ไม่พบผลการค้นหา
'ทวี' เลขาธิการพรรคประชาชาติ จี้รัฐบาลเร่งแก้ปัญหา 'เงินผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ' ย้ำกรณีงบการเงินไม่ถูกต้องมาตรฐานการบัญชีภาครัฐ ต้องแก้ไขให้ถูกต้องเกิดความโปร่งใส และยุติธรรม

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า 'เงินผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ' เป็นปัญหาเร่งด่วนที่ รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ต้องแก้ไขให้ถูกต้อง โดยในปีงบประมาณ 2564 'กองทุนประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม' ได้ของบประมาณและรัฐสภาเห็นชอบจำนวน 49,500 ล้านบาทเศษ ได้นำไปจัดสรรสวัสดิการให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (ผู้มีบัตรฯ) เพื่อสนับสนุนเงินค่าครองชีพ ได้แก่ ค่าใช้จ่ายในครัวเรือน ค่าใช้จ่ายเดินทาง และค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในการบรรเทาภาระค่าครองชีพให้กับผู้มีบัตรฯ ปรากฎว่าผู้สอบบัญชี สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน หรือ สตง. ได้ตรวจสอบและรายงานงบการเงินโครงการประชารัฐสวัสดิการ แสดงความเห็นในรายงานของผู้สอบบัญชีไว้ แบบ 'ไม่แสดงความเห็น' ที่ตามมาตรฐานการบัญชีภาครัฐถือว่างบการเงินโครงการประชารัฐสวัสดิการ 'ไม่ถูกต้อง' ซึ่งถือว่าไม่ปกติ

โดยหลักการรายงานของผู้สอบบัญชี จะแสดงความเห็นเป็น 4 แบบ คือ

1. แบบไม่มีเงื่อนไข

2. แบบมีเงื่อนไข

3. ไม่ถูกต้อง

4. ไม่แสดงความเห็น

รายงานที่แสดงความเห็นทั้ง 4 แบบ ที่แบบถูกต้องตามมาตรฐานการบัญชีภาครัฐ ต้องเป็น 'แบบไม่มีเงื่อนไข' เท่านั้น ส่วนอย่างอื่นถือว่าไม่ถูกต้อง (รายงานล่าสุด คือ เมื่อวันที่ 30 ก.ย. 2562 ) โดยผู้สอบบัญชีระบุรายการ ที่มีสาระสำคัญหลายรายการ ที่ผู้สอบบัญชีไม่สามารถแสดงความเห็นต่อรายงานการเงินของกองทุนฯ ได้ อาทิ 'ค่าใช้จ่ายจากการอุดหนุนจำนวน 93,155 ล้านบาทเศษ เป็นค่าใช้จ่ายผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งจ่ายผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เข้าบัญชีเงินฝากธนาคารของหน่วยงานหรือร้านค้าที่รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ตามโครงการประชารัฐสวัสดิการ ซึ่งผู้สอบบัญชีไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าถึงฐานข้อมูลเกี่ยวกับผู้ผ่านหลักเกณฑ์และมีสิทธิได้รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และฐานข้อมูลการใช้สิทธิในการจ่ายผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐในระหว่างปีงบประมาณทำให้ไม่สามารถตรวจสอบความมีอยู่จริงและเกิดขึ้นจริงของค่าใช้จ่ายจำนวนดังกล่าวได้ และ ผู้สอบบัญชีไม่สามารถใช้วิธีตรวจสอบอื่นให้ได้มาซึ่งหลักฐานที่เหมาะสมอย่างเพียงพอได้'

ปัจจุบันผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ มีจำนวน 14.6 ล้านบัตรฯ ผู้สอบบัญชี สตง.ไม่สามารถตรวจความถูกต้องของผู้ถือบัตรฯและคุณสมบัติว่าเป็นไปตามเกณฑ์หรือไม่ ผู้บริหารฯกองทุนไม่ให้ข้อมูล โดยอ้างว่าเป็นสิทธิส่วนบุคคลทั้งที่รัฐธรรมนูญและกฎหมายกำหนดเรื่องการใช้จ่ายเงินแผ่นดินไว้ จึงเป็นกรณีที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

พ.ต.อ.ทวี ระบุว่า ประเด็นเกี่ยวกับ 'งบการเงิน' ถือว่ามีความสำคัญมากเปรียบเสมือน 'กระจกบานใหญ่' ที่สะท้อนให้เห็นถึงฐานะการเงิน ผลดำเนินการของหน่วยรับงบประมาณ และผู้บริหารว่ามีความถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง ให้เบาะแสการกระทำไม่ชอบหรือความผิดปกติ เป็นข้อมูลเบื้องต้นในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอรัปชัน และยังเป็นแหล่งข้อมูลที่สำคัญของหน่วยรับงบประมาณที่บอกเรื่องราวของรายรับ รายจ่ายและการดำเนินการต่าง ๆ ผ่านงบการเงินหลายอย่าง เมื่อผู้สอบบัญชีพบว่ามีการปฏิบัติไม่ถูกต้องของหน่วยรับงบประมาณ ก็จะมีการเปิดเผยสาเหตุและแสดงความเห็นในรายงานผลการตรวจสอบของงบการเงิน ไม่แสดงความเห็น หรือไม่ถูกต้อง หรือแสดงความเห็นแบบมีเงื่อนไข แล้วแต่กรณีไป หากมีการปฏิบัติตามมาตรฐานการบัญชีภาครัฐและนโยบายการบัญชีภาครัฐถูกต้องงบการเงินดังกล่าวสำนักตรวจเงินแผ่นดิน จะรายงานผลการตรวจสอบ 'แสดงความเห็นอย่างไม่มีเงื่อนไข'

ในเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกัน พบว่า สตง. ได้ตรวจสอบตามอำนาจหน้าที่และรายงานการตรวจสอบการดำเนินงานโครงการประชารัฐสวัสดิการ ออกเผยแพร่ (เมื่อต้นเดือน มี.ค. 2563) มีประเด็นข้อตรวจพบความบกพร่องที่สำคัญ จำนวน 4 ประเด็น คือ 

1. การลงทะเบียนยังไม่รัดกุมเหมาะสม 

2. มาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐไม่บรรลุวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ 

3. สวัสดิการที่ช่วยเหลือผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐบางรายการยังไม่เกิดประโยชน์สำหรับกลุ่มเป้าหมายอย่างแท้จริง และ

4. ยังไม่บรรลุผลสำเร็จในการลดปัญหาความเหลื่อมล้ำของสังคมไทย ประชาชนผู้มีรายได้น้อยหรือผู้ที่มีฐานะยากจนที่ควรเป็นกลุ่มเป้าหมายเสียโอกาส เกิดความคลาดเคลื่อนบิดเบือนกลุ่มเป้าหมายที่แท้จริง หรือมีความไม่ถูกต้อง ไม่เป็นปัจจุบันของข้อมูล 

‘บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ’ หรือที่สังคมเรียกว่า ‘บัตรคนจน’ มีกระแสในสังคมว่าทำให้เกิดการแบ่งคนในสังคมด้วยฐานะการเงิน ความรวยกับความจน โดยรัฐบาลเป็นผู้ทำขึ้น เป็นการด้อยค่า ด้อยศักดิ์ศรี การตอกย้ำความไม่เสมอภาคเท่าเทียมกัน และยังปรากฎว่าการจัดซื้อจัดจ้างบัตรสวัสดิการแห่งรัฐมีราคาสูงเกินควรเมื่อเปรียบเทียบกับบัตรประจำตัวประชาชนหรือบัตรอื่น กล่าว คือ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐแบ่งเป็น 2 แบบได้แก่ แบบแรกเป็นบัตรแบบ Contact Chip เป็นบัตรที่สำหรับใช้กับพื้นที่ต่างจังหวัด (รวม 70 จังหวัด) การจัดซื้อจัดจ้างราคาบัตรละ 50 บาท และแบบที่สอง บัตรแบบ Contactless Chip สำหรับผู้มีสิทธิ ในเขต กทม. นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา สมุทรปราการ นครปฐม และสมุทรสาคร การจัดซื้อจัดจ้างราคาบัตรละ 70 บาท 

ขณะที่ค่าบัตรประชาชนจัดซื้อจัดจ้างในราคาประมาณบัตรละ 35 บาท แยกเป็นเป็นตัวบัตรและ Chip ประมาณ 19 บาท กับค่าวัสดุพิมพ์รูป ขอบสีและอุปกรณ์ป้องกันการปลอมแปลงประมาณ 16 บาท ส่วนในกรณีบัตรประกันสุขภาพได้ถูกยกเลิกไปแล้วปัจจุบันใช้บัตรประชาชนแทน เป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายจำนวนมาก

ตามรัฐธรรมนูญปี 60 มาตรา 140 ได้บัญญัติถึงการจ่ายเงินแผ่นดิน จะกระทำได้เฉพาะที่ได้อนุญาตไว้ในกฎหมายว่าด้วย งบประมาณรายจ่าย กฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ หรือกฎหมายเกี่ยวด้วยการโอนงบประมาณ กฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง หรือกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐและตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 มาตรา 68 กำหนดให้หน่วยงานต่าง ๆ ทำตามมาตรฐานบัญชีที่กระทรวงการคลังเป็นผู้กำหนด และมาตรา 70 กำหนดว่าให้ส่งสิ้นปีงบประมาณและให้ทำรายงานการเงินส่งให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินตรวจสอบภายใน 90 วัน และให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินตรวจให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน งบการเงินที่ไม่ถูกต้องตามมาตรฐานการบัญชีภาครัฐถือว่าไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมาย 

พ.ต.อ.ทวี ระบุว่า ส่วนตัวเห็นด้วยกับการจัดงบประมาณเป็นสวัสดิการให้ประชาชนเจ้าของเงินภาษี เพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ความยากจน และดูแลคุณภาพชีวิต แต่ต้องดำเนินการให้โปร่งใสและถูกต้องตามกฎหมาย ปัญหางบการเงินไม่ถูกต้องมาตรฐานการบัญชีภาครัฐ และผลการตรวจสอบที่ไม่บรรลุวัตถุประสงค์ที่กล่าวมาข้างต้นเป็นเรื่องเร่งด่วนของรัฐบาล ต้องแก้ไขให้ถูกต้องเกิดโปร่งใส และยุติธรรม 

กรณี สวัสดิการแห่งรัฐ ขณะนี้ มีร่าง พ.ร.บ.บำนาญแห่งชาติ ที่ประชาชนที่มีสิทธิเลือกตั้งมากกว่า 10,000 คนรวมลงชื่อร่างกฎหมาย 'พ.ร.บ.บำนาญแห่งชาติ' เพื่อยกระดับให้ประชาชนทุกคนเมื่ออายุถึง 60 ปี จะมีสิทธิได้รับบำนาญแห่งชาติอย่างเสมอภาคกันแต่เนื่องจากเป็นร่าง พ.ร.บ. เกี่ยวด้วยการเงิน ขณะนี้อยู่ในชั้นขอคำรับรองของนายกรัฐมนตรี ก่อน และมีร่าง พ.ร.บ.บำนาญแห่งชาติที่เสนอโดยสมาชิกสภาผู้แทนพรรคประชาชาติกับคณะ ที่เสนอสภาผู้แทนและอยู่ในระหว่างรับฟังความคิดเห็น ที่มีหลักการของร่างทั้ง 2 ฉบับ เหมือนกันให้บำนาญผู้สูงอายุ (อายุ 60 ปี) ไม่ต่ำกว่าเส้นความยากจน (ประมาณ 3,000 บาทต่อเดือน) แบบเสมอหน้ากันโดยเห็นว่า ‘สวัสดิการ’ เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนที่ควรเป็น 'สิทธิที่เสมอกัน' บำนาญเป็น 'สิทธิ' อันพึงมีของประชาชน มิใช่เพียงแค่ 'หน้าที่' ของรัฐในการสงเคราะห์คนอนาถา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: