ' เพื่อคนเพศหลากหลาย ย้ำต้องแก้ไขกฎหมาย 'สมรสเท่าเทียม-คุ้มครองแรงงาน' เพิ่มสิทธิสวัสดิการให้แก่ LGBTQ+ สิทธิการลาของผู้ข้ามเพศ ชงลาได้ 2 วันแรกของปวดประจำเดือน

วันที่ 27 พ.ย. 2565 ที่ลานหน้าจามจุรี สแควร์ ชานันท์ ยอดหงษ์ ผู้รับผิดชอบนโยบายด้านอัตลักษณ์และความหลากหลาย พรรคเพื่อไทย กล่าวในงาน Thailand Pride Festival 2022 ว่า เพื่ออยกระดับสิทธิ สวัสดิการ และความอยู่ดีกินดีของพี่น้องทุกเพศสภาพ เพศวิถี พรรคเพื่อไทยได้ศึกษาวิจัยไว้แล้วเพื่อผลักดันเป็นนโยบาย แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ นโยบายขยายสิทธิในสวัสดิการประกันสุขภาพถ้วนหน้า ที่ประสบความสำเร็จแล้วตั้งแต่รัฐบาลไทยรักไทย เพื่อให้ครอบคลุมทุกอัตลักษณ์ทางเพศ ได้แก่ สวัสดิการผ้าอนามัยฟรีถ้วนหน้า เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายในครัวเรือน ส่งเสริมการมีสุขภาวะทางเพศที่ดี และแก้ไขปัญหาการเข้าไม่ถึงผ้าอนามัย (period poverty) ซึ่งพรรคได้ศึกษาวิจัยสำเร็จแล้วพร้อมผลักดันเป็นนโยบาย

รวมถึง สวัสดิการวัคซีน HPV เพื่อให้ประชาชนทุกคนมีสวัสดิภาพที่ดี ปลอดจากมะเร็งปากมดลูก มะเร็งทวารหนัก มะเร็งช่องปากและลำคอ มะเร็งอวัยวะเพศชาย โรคหูดหงอนไก่ ด้วยวัคซีนที่ทุกคนเข้าถึงได้ เพราะโรคเหล่านี้เกิดจากไวรัส HPV สำหรับมะเร็งปากมดลูกประเทศไทยกำลังเผชิญวิกฤตนี้ พบเป็นอันดับสามของมะเร็งในผู้ป่วยหญิง มีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้น 5,513 คน/ปีหรือเฉลี่ยวันละ 15 คน และมีผู้เสียชีวิตจากมะเร็งปากมดลูกสูงถึง 2,251 คน/ปีหรือเฉลี่ยวันละ 6 คน การมีสวัสดิการฉีดวัคซีนให้กับประชาชน ทั้ง 9 สายพันธุ์ ในช่วง 9-45 ปี (อายุ 9-14 ปี ฉีด 2 เข็ม / อายุ 15-45 ปี ฉีด 3 เข็ม) การป้องกันโรคย่อมมีราคาถูกกว่าการรักษาโรคที่อาจจะเกิดขึ้น และสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจให้กับประเทศได้ และสวัสดิการสุขภาพคนข้ามเพศ เพราะประชาชนทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับการบริการในการข้ามเพศอย่างปลอดภัย เข้าถึงได้ง่าย

ชานันท์ ย้ำว่า เพื่อให้ผู้ที่ต้องการข้ามเพศมีสุขภาพที่ดีขึ้น เข้าถึงกระบวนการที่ถูกตามองค์ความรู้วิทยาการทางการแพทย์ เนื่องจากด้วยสภาวะเงื่อนไขทางสังคม และเศรษฐกิจ ทำให้คนข้ามเพศต้องเรียนรู้และทดลองกระบวนการในการข้ามเพศกันเอง ภายในชุมชน จากเพื่อนฝูง ปากต่อปาก นำไปสู่การวิถีปฏิบัติในการใช้ยาหรือฮอร์โมนที่ไม่เหมาะสม ไม่ปลอดภัย ไม่ถูกต้องตามหลักการแพทย์ เสียสุขภาวะที่ดีในระยะยาว เช่น เสี่ยงต่อโรคตับ ไต หัวใจ หลอดเลือด นิ่ว

"เพราะการเลือกเพศให้ตรงกับความต้องการทางจิตใจ เป็นสิทธิและเสรีภาพอย่างหนึ่งของมนุษย์ มนุษย์ต้องไม่เจ็บป่วยหรือล้มละลายจากเสรีภาพที่พึงมี" ชานันท์ กล่าว

ชานันท์ ระบุว่า รวมถึงในปัจจุบัน มีจำนวนหญิงข้ามเพศในประเทศไทยทั้งหมดประมาณ 313,747 คน สำหรับจำนวนของชายข้ามเพศ ในประเทศไทยยังไม่มีข้อมูลที่แน่ชัดและงานวิจัยที่เกี่ยวกับชายข้ามเพศยังมีจำกัดเช่นกัน

1669553324785.jpg

นอกจากนี้ ชานันท์ ระบุอีกว่า ต้องมีการแก้ไขกฎหมายเพื่อความเสมอภาคของประชาชนทุกเพศผลักดัน #สมรสเท่าเทียมเท่านั้น แก้ตัวต้นเรื่องการเลือกปฏิบัติ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เพื่อให้คนทุกเพศสามารถจดทะเบียนสมรสได้ตามกฎหมาย ไม่ใช่ ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิตที่รัฐบาลยัดเยียด

แก้ไข พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 เพื่อให้คนทำงานมีสวัสดิภาพที่ดีขึ้นและสามารถทำงานได้เต็มศักยภาพ เช่น ขยายสิทธิวันลาคลอดเป็น 180 วัน เพราะเป็นช่วงที่แม่ต้องให้นมลูกด้วยน้ำนมแม่ และสิทธิแรงงานคู่สมรสลาเลี้ยงลูกเพื่อไม่ผลักภาระให้ผู้หญิงเลี้ยงลูกฝ่ายเดียว รวมทั้งสิทธิให้ LGBTQ+ ที่รับอุปการะเลี้ยงดูบุตรลาเพื่อเลี้ยงบุตรได้,

ให้สิทธิวันลาเพื่อข้ามเพศ (Gender Affirmation Leave) เพราะการข้ามเพศต้องอาศัยกระบวนการ ผู้ที่ข้ามเพศต้องรีบกลับมาทำงานหลังการผ่าตัดนำไปสู่การเสียสุขภาพ การยืนยันเพศสภาพยังจำเป็นต้องการรายได้ที่มั่นคง เพราะการยืนยันทางเพศสภาพมีค่าใช้จ่ายเช่น เสื้อผ้า การผ่าตัด การรักษาพยาบาล การผ่าตัด และรับฮอร์โมน,

ให้สิทธิวันลาปวดประจำเดือน 2 วันแรกของการมีประจำเดือน เพราะประจำเดือนไม่ใช่โรคภัยไข้เจ็บ แต่เป็นเรื่องธรรมชาติของมนุษย์ในวัยเจริญพันธุ์ ไม่จำเป็นต้องลาป่วย รวมทั้งแก้กฎกระทรวงบางมาตราที่ยังเลือกปฏิบัติทางเพศบนฐานที่เชื่อว่าแรงงานหญิงมีศักยภาพน้อยกว่าแรงงานชาย

ชานันท์ กล่าวอีกว่า เราต้องตระหนักให้ได้ว่า “แรงงานสร้างชาติ” ทว่าโครงสร้างสิทธิและสวัสดิการแรงงานในชาติ ยังไม่เพียงพอต่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดีของแรงงานทั้งหลาย เพราะที่ผ่านมา กฎหมายแรงงานสำคัญ เช่น กฎหมายเงินทดแทน กฎหมายประกันสังคม กฎหมายคุ้มครองแรงงาน ยังคงกำหนดสวัสดิการและสิทธิไม่มากไปกว่าระดับขั้นต่ำเท่านั้น ทำให้การคุ้มครองสิทธิและสวัสดิการมีอย่างจำกัด ไม่รอบด้าน และไม่มีเจตนารมย์ที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตของแรงงานอย่างจริงจัง เพียงแค่ประกันไม่ให้ตกต่ำไปกว่าที่เป็นอยู่

หากมุ่งให้ประโยชน์แก่ลูกจ้างและนายจ้างไปพร้อม ๆ กัน โดยไม่สนใจความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ไม่เท่าเทียมกันแต่แรกระหว่างลูกจ้างกับนายจ้าง ไม่ได้คำนึงว่า แรงงานและลูกจ้างไม่ได้มีสถานะเทียบเท่านายจ้าง เป็นกลุ่มที่มีอำนาจการต่อรองน้อยกว่า