ไม่พบผลการค้นหา
นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ ชี้นโยบายรัฐขาดความชัดเจนเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และแก้ปัญหาความขัดแย้ง มองท่าทีการแสดงออกของ "พล.อ.ประยุทธ์" ยังไม่เข้าใจบทบาทของนักการเมืองในรัฐสภา

นายยุทธพร อิสรชัย นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ เปิดเผยว่าการอภิปรายร่างนโยบายของรัฐสภาวานนี้ยังเป็นประเด็นที่ถกเถียงว่าจะเอาหรือไม่เอา คสช.เป็นประเด็นหลัก สะท้อนได้ว่า ปัญหาเกี่ยวกับความขัดแย้งยังไม่หายไป โดยเฉพาะประเด็นที่ถูกหยิบยกมาพูดถึงคือ ความชอบธรรมของนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี

ซึ่งอนาคตเชื่อว่าการประชุมต่างๆ จะยังมีข้อถกเถียงเรื่องความชอบธรรมและที่มาอย่างต่อเนื่อง เพราะแต่ละฝ่ายยังมีจุดยืนของตัวเองที่ชัดเจน โดยฝ่ายค้านได้อธิบายถึงความล้มเหลวในการดำเนินนโยบายต่างๆ และที่มาของนายกรัฐมนตรี และยังเห็นภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของฝ่ายรัฐบาลและสมาชิกวุฒิสภาที่ทำหน้าที่เป็นองครักษ์พิทักษ์รัฐบาล 

โดยเห็นว่านายกรัฐมนตรีก็ต้องปรับเปลี่ยนท่าทีในการทำหน้าที่มากขึ้น ขณะที่การแสดงออกของนายกรัฐมนตรีสะท้อนให้เห็นว่า ยังไม่เข้าใจ บทบาท ของนักการเมืองในรัฐสภา ซึ่งจะมีเล่ห์เหลี่ยมทางกฎหมายเล่เหลี่ยมทางการเมือง แบบไม่สามารถคาดเดาได้เหมือนในสมัยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ 

นอกจากนี้ยังเห็นบทบาทของนายพรเพชร วิชิตชลชัย ซึ่งเมื่อขึ้นทำหน้าที่เป็นประธานรัฐสภา ยังไม่เท่าทันนักการเมือง ซึ่งมีความหลากหลาย จึงต้องอาศัยระยะเวลาในการปรับตัว 

แต่เห็นว่าในการอภิปรายร่างนโยบายไม่มีฝ่ายใดได้ฝ่ายใดเสีย เพราะประเด็นที่ถกแถลงส่วนใหญ่เป็นประเด็นที่เกิดขึ้น ทั้งในและนอกสภาและถูกพูดถึงอย่างต่อเนื่องไม่ว่าจะเป็นรัฐธรรมนูญที่มาของสมาชิกวุฒิสภา 

นอกจากนี้ยังมีการตั้งคำถามถึงการสืบทอดอำนาจของ นายกรัฐมนตรี จึงเชื่อว่า ที่ผ่านมาไม่มีใครได้ใครเสีย และเห็นว่าการทำหน้าที่ ของสมาชิกในรัฐสภา ถูกยกระดับขึ้นมา บ้างแต่สิ่งสำคัญที่ประชาชนอยากเห็นคือการทำหน้าที่อย่างสร้างสรรค์ เพื่อจะเป็นแนวทางนำไปสู่การแก้ไขปัญหาและสร้างความชอบธรรมไม่ก่อให้เกิดวิกฤตศรัทธาต่อรัฐธรรมนูญ วิกฤตศรัทธาต่อระบบรัฐสภา 

ที่สำคัญฝากไปถึงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาที่ยังอภิปรายในเชิงสนับสนุนการรัฐประหาร โดยเฉพาะในที่ประชุมรัฐสภา ต้องเชื่อมั่น เชื่อถือในระบอบรัฐสภา ดังนั้นกระบวนการที่จะพูดถึงการรัฐประหาร จะต้องไม่เกิดขึ้นในเวทีของรัฐสภา

ขณะเดียวกันเห็นว่าร่างนโยบายของรัฐบาล ยังไม่เห็นความชัดเจนโดยเฉพาะเรื่องของการแก้ไขรัฐธรรมนูญและการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง

สำหรับ 12 นโยบายหลักได้พูดถึงหลักการกว้างๆส่วน 12 นโยบายเร่งด่วนพูดถึงแนวทางแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจ ซึ่งส่วนตัวเห็นว่าการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจต้องทำในระดับโครงสร้าง เพราะหากไม่ทำในส่วนดังกล่าวก่อน การทำนโยบายเร่งด่วนทั้ง 12 ด้านจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาให้ประชาชนได้ ไม่ตอบสนองประชาชนโดยเฉพาะนโยบายหาเสียงเลือกตั้ง เมื่อมาปรากฏในร่างนโยบายที่แถลงต่อรัฐสภาแล้ว ยังเป็นเพียงนามธรรม ซึ่งหลังจากนี้นโยบาย ที่เป็นนามธรรมจะต้องเร่งปรับเปลี่ยนให้เป็นรูปธรรม ซึ่งต้องทำงานอย่างหนัก เพื่อให้เกิดผลประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชน