ไม่พบผลการค้นหา
เหล่าซีอีโอ เทคะแนน 'เศรษฐา' นั่งนายกฯ คนต่อไป หนุน 'พรรคเพื่อไทย' ตั้งรัฐบาล ขณะ 'ประยุทธ์' มาที่ 3 ปัญหาใหญ่ที่ต้องแก้เร่งด่วน พบว่าเป็นเรื่อง 'เศรษฐกิจ'

เมื่อเวลา 07.30 น. วันนี้ (27 มี.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรุงเทพธุรกิจ ได้เผยผลสำรวจความคิดเห็นกว่า 200 ซีอีโอ องค์กรธุรกิจขนาดใหญ่หลากหลายกลุ่ม เช่น ภาคการผลิต เกษตร พลังงาน อสังหาริมทรัพย์ ส่งออก การเงิน ค้าปลีก ท่องเที่ยว ภาคบริการ ไอทีดิจิทัล สตาร์ตอัป ในหัวข้อ “อนาคตประเทศไทยหลังการเลือกตั้ง” ใครจะเป็นนายกรัฐมนตรี และพรรคการเมืองที่ “นักธุรกิจ” ชั้นนำในประเทศมองว่า ควรเป็น “แกนนำ” ในการจัดตั้งรัฐบาล รวมไปถึงนโยบายด้านเศรษฐกิจ สังคม ที่ควรได้รับการแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วนและในระยะยาว ใช้เวลาสำรวจตั้งแต่วันที่ 21-25 มี.ค.ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์

จากผลสำรวจ พบว่า นักธุรกิจเลือก เศรษฐา ทวีสิน นั่งนายกรัฐมนตรี โดยคิดเป็นสัดส่วน 24.2% อันดับ 2 คือ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ 15.2% อันดับ 3 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา 14.1% ขณะที่ แพทองธาร ชินวัตร มาเป็นอันดับ 4 ที่ 11.6% และ กรณ์ จาติกวณิช รั้งอันดับ 5 ที่ 9.1%

ขณะที่ พรรคแกนนำในจัดตั้งรัฐบาล นักธุรกิจเทคะแนนให้กับ “พรรคเพื่อไทย” ให้พรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาลมากที่สุด 44.3% รองลงมา คือ “พรรครวมไทยสร้างชาติ” 17% ตามมาด้วย “พรรคก้าวไกล” 16% ตามมาด้วย “พรรคพลังประชารัฐ” 5.2% และ พรรคภูมิใจไทย 4.1%

สำหรับนโยบายที่รัฐบาลใหม่ต้องทำ ผลสำรวจพบว่า “นโยบายแก้ปัญหาเศรษฐกิจ” เป็นนโยบายที่ซีอีโอต้องการให้รัฐบาลใหม่ทำมากที่สุด คิดเป็น 82% ขณะที่ รองลงมา คือ การปรับปรุงกฎหมายเศรษฐกิจให้มีความทันสมัย 46.5% การแก้ปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ 43% การดึงเงินลงทุนจากต่างประเทศ 42.5% และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น รถไฟความเร็วสูง ท่าเรือน้ำลึก 37.5% เป็นต้น

เมื่อถามลงลึกว่า “นโยบายเศรษฐกิจ” ด้านใดที่รัฐบาลต้องให้ความสำคัญ และทำอย่างเร่งด่วน” นโยบายที่มาเป็นอันดับหนึ่ง คือ นโยบายแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ 62.4% รองลงมา คือ นโยบายแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน ,หนี้เสีย 56.3% และ นโยบายดึงการลงทุนจากต่างประเทศ 44.7% นโยบายเร่งการลงทุนของภาคเอกชนในประเทศ 44.2% ลำดับถัดมาเช่น ให้ความสำคัญนโยบายด้าน Sustainability การเปิดตลาดการค้าใหม่ๆ ในต่างประเทศ รวมถึงนโยบายรับมือด้านภูมิรัฐศาสตร์เป็นต้น

การสำรวจครั้งนี้ ยังเปิดให้ ซีอีโอธุรกิจ ได้ให้ข้อเสนอแนะเพิ่มเติมต่อรัฐบาลใหม่ หลังการเลือกตั้งโดยข้อเสนอแนะส่วนใหญ่ ให้น้ำหนักไปที่นโยบายด้านเศรษฐกิจ การแก้ปัญหาปากท้อง แก้ปัญหาด้านความเหลื่อมล้ำ หนี้ครัวเรือน รวมไปถึงการเร่งการลงทุน แก้ปัญหาพลังงาน สิ่งแวดล้อม แก้ไขระบบการศึกษา ลดงบประมาณการซื้ออาวุธ ลดการคอร์รัปชัน การทุจริต ยุติความแตกแยกในสังคม และเตรียมรับมือกับปัญหาโลกร้อน ฯลฯ

ขอบคุณที่มา กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ : https://www.bangkokbiznews.com/business/business/1059845