สำหรับคำว่า ‘ท่าราบ’ นั้นเป็นนามสกุลของ ‘พระยาศรีสิทธิสงคราม’ หรือ ‘ดิ่น ท่าราบ’ เพราะเกิดที่ ต.ท่าราบ อ.เมือง จ.เพชรบุรี จากนั้นเข้าเรียนที่ ร.ร.นายร้อยทหารบก ก่อนได้ทุนรัฐบาลไปเรียนต่อที่ ร.ร.นายร้อยทหารบก เยอรมัน แล้วกลับมาเข้ารับราชการ
เมื่อครั้งเหตุการณ์ ‘พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช’ นำกำลังของทหารหัวเมืองเข้ามากรุงเทพฯ บริเวณดอนเมือง โดยมี ‘พระยาศรีสิทธิสงคราม’ เป็นแม่ทัพคนสำคัญ เพื่อล้มรัฐบาลฝ่ายคณะราษฎร ในฝั่งคณะราษฎรได้นำกำลังเข้าปราบปราม นำโดยจอมพล ป. พิบูลสงคราม สุดท้ายฝ่ายพระองค์เจ้าบวรเดชพ่ายแพ้ ทำให้ประวัติศาสตร์บันทึกว่าเป็น ‘กบฎบวรเดช’ อีกทั้งมีการสร้างอนุสาวรีย์ปราบกบฎ บริเวณวงเวียนหลักสี่ ที่ปัจจุบันอนุสาวรีย์ดังกล่าว ได้ถูกเคลื่อนย้ายหายไปแล้ว
สำหรับ ‘พระยาศรีสิทธิสงคราม’ มีบุตรสาวชื่อ ‘อัมโภช ท่าราบ’ ที่แต่งงานกับ พ.ท.พโยม จุลานนท์ ขณะยศร้อยตรี เป็นบุตร ‘พระยาวิเศษสิงหนาถ’ (ยิ่ง จุลานนท์) ทำให้ ‘พระยาศรีสิทธิสงคราม’ มีศักดิ์เป็น ‘คุณตา’ ของ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ปธ.องคมนตรี สำหรับ พ.ท.พโยม มีประวัติที่น่าสนใจ หลังลาออกจากราชการทหาร ได้ลงสู่สนามการเมืองเป็น ส.ส.เพชรบุรี จากนั้นได้เข้าร่วมกับ ‘คณะนายทหารเสนาธิการ ’เตรียมทำการรัฐประหารรัฐบาลจอมพล ป. นำโดย พล.ต.เนตร เขมะโยธิน พล.ต.สมบูรณ์ ศรานุชิต เป็นต้น แต่สุดท้ายแผนรั่ว ทำให้ถูกจับกุม แต่ พ.ท.พโยม ได้หลบหนีไปชายแดนเมียนมา ก่อนเข้าไปยังประเทศจีน
จากนั้นได้เข้าศึกษาใน ‘สถาบันมาร์กซเลนิน’ ที่ปักกิ่ง ก่อนสมัครเป็นสมาชิก ‘พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย-พคท.’ โดยมีนามเรียกขานว่า ‘สหายคำตัน’ พร้อมได้รับแต่งตั้งเป็น ‘ เสนาธิการกองทัพปลดแอกประชาชนฯ’ ตั้งกองบัญชาการอยู่ที่สำนัก 708 ภูพยัคฆ์ น่านเหนือ รวมทั้งได้รับภารกิจจัดตั้ง ‘กองพันพิเศษ’ ที่ฝายน้ำตาล แขวงไชยะบุรี ประเทศลาว เพื่อทำการปลดปล่อย จ.น่าน และตั้งรัฐบาลประชาชน
ในช่วงเวลาที่ พ.ท.พโยม หรือสหายคำตัน ปฏิบัติภารกิจของ พคท. ก็เป็นช่วงเวลาที่ พล.อ.สุรยุทธ์ ก้าวเข้าสู่รั้วทหารเข้าเรียน ตท.รุ่น 1 นายร้อย จปร.12 และเติบโตในเส้นทางทหารสาย ‘รบพิเศษ’ ในช่วงเวลานั้น พล.อ.สุรยุทธ์ เพิ่งเข้าสู่เส้นทางราชการ เป็นผู้บังคับหมวดปืนเล็ก กองพันทหารราบที่ 1 กรมผสมที่ 31 , ผู้บังคับชุดปฏิบัติการ กองร้อยพิเศษ กองรบพิเศษที่ 2 (พลร่ม) , ผู้บังคับกองพันทหารราบที่ 4 กรมผสมที่ 23 โดยเป็นช่วงเวลาที่กองทัพต้องสู้กับ ‘คอมมิวนิสต์’ ที่อยู่ในป่า ซึ่ง พล.อ.สุรยุทธ์ ก็ต้องเข้าป่าสู้กับ ‘คอมมิวนิสต์’ ด้วย
โดยยุคนั้น พล.อ.พัลลภ ปิ่นมณี คือผู้บังคับบัญชาของ พล.อ.สุรยุทธ์ ที่สั่งการให้ไปปราบคอมมิวนิสต์ในพื้นที่ที่ พ.ท.พโยม อยู่ ถือเป็นการ ‘วัดใจ’ ระหว่าง ‘หน้าที่’ กับความเป็น ‘พ่อ-ลูก’ ซึ่ง พล.อ.สุรยุทธ์ ก็เลือก ‘หน้าที่’ มาก่อน แต่ก็ไม่มีครั้งใดที่ต้องเผชิญหน้าต่อสู้กับบิดา แม้ยืนอยู่คนละ ‘อุดมการณ์’ กัน แต่เรื่องเล่าว่า พ.ท.พโยม หลีกเลี่ยงตัวเองมาในจุดที่ ‘ลูกชาย’ จะมา เพื่อจะได้ไม่ต้องเผชิญหน้ากัน
แต่ในช่วงบั้นปลายชีวิตของ พ.ท.พโยม ประสบอุบัติเหตุตกจากหลังช้าง เข้ารักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลที่ปักกิ่ง แต่สุดท้ายอาการทรุดหนักลง ในช่วงเวลานั้น พล.อ.สุรยุทธ์ ก็ได้เดินทางไปเยี่ยมบิดาด้วย ก่อนที่ พ.ท.พโยม จะเสียชีวิต ดังนั้น พล.อ.สุรยุทธ์ จึงถูกมองว่าเป็นทั้ง ‘ลูกคอมมิวนิสต์’ และ ‘หลานพระยาฯ’
ทั้งนี้ พล.อ.สุรยุทธ์ สมัยเป็นองคมนตรี ได้ไปเป็นประธานเปิดอนุสรณ์สถานภูพยัคฆ์ เมื่อ 11ธ.ค. 2548 รวมทั้งเคยไปร่วมงานรำลึกอนุสรณ์สถานภูพยัคฆ์ ครบรอบ 15 ปี เมื่อ 14 ธ.ค. 2562 ด้วย
อย่างไรก็ตามไม่ใช่ครั้งแรกที่ชื่อ ‘ดิ่น ท่าราบ’ ปรากฏขึ้นมาอีกครั้ง ย้อนกลับไป ต.ค. 2562 พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ อดีต ผบ.ทบ. ได้เชิญ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหม มาเปิดอาคารรับรองของพิพิธภัณฑ์กองทัพบกเฉลิมพระเกียรติ บก.ทบ.ราชดำเนิน ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ เคยตั้งใจจะปรับปรุงตั้งแต่สมัยเป็น ผบ.ทบ. โดย พล.อ.อภิรัชต์ ได้สานเจตนารมณ์นี้ ซึ่งเดิมเป็นอาคารสรรพาวุธ ของ ร.11 รอ. และ ร.1 รอ.
โดย ทบ. ได้ตั้งชื่อห้องทั้ง 2 ห้อง แบ่งเป็นห้องชั้นล่างชื่อ ‘ศรีสิทธิสงคราม’ หรือ พระยาศรีสิทธิสงคราม (ดิ่น ท่าราบ) ส่วนชั้นบนชื่อ ‘บวรเดช’ ที่มาจากชื่อ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช จุดสำคัญอยู่ที่ชื่อห้องบวรเดช ที่ไม่มีคำว่า ‘กบฏ’ โดยนายทหารทั้ง 2 คน เป็นนายทหารสายตรงข้ามกับ ‘คณะราษฎร’
ต่อมาเมื่อ 24 มิ.ย. 2563 ในวันเชิงสัญลักษณ์ครบ 88 ปี เหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิ.ย. 2475 พล.อ.อภิรัชต์ ได้มอบให้ พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ ขณะเป็น รอง ผบ.ทบ. เป็นประธานพิธีบำเพ็ญกุศลอุทิศถวาย พล.อ.พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช และบำเพ็ญกุศลแก่ พ.อ.พระยาศรีสิทธิสงคราม ที่ อาคารศรีสิทธิสงคราม โดยมีพระเทพปัญญามุณี เจ้าอาวาสวัดอาวุธวิกสิตาราม ทำพิธีฯ โดยมีการพรมน้ำมนต์ป้ายชื่อห้องศรีสิทธิสงครามและห้องบวรเดช
ทว่าเหตุการณ์ ‘กบฏบวรเดช’ เกิดขึ้นเมื่อ 11 ต.ค. 2476 ไม่ใช่ 24 มิ.ย.2475 ซึ่งก็เป็นภาพสะท้อน ‘แนวความคิด’ ของ ทบ. ในการจดจำประวัติศาสตร์
อย่างไรก็ตามน่าสนใจว่า การเปลี่ยนแปลงชื่อสะพานครั้งนี้ จากเดิมชื่อ “สะพานพิบูลสงคราม” มาเป็น “สะพานท่าราบ” ไม่ได้เกิดขึ้นในพื้นที่ทหาร เฉกเช่นการตั้งชื่อห้อง หรือการเปลี่ยนชื่อค่ายทหาร ที่ จ.ลพบุรี แต่สะพานพิบูลสงครามก็ตั้งอยู่ใกล้หน่วยทหารหลายหน่วย ย่านเกียกกาย
ที่สำคัญภายหลังเป็นข่าวขึ้นมาเมื่อวันที่ 2 ก.ค.ที่ผ่านมา ทั้ง กทม.-ตร. ก็ลงพื้นที่ไปนำป้าย “สะพานท่าราบ” ออก ซึ่งแตกต่างจากเหตุการณ์ก่อนหน้านี้ทั้งสิ้น
ทั้งนี้ต้องติดตามความคืบหน้าจากฝ่ายตำรวจจะติดตามบุคคลที่ไปติดป้ายได้หรือไม่ ซึ่งเจ้าหน้าที่อยู่ระหว่างการไล่ดูกล้องวงจรปิด
โดยเบื้องต้นพบว่าป้ายถูกนำมาติดตั้งตั้งแต่คืนวันที่ 30 มิ.ย. ช่วงรอยต่อวันที่ 1 ก.ค.ที่ผ่านมา โดยทางเจ้าหน้าที่ได้ติดตามเส้นทางไป-กลับของผู้นำป้ายมาติดได้บ้างแล้ว อีกทั้งมีการมองว่าการติดตั้งครั้งนี้มีการ ‘วางแผน’ มาก่อน เพราะมีขนาดที่พอดีกับป้ายสะพานพิบูลสงคราม มีการจัดทำป้ายที่คงทน และใช้เวลาก่อเหตุไม่นานนัก จึงต้องติดตามรายละเอียดต่อไปว่าจะสามารถนำตัวมาดำเนินการตามกฎหมายได้หรือไม่