26 ก.ย.2562 อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล ผู้ประสานงานเครือข่ายพลเมืองเน็ต โพสต์ภาพถ่ายประชาชนกลุ่มหนึ่งรวมตัวกันทำกิจกรรมบริเวณหน้าหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร พร้อมระบุข้อความในเฟซบุ๊กว่า
"26 ก.ย. 2562 18:50 กลุ่มผู้เสียหายจากการรักษาพยาบาลสัตว์เลี้ยงที่ผิดพลาด รวมตัวกันเรียกร้องสิทธิให้สัตว์เลี้ยง ที่หน้าหอศิลป์ กทม. พร้อมฉายภาพขึ้นบนตัวตึกหอศิลป์ บันทึกไว้เป็นหลักฐานของการใช้พื้นที่สาธารณะเพื่อแสดงออกเรื่องสิทธิ"
งานกิจกรรมที่นายอาทิตย์อ้างถึงนั้น เป็นนิทรรศการ "The Sound of Silence" ซึ่งมีการจัดเสวนาวิชาการ และกิจกรรมจุดเทียนรำลึกถึงสัตว์เลี้ยงและสัตว์ต่างๆ ซึ่งเป็นเพื่อร่วมโลกที่จากไป
เจ้าหน้าที่ของกลุ่มที่จัดงานดังกล่าว ระบุกับ วอยซ์ ออนไลน์ ว่า กิจกรรมดังกล่าวมีใบอนุญาตขอใช้เครื่องขยายเสียงจากสำนักงานเขตปทุมวัน และ สน.ปทุมวัน โดยทางกลุ่มได้ทำจดหมายขออนุญาตจัดกิจกรรมกับสำนักงานเขตปทุมวัน และหัวหน้าเทศกิจ สำนักงานเขตปทุมวัน แต่ประเด็นที่ขอเป็นเรื่องการติดตั้งเครื่องโปรเจคเตอร์บริเวณด้านหน้าที่ใช้จัดกิจกรรม
ก่อนหน้านี้บริเวณหน้าหอศิลป์ฯ เคยเป็นสถานที่ที่ใช้ชุมนุมทางการเมืองหลายครั้ง อาทิ การชุมนุมประท้วงสร้างเขื่อนแม่วงก์ปี 2556 , ชุมนุมประท้วงต้านรัฐประหาร ปี 2557-2558 ทว่าภายหลังจากการบังคับใช้ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 บริเวณหอศิลป์กรุงเทพฯ (บางจุด) ได้ถูกเจ้าหน้าที่ระบุว่าอยู่ในรัศมี 150 เมตร จากวังสระปทุม
กิจกรรมรำลึกสัตว์เลี้ยง The Sound of Silence บริเวณหน้าหอศิลป์กรุงเทพฯ ขอบคุณรูปภาพจากเพจเฟซบุ๊ก Ma Jour and friends หมาเจ๋อและเพื่อน
ปลายปี 2559 แรงกดดันให้รัฐบาล คสช. จัดการเลือกตั้งสูงขึ้นเรื่อยๆ กระทั่งประชาชนกลุ่มหนึ่งรวมตัวกันจัดกิจกรรม "รวมพลประชาชนอยากเลือกตั้ง" นำโดยกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย หรือ 'DGR' ที่มีแกนนำ อาทิ นายรังสิมันต์ โรม นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ น.ส.ณัฎฐา มหัทธนา นายอานนท์ นำภา นายเอกชัย หงส์กังวาน นายสุกฤษฎ์ เพียรสุวรรณ และนายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล บริเวณสกายวอร์ก หน้าหอศิลป์กรุงเทพฯ ทว่ากลุ่มคนที่ออกมาชุมนุม 39 คน รวมถึงนายวีระ สมความคิด กลับถูกแจ้งข้อกล่าวหาในคดี 'MBK39' ซึ่งหนึ่งในฐานความผิด คือ "การร่วมกันชุมนุมในรัศมี 150 เมตรจากเขตพระราชฐานตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ"
ในขณะนั้น นักกฎหมายฝั่งรัฐบาลอย่าง นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ก็ยังเคยออกมาชี้แจงเรื่องเนื้อหาใน พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 ที่กำหนดห้ามชุมนุมในเขตพระราชฐานและพื้นที่ใกล้เคียงในระยะ 150 เมตร ว่า แม้จะมีการขออนุญาตเจ้าหน้าที่ตำรววจในท้องที่ ก็ไม่สามารถชุมนุมได้
ทั้งนี้ ได้มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า บริเวณหน้าหอศิลป์กรุงเทพฯ สามารถรวมตัวแสดงออก และเคลื่อนไหวในประเด็นอื่นๆ อย่างประเด็นเรื่องสัตว์เลี้ยงได้ แต่บริเวณดังกล่าวใช้เพื่อรวมตัวกันแสดงออกทางการเมืองไม่ได้?
การชุมนุม "รวมพลประชาชนอยากเลือกตั้ง" บริเวณสกายวอร์คหน้าหอศิลป์
นายอานนท์ ชวาลาวัณย์ เจ้าหน้าที่โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ iLaw ที่ติดตามการบังคับใช้กฎหมาย พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ และการชุมนุมในยุค คสช. ยืนยันว่าพื้นที่หอศิลป์ฯ ซึ่งมีการจัดกิจกรรมเป็นระยะไม่สามารถจัดการชุมนุมได้ ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ มาตรา 7 แต่ตั้งข้อสังเกตว่า งานกิจกรรมรำลึกถึงสัตว์เลี้ยงที่จัดขึ้นบริเวณหอศิลป์กรุงเทพฯ อาจไม่เข้าข่ายว่าเป็นการชุมนุม เจ้าหน้าที่อาจตีความได้สองกรณี คือ
หนึ่ง เป็นการชุมนุมที่ได้รับข้อยกเว้น ในมาตรา 3 (2) ที่ระบุว่า "การชุมนุมเพื่อประกอบพิธีกรรมทางศาสนาหรือกิจกรรมตามประเพณีหรือตามวัฒนธรรมแห่งท้องถิ่น" เนื่องจากภาพถ่ายงานดังกล่าวมีลักษณะของการจุดเทียน และทำกิจกรรมรำลึกถึงสัตว์เลี้ยง
สอง เจ้าหน้าที่อาจไม่ได้ตีความว่าเป็นการจัดการชุมนุม เนื่องจาก มาตรา 4 ที่กำหนดนิยามของการชุมนุมว่า “การชุมนุมสาธารณะ” หมายความว่า "การชุมนุมของบุคคลในที่สาธารณะเพื่อเรียกร้อง สนับสนุน คัดค้าน หรือแสดงความคิดเห็นในเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยแสดงออกต่อประชาชนทั่วไป และบุคคลอื่นสามารถ ร่วมการชุมนุมนั้นได้ ไม่ว่าการชุมนุมนั้นจะมีการเดินขบวนหรือเคลื่อนย้ายด้วยหรือไม่"
นายอานนท์กล่าวว่า หากในงานรำลึกสัตว์เลี้ยงเป็นเพียงการแสดงการรำลึกอย่างสงบ เพื่อเรียกร้อง สนับสนุน คัดค้าน หรือแสดงความคิดเห็นในเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยแสดงออกต่อประชาชนทั่วไป เจ้าหน้าที่อาจจะตีความว่าไม่เป็นการชุมนุม แต่หากมีการพูด หรือแสดงความคิดเห็น เจ้าหน้าที่ก็อาจจะต้องใช้ดุลยพินิจในการตีความว่าเข้าข่ายเป็นการชุมนุมหรือไม่
การรำลึกผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์สลายการชุมนุมทางการเมืองบริเวณสี่แยกราชประสงค์
อย่างไรก็ดี นายอานนท์ตั้งคำถามว่า "หากมีการจัดกิจกรรมรำลึกถึงผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ทางการเมือง ในบริเวณดังกล่าว และมีการดำเนินกิจกรรมในลักษณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่จะตีความว่าอย่างไร? " เนื่องจากปัญหาของกฎหมายฉบับนี้ สามารถตีความได้กว้าง โดยต้องใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ในการตีความว่าแบบไหนคือการชุมนุม แบบไหนไม่ใช่การชุมนุม อีกทั้งเขายังตั้งข้อสังเกตว่า ก่อนหน้านี้ที่มีการจัดกิจกรรมชุมนุมสนับสนุนการชุมนุมฮ่องกง ที่หน้าหอศิลป์กรุงเทพฯ เจ้าหน้าที่ได้ขอให้ขยับพื้นที่การทำกิจกรรมเพื่อไม่ให้อยู่ในเขตที่กฎหมายกำหนด ซึ่งนักกิจกรรมก็ได้ให้ความร่วมมือโดยดี ทำให้ไม่ถูกตั้งข้อกล่าวหา แต่ในการชุมนุม MBK39 นั้น ผู้ต้องหารายหนึ่งอ้างว่า เจ้าหน้าที่ได้มีการแจ้งให้ขยับพื้นที่การชุมนุมเช่นเดียวกัน แต่ก็ถูกแจ้งข้อกล่าวหาตาม มาตรา 7
นายอานนท์ เสนอว่า ปัญหาของ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะมีหลายข้อ แต่ข้อที่เป็นปัญหา คือมาตรา 7 เรื่องขอบเขตรัศมีการชุมนุม เพราะประชาชนยังไม่รู้ว่าตรงไหนสามารถชุมนุมได้หรือไม่ได้ เพราะไม่ทราบว่ามีพระราชฐานตั้งอยู่ในตำแหน่งใดบ้าง ซึ่งอาจเสี่ยงต่อการถูกดำเนินคดีหากมีการจัดกิจกรรมชุมนุม ขณะนี้เรามีสภาผู้แทนราษฎร คิดว่าควรมีการเสนอให้สภาฯ ทบทวนบทบัญญัติโดยเฉพาะเรื่องรัศมีการจัดการชุมนุม เนื่องจากกฎหมายนี้ทำให้ประชาชนไม่สามารถใช้สิทธิ และเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญในการแสดงออกทางการเมืองได้ และจะทำอย่างไรให้บัญญัติไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายคือ ไม่รบกวนเจ้านายที่กำลังประทับอยู่ในพระราชฐาน และเปิดโอกาสให้ประชาชนได้ใช้สิทธิ และเสรีภาพในการแสดงออก ซึ่งตนคิดว่าสามารถทำควบคู่กันไปได้
ทั้งนี้ การชุมนุมที่ได้รับการยกเว้น ถูกระบุใน มาตรา 3 ของ พ.ร.บ.การชุมนุมฯ โดยกำหนดว่า
"พ.ร.บ.นี้ไม่ใช้บังคับแก่การชุมนุมสาธารณะ คือ (1) การชุมนุมเนื่องในงานพระราชพิธีและงานรัฐพิธี (2) การชุมนุมเพื่อประกอบพิธีกรรมทางศาสนาหรือกิจกรรมตามประเพณีหรือตามวัฒนธรรมแห่งท้องถิ่น (3) การชุมนุมเพื่อจัดแสดงมหรสพ กีฬา ส่งเสริมการท่องเที่ยว หรือกิจกรรมอื่นเพื่อประโยชน์ ทางการค้าปกติของผู้จัดการชุมนุมนั้น (4) การชุมนุมภายในสถานศึกษา (5) การชุมนุมหรือการประชุมตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย หรือการประชุมสัมมนาทางวิชาการ ของสถานศึกษาหรือหน่วยงานที่มีวัตถุประสงค์ทางวิชาการ (6) การชุมนุมสาธารณะในระหว่างเวลาที่มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหรือประกาศใช้กฎอัยการศึก และการชุมนุมสาธารณะที่จัดขึ้นเพื่อประโยชน์ในการหาเสียงเลือกตั้งในช่วงเวลาที่มีการเลือกตั้ง แต่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น"
ส่วนบทบัญญัติที่ทำให้ประชาชนไม่สามารถรวมตัวกันแสดงออกทางการเมืองในระยะที่กำหนดได้ คือ มาตรา 7 ของ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 กำหนดว่า "การจัดการชุมนุมสาธารณะในรัศมี 150 เมตรจากพระบรมมหาราชวัง พระราชวัง วังของพระรัชทายาทหรือของพระบรมวงศ์ตั้งแต่สมเด็จเจ้าฟ้าขึ้นไป พระราชนิเวศน์ พระตําหนัก หรือจากที่ซึ่งพระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท พระบรมวงศ์ตั้งแต่สมเด็จเจ้าฟ้าขึ้นไป หรือผู้สําเร็จ ราชการแทนพระองค์ ประทับหรือพำนัก หรือสถานที่พํานักของพระราชอาคันตุกะ จะกระทํามิได้"