นายวิทยา เปรมจิตร์ นายกสมาคมพัฒนารถร่วมเอกชน รถโดยสารร่วมบริการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการอย่างหนัก ทำให้ปัจจุบันการวิ่งรถแต่ละเที่ยวรายได้หายไปประมาณร้อยละ 70-80 หรือมีรายได้เฉลี่ย 150 บาทต่อเที่ยวเท่านั้น ขณะที่รายจ่ายต่อเที่ยวเฉพาะต้นทุนพลังงานอยู่ที่ 100 กว่าบาท ยังไม่รวมค่าแรงของพนักงานขับรถ และพนักงานเก็บค่าโดยสาร ส่งผลให้ผู้ประกอบการหลายรายต้องตัดสินใจหยุดเดินรถชั่วคราว
หากสถานการณ์ยืดเยื้อ เชื่อว่าผู้ประกอบการมากกว่า 10 รายจะตัดสินใจยุติการให้บริการถาวร เหมือนกับสาย 127 ช่วงบางบัวทอง–บางลำภู และสาย 110 ช่วงพระราม 6–เทเวศร์ ที่ยกเลิกกิจการไปแล้วก่อนหน้านี้
ทั้งนี้ รถร่วมฯ ขสมก. มีประมาณ 100 กว่าบริษัท มีพนักงงานรวมกันมากกว่า 6,000 - 7,000 คน โดยในส่วนจำนวนนี้เป็นผู้สูงอายุ หรือมีอายุมากกว่า 40 ปีมากกว่าร้อยละ 70 ของพนักงงานทั้งหมด ขณะเดียวกันเป็นผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมตามมาตรา 33 เพียงร้อยละ 40-50 และเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ประมาณ ร้อยละ 20 ที่เหลือไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม เนื่องจากพนักงานส่วนใหญ่จะไม่มีฐานเงินเดือนเป็นหลัก ขึ้นอยู่กับเวลาทำงาน และคอมมิชชั่นการเก็บค่าโดยสาร ดังนั้น หากหยุดกิจการจะยิ่งได้รับผลกระทบหนัก
นายวิทยา ระบุว่า ที่ผ่านมาได้มีข้อเรียกร้องให้รัฐบาลผ่านทางกระทรวงคมนาคมและกรมการขนส่งทางบก ช่วยเหลือโดยการชดเชยรายได้ รถร้อนอยู่ที่ 2,000 บาทต่อวัน และรถปรับอากาศ 2,500 บาทต่อวัน และจัดหาสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ หรือ ซอฟต์โลนช่วยเหลือผู้ประกอบการและแรงงานในระบบ แต่ก็ไร้วี่แววการตอบรับใดใด