สำนักงานสืบสวนกลาง (FBI) ซึ่งเป็นหน่วยงานข่าวกรองของสหรัฐฯ กล่าวว่า เมื่อเช้าวันพุธ (9 ส.ค.) เจ้าหน้าที่ของ FBI พยายามแสดงหมายค้นและหมายจับกุมไปยังที่พักของ เครก โรเบิร์ตสัน ในเมืองโพรโว มลรัฐยูทาห์ ทางตอนใต้ของซอลท์เลคซิตี้
แหล่งข่าวผู้บังคับใช้กฎหมายที่ไม่ระบุชื่อ ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว Associated Press ว่า โรเบิร์ตสันมีอาวุธเมื่อเหตุการณ์บุกค้นเกิดขึ้น โดย FBI ออกแถลงการณ์ว่าเหตุยิงดังกล่าวอยู่ระหว่างการตรวจสอบ “FBI ให้ความสำคัญกับเหตุการณ์ยิงทั้งหมด ที่เกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่ หรือสมาชิกหน่วยเฉพาะกิจของเราอย่างจริงจัง” FBI กล่าว
เหตุยิงดังกล่าวเกิดขึ้นท่ามกลางความกังวลว่า สหรัฐฯ อาจจะเกิดความรุนแรงทางการเมืองเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังเกิดเหตุโจมตีอาคารรัฐสภาสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 6 ม.ค. 2564 ที่ผ่านมา
ในช่วงเวลาที่โรเบิร์ตสันเสียชีวิต เขาเผชิญหน้าอยู่กับความผิดทางอาญา 3 กระทง ได้แก่ การคุกคามระหว่างรัฐ การคุกคามประธานาธิบดี และการมีอิทธิพล ขัดขวาง และตอบโต้เจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายของรัฐบาลกลางโดยการคุกคาม ข้อหาทางอาญาต่อเขายังสะท้อนผ่านโพสต์บนโซเชียลมีเดีย ซึ่งโรเบิร์ตสันแสดงความอาฆาตมาดร้าย ต่อผู้ที่เขามองว่าเป็นศัตรูของ โดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ จากพรรครีพับลิกัน
เอกสารคำร้องอ้างว่า โรเบิร์ตสันเขียนข้อความลงบนเฟซบุ๊กเมื่อช่วงวันจันทร์ที่ผ่านมา (7 ส.ค.) ว่าเขาได้ข่าวที่ไบเดนเตรียมเดินทางเยือนมลรัฐยูทาห์ และเขาจะต้อง "ทำความสะอาดฝุ่นจากปืนไรเฟิล M24" ทั้งนี้ ไบเดนได้แวะเยือนมลรัฐยูทาห์เมื่อวันพุธ นอกจากนี้ ในโพสต์ก่อนหน้าเมื่อเดือน ก.ย. 2565 มีการกล่าวหาว่าโรเบิร์ตสันเขียนข้อความว่า “ถึงเวลาแล้วสำหรับการลอบสังหารประธานาธิบดี หรือทั้ง 2 คน โจก่อน แล้วก็กมลา!!!”
แบรกก์ อัยการเขตแมนฮัตตันที่ยื่นฟ้องคดีอาญาครั้งแรกต่อทรัมป์ในมลรัฐนิวยอร์ก ก็ตกเป็นเป้าหมายของโรเบิร์ตสันด้วยเช่นกัน โดยตามเอกสารที่ยื่นต่อศาล FBI กล่าวว่า ทางหน่วยงานได้รับการเตือนเกี่ยวกับกิจกรรมของโรเบิร์ตสันในเดือน มี.ค. หลังจากที่เขาโพสต์บนแพลตฟอร์ม Truth Social ของทรัมป์ เกี่ยวกับการต้องการ "เปิดรูโหว่งามๆ บนหน้าผาก (ของแบรกก์)" ทั้งนี้ บนโลกออนไลน์ โรเบิร์ตสันบรรยายว่าตัวเองเป็น "MAGA Trumper" ซึ่งหมายถึงตัวย่อของสโลแกนของทรัมป์ที่ว่า "Make America Great Again" (ทำให้อเมริกายิ่งใหญ่อีกครั้ง)
รายละเอียดเกี่ยวกับสถานการณ์แวดล้อมการเสียชีวิตของโรเบิร์ตสัน ยังไม่ได้รับการเปิดเผย แต่เหตุยิงดังกล่าวได้ดึงความสนใจไปที่ภัยคุกคามต่อเนื่องของความรุนแรงทางการเมืองในสหรัฐฯ ทั้งนี้ จากรายงานที่เผยแพร่โดยสำนักข่าว Reuters เมื่อวันพุธระบุว่า สหรัฐฯ กำลังประสบกับความรุนแรงทางการเมืองในระดับที่ไม่เคยเห็นมาก่อนนับตั้งแต่ทศวรรษ 1970 โดยส่วนใหญ่มาจากกลุ่มขวาจัด
อย่างไรก็ดี เมื่อเทียบกับภัยคุกคามในทุกวันนี้ ความรุนแรงทางการเมืองสหรัฐฯ ในทศวรรษ 1970 ส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากกลุ่มฝ่ายซ้ายหัวรุนแรง ที่มุ่งเป้าหมายการโจมตีไปที่ทรัพย์สิน แต่หลีกเลี่ยงการสังหารผู้คน นอกจากนี้ รายงานของ Reuters ยังอธิบายถึงแนวโน้มเหล่านั้นที่เปลี่ยนไป โดยชี้ไปที่เหตุกราดยิงจำนวนมากเมื่อเร็วๆ นี้ในเมืองพอร์ตแลนด์ มลรัฐโอเรกอน และเมืองบัฟฟาโล มลรัฐนิวยอร์ก ซึ่งกระทำโดยบุคคลที่แสดงออกว่าเป็นฝ่ายขวา
นับตั้งแต่กลุ่มผู้สนับสนุนทรัมป์บุกโจมตีอาคารรัฐสภาของสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 6 ม.ค. 2564 ในความพยายามที่จะล้มล้างความพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งของทรัมป์ Reuters ระบุว่า มีรายงานพบกรณีความรุนแรงทางการเมืองสหรัฐฯ ที่มีผลลัพธ์ถึงแก่ชีวิตกว่า 14 กรณี โดย 13 กรณีเป็นฝีมือของผู้โจมตีฝ่ายขวา และอีก 1 รายมาจากกลุ่มซ้าย
ที่มา: