ไม่พบผลการค้นหา
EXIM BANK ขยายวงเงินปล่อยสินเชื่อซอฟต์โลน ดอกเบี้ยร้อยละ 2 เยียวยาลูกค้า SMEs กว่า 2,500 ราย ยอดสินเชื่อคงค้าง 20,000 ล้านบาท เพิ่มทุนหมุนเวียนอีก 4,000 ล้านบาท หวังพยุงการจ้างงานกิจการเกี่ยวเนื่องส่งออก

นายพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เปิดเผยว่า เพื่อขานรับนโยบายธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สนับสนุนสินเชื่อใหม่ (Soft Loan) ให้แก่ธุรกิจ SMEs ที่มีวงเงินรวมกลุ่มไม่เกิน 500 ล้านบาท เป็นเวลา 2 ปี โดยธนาคารฯ จึงเตรียมพร้อมขยายสินเชื่อให้แก่ลูกค้า SMEs ที่เข้ามาตรการความช่วยเหลือดังกล่าวในอัตราดอกเบี้ยพิเศษร้อยละ 2 ต่อปี โดยไม่คิดดอกเบี้ยในช่วง 6 เดือนแรก จำนวนกว่า 2,500 ราย ซึ่งมียอดคงค้างสินเชื่อ 20,000 ล้านบาท

อีกทั้งยังสามารถให้กู้เพิ่มได้สูงสุดร้อยละ 20 ของยอดหนี้คงค้าง ณ สิ้นปี 2562 ช่วยให้ลูกค้ากลุ่มนี้มีเงินทุนหมุนเวียนในกิจการเพิ่มอีก 4,000 ล้านบาท ระยะเวลาอนุมัติตั้งแต่บัดนี้ถึง 31 ธ.ค. 2563

ทั้งนี้ มาตรการสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยพิเศษ หรือ ซอฟต์โลนแก่ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ของ EXIM BANK มีดังนี้

  • สินเชื่อระยะสั้น 2 ปี สำหรับลูกค้าที่มีวงเงินรวมกลุ่มไม่เกิน 500 ล้านบาท วงเงินสูงสุด ร้อยละ 20 ของยอดหนี้คงค้าง ณ 31 ธ.ค. 2562 อัตราดอกเบี้ยพิเศษร้อยละ 2 ต่อปี ฟรีดอกเบี้ย 6 เดือน และ ฟรีค่าธรรมเนียมการใช้สินเชื่อ นำไปใช้หมุนเวียนในกิจการที่เกี่ยวเนื่องกับการส่งออกและลงทุน ซึ่งได้รับผลกระทบทางตรงและทางอ้อมจากโควิด-19
  • สินเชื่อระยะยาว 7 ปี สำหรับลูกค้าและผู้ประกอบการทั่วไป

- วงเงินสูงสุด 20 ล้านบาทต่อราย อัตราดอกเบี้ยพิเศษร้อยละ 2 ต่อปีในปีที่ 1-2 นำไปใช้หมุนเวียนในกิจการที่เกี่ยวเนื่องกับการส่งออกและลงทุน ซึ่งได้รับผลกระทบทางตรงและทางอ้อมจากโควิด-19

- วงเงินสูงสุด 100 ล้านบาทต่อราย อัตราดอกเบี้ยพิเศษร้อยละ 2 ต่อปีในปีที่ 1-2 นำไปใช้ซื้อหรือปรับปรุงเครื่องจักรและอุปกรณ์ หรือต่อเติมปรับปรุงโรงงาน

  • สินเชื่อส่งเสริมการจ้างงาน วงเงินสูงสุด 15 ล้านบาทต่อราย อัตราดอกเบี้ยต่ำสุดร้อยละ 3 ต่อปี ระยะเวลากู้สูงสุด 7 ปี

นอกจากนี้ ได้เปิดคลินิกให้คำปรึกษาแก่ผู้ประกอบธุรกิจส่งออกและลงทุนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทางโทรศัพท์ 0 2617 2111 ต่อ 3510-2

“นอกจากการพักชำระหนี้ ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย 6 เดือนให้แก่ลูกค้า EXIM BANK ขานรับนโยบายรัฐบาลในการเยียวยาผู้ประกอบธุรกิจส่งออกและลงทุนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เป็นวงกว้าง โดยพร้อมเสริมสภาพคล่องลูกค้าและผู้ประกอบการทั่วไปทุกกลุ่มอุตสาหกรรมและทุกขนาดธุรกิจ รวมถึง SMEs เพื่อให้ความช่วยเหลือภาคธุรกิจกระจายไปถึงแรงงานและผู้มีรายได้น้อยในสังคม เพื่อให้ทุกภาคส่วนก้าวผ่านสถานการณ์ความยากลำบากนี้ไปด้วยกัน” นายพิศิษฐ์กล่าว


ข่าวที่เกี่ยวข้อง :