ไม่พบผลการค้นหา
'ริชาร์ด แบรนสัน' สานฝันวัยเด็ก ขึ้นบินปฐมฤกษ์ 'เวอร์จิน กาแลคติก' ท่องอวกาศครั้งแรกสำเร็จ ชิงตัดหน้าไม่กี่สัปดาห์ก่อน 'เจฟฟ์ เบซอส' เตรียมโดยสารบลูออริจิน

11 ก.ค. ตามเวลาท้องถิ่นในรัฐนิวเม็กซิโก ของสหรัฐฯ เซอร์ ริชาร์ด แบรนสัน มหาเศรษฐีชาวอังกฤษ และนักลงทุนผู้ก่อตั้งกลุ่มบริษัท "เวอร์จิน" ซึ่งรวมถึงบริษัทเอกชนด้านอวกาศ "เวอร์จินกาแลคติก" ได้นำผู้โดยสารกลุ่มแรกรวมทั้งสิ้น 6 คน ขึ้นยาน วีเอ็มเอส ยูนิตี ท่องอวกาศสัมผัสสภาวะไร้น้ำหนักในวงโคจรระดับต่ำ ก่อนลงสู่พื้นโลกได้สำเร็จเป็นครั้งแรก นับเป็นการเปิดศักราชใหม่แห่งการปูทางสู่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวในอวกาศเชิงพาณิชย์

ในการท่องอวกาศครั้งนี้ แบรนด์สันกับคณะได้ขึ้นไปบนยาน 'วีเอสเอส ยูนิตี' ซึ่งเป็นยานลำเล็กประกบอยู่กับ "สเปซชิพทู" อากาศยานลำยักษ์ของเวอร์จินกาแลคติก โดยยานสเปซชิพทูได้ ทะยานขึ้นจากฐานบินอวกาศ สเปซพอร์ท อเมริกาในรัฐนิวเม็กซิโก สู่ระดับความสูง 80 กิโลเมตรเหนือทะเลทรายนิวเม็กซิโก จากนั้นยานแม่สเปซชิพทูได้ทำการการปล่อย 'วีเอสเอส ยูนิตี' ซึ่งขับเคลื่อนด้วยจรวดหนึ่งเครื่องยนต์ แต่มีกำลังขับสูงพุ่งทะยานขึ้นสู่อวกาศด้วยความเร็ว 3 มัค พร้อมด้วยผู้โดยสารรวมนักบิน 6 คนประกอบด้วย ริชาร์ด แบรนสัน , เบธ โมเซส หัวหน้านักบินอวกาศของเวอร์จิน กาแลคติก , คอลิน เบนเน็ต วิศวกรปฏิบัติการ สิริชา บันดลา รองประธานกิจการของรัฐบาลสหรัฐฯ และนักบินอีกสองคนคือ เดวิด แม็คเคย์ และมิคาเอล มาซุคชี่

เวอร์จินกาแลคติก อวกาศ ริชาร์ด แบรนด์สัน

"ขอแสดงความยินดีกับทีมที่ยอดเยี่ยมเวอร์จินกาแลคติก สำหรับการทำงานหนักมานาน 17 ปี ที่พาพวกเรามาไกลถึงขนาดนี้" เซอร์ แบรนสัน กล่าวระหว่างการถ่ายทอดสดขณะยานของเขาลอยตัวอยู่ในวงโคจรระดับต่ำพร้อมกับสภาวะไร้น้ำหนัก พร้อมสังเกตสภาพ "เส้นโค้ง" ของขอบฟ้าโลก โดยนับเป็นความสำเร็จครั้งสำคัญหลัง 'เวอร์จิน กาแลคติค' ก่อตั้งเมื่อปี 2547 

แบรนด์สันกล่าวอีกว่า การท่องเที่ยวเชิงอวกาศเป็นความใฝ่ฝันของเขาตั้งแต่วัยเยาว์ เที่ยวบินนอกจากการสานฝันของเขาแล้ว ยังถือเป็นภารกิจเพื่อประเมินคุณภาพและพัฒนาสู่เป้าหมายเริ่มดำเนินการท่องเที่ยวอวกาศเชิงพาณิชย์ในปีหน้า

อนึ่ง ก่อนหน้านี้แบรนด์สันไม่ได้มีแผนเดินทางขึ้นไปกับเที่ยวบินนี้ แต่สุดท้ายเขาก็เปลี่ยนใจ เพื่อเป็นการตัดหน้าแผนการขึ้นสู่ห้วงอวกาศของ เจฟฟ์ เบซอส อภิมหาเศรษฐีเจ้าพ่อแอมะซอน ที่ก่อตั้งบริษัทด้านอวกาศ บลู ออริจิน โดยเบซอสมีกำหนดเดินทางไปกับยานของตนพร้อมลูกเรือในวันที่ 20 ก.ค.นี้ แต่แบรนด์สันชิงดำเนินการภารกิจสำเร็จเสียก่อน ทั้งสองฝ่ายจึงถูกขนานนามว่า "การแข่งขันสู่อวกาศของมหาเศรษฐีพันล้าน"

เวอร์จินกาแลคติก อวกาศ ริชาร์ด แบรนด์สัน

ภารกิจทั้งหมดนับตั้งแต่ยานเปซชิพทู ทะยานขึ้นจากฐานอวกาศในรัฐนิวเม็กซิโก ตลอดจนสัมผัสประสบการณ์ไร้น้ำหนักบนเส้นโค้งผิวโลก กระทั่งยานยูนิตีลงจอดอย่างปลอดภัยใช้เวลาทั้งสิ้นราว 1 ชั่วโมงเศษ

สำหรับแบรนสัน และเบซอส ต่างเป็นสองมหาเศรษฐีที่ตั้งบริษัทด้านการท่องเที่ยวอวกาศในเชิงพาณิชย์ ทั้งสองจึงถือเป็นคู่แข่งกัน ต่างจากอีลอน มัสก์ ที่บริษัทสเปซเอ็กซ์ของเขาเน้นการขนส่งทางอวกาศและภารกิจตั้งอาณานิคมบนดวงจันทร์มากกว่า โดยก่อนหน้านี้เมื่อต้นเดือนมิ.ย. ที่ผ่านมา เบซอส ประกาศทั้งเขาและมาร์ก น้องชายจะเป็นส่วนหนึ่งของลูกเรือแคปซูลอวกาศนิวเชพเพิร์ดของบริษัทบลูออริจิน ในเที่ยวบนปฐมฤกษ์ที่ส่งมนุษย์ขึ้นไปท่องอวกาศตามกำหนดช่วงกลางเดือนก.ค. ทว่าเพียงไม่นาน เซอร์แบรนด์สันได้ประกาศว่า เขาและคณะพร้อมจะเดินทางไปสัมผัสเส้นขอบโลกในวันที่ 11 ก.ค. ตัดหน้าแผนการณ์ของเบซอสเพียงไม่กี่สัปดาห์ 

สำหรับยานอวกาศที่พัฒนาโดยเวอร์จินกาแลคติกนั้นแตกต่างจากบลูออริจินอย่างมาก ในแง่วิธีการส่งคนขึ้นไปยังอวกาศ โดยของเวอร์จินจะเป็นลักษณะให้ยานอวกาศลำเล็กติดอยู่กับอากาศยานขนาดใหญ่อีกลำที่มีความพิเศษสามารถขึ้นบินในระดับความสูงกว่าเครื่องบินปกติทั่วไป ก่อนจะปล่อยให้ยานลำเล็กติดเครื่องยนต์จรวดพุ่งทะยานขึ้นสู่อวกาศ จากนั้นยานจะร่อนกลับสู่พื้นโลกในลักษณะที่คล้ายกับกระสวยอวกาศของนาซาร่อนลงสู่สนามบิน

เวอร์จิน กาแลคติก อวกาศ

ขณะที่การขึ้นสู่อวกาศของออริจินนั้น จะเป็นลักษณะจรวดแบบดั่งเดิมโดยใช้การปล่อยจากฐานแบบแนวดิ่ง เมื่อถึงความสูงที่กำหนดจรวดจะแยกตัวจากแคปซูล โดยผู้โดยสารจะได้สัมผัสกับสภาวะไร้น้ำหนักนานราว 5 นาที และเห็นเส้นขอบโค้งของโลก ก่อนที่แคปซูลจะกลับสู่พื้นโลกโดยใช้ร่มชูชีพขนาดใหญ่เพื่อชะลอความเร็ว ทั้งสองมีความเหมือกันคือสามารถนำจรวดและแคปซูลที่ใช้โดยสารกลับมาใช้ซ้ำได้

ธนาคารยูบีเอสคาดว่า ในอนาคตอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงอวกาศอาจมีมูลค่าสูงถึง 3,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี ภายในปี ค.ศ. 2030 หรืออีก 9 ปีข้างหน้า โดยสำหรับราคาตั๋วท่องอวกาศของเวอร์จินคาดว่าจะอยู่ที่ราว 250,000 ดอลลาร์ หรือประมาณ 8 ล้านบาทต่อคน