หลังได้เข้าสู่การทดลอง Regulatory Sandbox (ระบบการทดลองผลิตภัณฑ์และบริการแบบใหม่) ของธนาคารแห่งประเทศไทยมาสักระยะหนึ่ง ล่าสุด บริษัท เนชั่นแนลดิจิทัลไอดี จำกัด หรือ NDID (National Digital ID) ได้รับการสนับสนุนจากหลายภาคส่วน เช่น กระทรวงการคลัง กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สมาคมธนาคารไทย และบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ ออกมาประกาศความพร้อมระบบพิสูจน์และยืนยันตัวตนดิจิทัล หรือ Digital ID เป็นที่เรียบร้อยแล้วในวันที่ 14 พ.ย.
'สุธีรา ศรีไพบูลย์' รักษาการประธานบริษัท ตัวแทนบริษัท NDID เปิดเผยว่า ระบบยืนยันตัวตนดังกล่าวถูกพัฒนาขึ้นมาในฐานะโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลของสังคมไทย โดยให้ความมั่นใจว่า โครงการดังกล่าวไม่มีความพยายามในการนำข้อมูลไปใช้ในทางที่ผิดหรือตั้งตนเป็นศูนย์รวบรวมข้อมูลประชาชน เนื่องจากข้อมูลทางชีวภาพของประชาชนนั้นจะถูกเก็บแบบกระจายตัวอยู่กับองค์กรต่างๆ ภายใต้ระบบบล็อกเชน ไม่มีการรวมศูนย์แต่อย่างใด
สำหรับการเปิดให้บริการครั้งนี้ จะร่วมมือกับกลุ่มธนาคารนำร่อง 10 แห่ง รวมถึงกลุ่มบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) และบริษัทประกันชีวิต กว่า 20 บริษัท พร้อมด้วยบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และธนาคารรัฐบางแห่ง
ขณะที่ 'สุรางคณา วายุภาพ' ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ ETDA ย้ำถึงความสำคัญของ Digital ID ในแวดวงธุรกิจในปัจจุบัน พร้อมย้ำถึงมาตรการควบคุมดูแล้วข้อมูลผู้บริโภคไม่ให้ถูกนำไปใช้ในทางที่ผิด โดบระบุว่า โครงการโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลที่จะถูกนำไปประยุกต์ใช้เพื่อให้บริการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์จะอยู่ภายใต้การกำกับดูแลตามกฎหมายว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์
นอกจากนี้ องค์กรยังเตรียมออกพระราชกฤษฎีกา เพื่อกำหนดรายละเอียดในการกำกับดูแล เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นในด้านความน่าเชื่อถือของผู้ให้บริการ ซึ่งจะต้องเปิดกว้างรองรับทุกเทคโนโลยีและนวัตกรรมในฐานะผู้กำกับดูแล
สิ่งที่ระบบยืนยันตัวตนดิจิทัล หรือ Digital ID มอบให้กับประเทศไทยคือการเป็นโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลให้กับผู้ให้บริการ
สำหรับวงการธนาคารที่มีความเชื่อมโยงใกล้ชิดกับเทคโนโลยียืนยันตัวตนสามารถนำโครงสร้างพื้นฐานดังกล่าวไปปรับใช้และพัฒนาการให้บริการของตนได้
'ธวีลาภ ฤทธาภิรมย์' ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า การเติบโตโดยรวมของวงการธนาคารไทยถือว่าไม่ง่าย เนื่องจากมีการแข่งขันกันสูง ส่วนการมี Digital ID ก็ไม่ได้หมายความว่าทุกธนาคารจะมีผลิตภัณฑ์เหมือนกัน เนื่องจากปัจจัยต่างๆ ก็แตกต่างกัน
"NDIS เป็นการลงทุนภาครัฐ แล้วค่อยไปอยู่ที่การแข่งขัน ใครคิดอะไรได้ ก็ไปคิด" ธวีลาภ กล่าว
สำหรับเป้าหมายของธนาคารกรุงเทพคือ ต้องการให้มีผู้ใช้งานแอปพลิเคชันในโทรศัพท์ให้ขึ้นมาถึง 10 ล้านบัญชีผู้ใช้ หากปรับพฤติกรรมผู้บริโภคให้ชินกับระบบยืนยันตัวตนอิเล็กทรอนิกส์ได้แล้ว
อย่างไรก็ตาม ในประเด็นการกู้ยืมดิจิทัล ปัจุบันธนาคารกรุงเทพยังไม่ได้เริ่มโครงการตรงนี้แต่ก็มีการศึกษาอยู่อย่างใกล้ชิด
ระบบยืนยันตัวตนทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-KYC (electronic-Know Your Customer) ถูกพัฒนามาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการปกป้องข้อมูลหรือธุรกรรมต่างๆ ของผูับริโภค
ในสมัยก่อนนั้น ผู้บริโภคมักนิยมใช้การตั้งรหัสผ่าน หรือคำถามที่ต้องการคำตอบที่มีแต่เจ้าของบัญชีเท่านั้นที่จะทราบ เช่น คุณเกิดที่โรงพยาบาลไหน หรือ สุนัขตัวแรกของคุณมีสีอะไร
อย่างไรก็ตาม คำถามเหล่านั้นดูจะเป็นสิ่งที่มีความปลอดภัยต่ำ เมื่อเทียบกับศักยภาพของเทคโนโลยีในปัจจุบัน เพราะอาจไม่ได้มีเพียงคุณคนเดียวที่รู้ว่าคุณเกิดที่โรงพยาบาลไหน หรือสุนัขของคุณสีอะไร
ดังนั้น ระบบยืนยันตัวตนจึงต้องการสิ่งที่เฉพาะเจาะจงและเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวมากกว่านั้น อาทิ ใบหน้า หรือ ม่านตา ของคุณ ที่ไม่สามารถปลอมแปลงได้ หรือ ปลอมแปลงได้ยาก
สิ่งที่ระบบยืนยันตัวตนจะมอบความสะดวกสบายให้ คือเมื่อมีการเก็บข้อมูลทางชีวภาพเรียบร้อยแล้ว ต่อไปเมื่อผู้ใช้บริการต้องการทำธุรกรรมกับธนาคารที่ร่วมมือกับ NDID ก็ไม่จำเป็นต้องเตรียมเอกสาร อาทิ บัตรประชาชน มาแสดงอีกต่อไป เพราะระบบมีข้อมูลทางชีวภาพไว้ยืนยันตัวตนแล้ว
ความพยายามดังกล่าว เป็นการเตรียมพร้อมรับมือกับกระแสเศรษฐกิจแพลตฟอร์มที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม ปัญหาหลักในปัจจุบันของประเทศไทย คือการเชื่อมต่อระหว่างแต่ละภาคส่วนซึ่งดูเหมือน ภาครัฐบาลจะยังตามไม่ทันภาคเอกชนเท่าที่ควร
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :