ไม่พบผลการค้นหา
รองผู้ว่าแบงก์ชาติแนะลูกหนี้รายย่อย บัตรเครดิต-รถ-บ้าน-อื่นๆ สามารถเร่งติดต่อเจ้าหนี้เพื่อผ่อนภาระ ขณะผู้ประกอบการควรติดต่อสถาบันการเงินหาทางออกผลกระทบ สิ้นสุดการยื่นเรื่อง 30 มิ.ย.นี้

แม้รัฐบาลไม่ได้ประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์ทั่วประเทศอย่างเป็นทางการ ทว่าโควิด-19 ระบาดรอบใหม่ซึ่งมีชนวนสำคัญมาจากคลัสเตอร์แรงงานข้ามชาติในจังหวัดสมุทรสาครช่วงปลายปีที่ผ่านมาส่งผลกระทบกับประชากรไทยทั้งในฝั่งแรงงานและผู้ประกอบการซึ่งยังไม่ฟื้นตัวดีจากการปิดประเทศรอบก่อนอย่างมาก 

ล่าสุด รณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เผยว่าแบงก์ชาติมีการพูดคุยกับสถาบันการเงินในประเทศ ทั้งฝั่งธนาคารพาณิชย์ ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ ตลอดจนผู้ประกอบธุรกิจที่มิใช่สถาบันการเงิน เพื่อขยายระยะเวลาให้ลูกหนี้สามารถสมัครรับความช่วยเหลือเพิ่มตามจากวิกฤตโรคระบาดรอบใหม่ได้ โดยประกอบไปด้วย 2 มาตรการสำคัญ 

ธปท
  • รณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

ลูกหนี้รายย่อย 

สำหรับมาตรการแรกที่มีเป้าหมายเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อย แบงก์ชาติชี้ว่า หากลูกหนี้รายใดประสบปัญหาในการชำระหนี้คืนตามที่ตกลงกับเจ้าหนี้ไว้ สามารถยื่นคำร้องเพื่อให้เจ้าหนี้พิจารณาช่วยเหลือตามความเหมาะสมรายกรณีได้ถึงวันที่ 30 มิ.ย.นี้ 

รณดล ย้ำว่า วันที่ 30 มิ.ย.เป็นเพียงวันสุดท้ายในการยื่นคำร้องของความช่วยเหลือ แต่ระยะเวลาในการช่วยเหลือลูกหนี้แต่ละรายนั้น ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของสถาบันการเงินแต่ละแห่ง และสถานะทางการเงินรวมไปถึงการพิจารณาความสามารถในการชำระหนี้คือของลูกหนี้แต่ละราย 

นอกจากนี้ เพื่อความรวดเร็วในการยื่นเรื่อง นายจ้างหรือเจ้าของกิจการสามารถสมัครขอรับความช่วยเหลือแทนลูกหนี้ได้ เช่น ในกรณีสินเชื่อสวัสดิการ โดยต้องได้รับความยินยอมจากลูกหนี้ที่เป็นพนักงานหรือลูกจ้าง เพื่อให้การขอรับความช่วยเหลือของลูกหนี้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและทันเหตุการณ์

รายละเอียดของประเภทสินเชื่อที่ได้รับความช่วยเหลือในมาตรการรอบใหม่นี้ได้แก่ บัตรเครดิต, สินเชื่อส่วนบุคคลที่มีวงเงินหมุนเวียน อาทิ บัตรกดเงินสด, สินเชื่อส่วนบุคคลที่ผ่อนชำระเป็นงวดและสินเชื่อจำนำทะเบียบรถ, สินเชื่อเช่าซื้อ และสินเชื่อบ้าน 

สำหรับลูกหนี้บัตรเครดิตที่มีสถานะปกติไม่เป็นหนี้เสีย (ค้างชำระเกิน 3 เดือน) สามารถเปลี่ยนยอดสินเชื่อเป็นแบบระยะยาวได้ 48 งวด หรือ ขยายเวลาชำระหนี้ ขณะที่อัตราดอกเบี้ยต้องไม่เกิน 12% ขณะที่สินเชื่อบัตรกดเงินสดนั้น นอกจากเปลี่ยนเป็นสินเชื่อระยะยาวได้ในเวลาเท่ากัน ให้ลดอัตราดอกเบี้ยลงมาอยู่ไม่เกิน 22%

ด้านสินเชื่อผ่อนชำระเป็นงวดหรือสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ ให้ลดค่างวดลงอย่างน้อย 30% พร้อมคิดอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 22% ขณะที่สินเชื่อเช่าซื้อสามารถเลื่อนชำระค่างวดได้ 3 เดือน หรือให้ลดค่างวดลงแล้วไปขยายเวลาชำระหนี้แทน 

ท้ายสุด มาตรการเยียวยาสำหรับลูกหนี้สินเชื่อบ้านมีหลากหลายประเภท อาทิ การเลื่อนชำระค่างวดออกไป 3 เดือน (ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย) หรือการเลื่อนชำระเงินต้น 3 เดือน และให้พิจารณาลดอัตราดอกเบี้ยตามความเหมาะสม ไปจนถึงการลดค่างวดลงแต่ไปขยายเวลาชำระหนี้แทน 

ในกรณีที่ลูกหนี้อยู่ในสถานะหนี้เสีย (ผิดนัดชำระเกิน 3 เดือน) ให้พิจารณาปรับโครงสร้างหนี้เช่นเดียวกับโครงการคลินิกแก้หนี้ของแบงก์ชาติ

Update ขยายเวลามาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อ.jpg

หนี้ผู้ประกอบการ

สำหรับลูกหนี้ที่เป็นผู้ประกอบการราย่อยหรือเอสเอ็มอี รวมไปถึงลูกหนี้ธุรกิจขนาดใหญ่ รณดล ชี้ว่า มีจะมีหนังสือเวียนส่งถึงสถาบันการเงินเพื่อให้เร่งดำเนินการช่วยเหลือตามความเหมาะสม ตาม 4 แนวทางด้านล่าง ได้แก่ :

  • 1.ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ เช่น ลดค่างวด ขยายระยะเวลาชำระหนี้ ต่ออายุวงเงินหรือคงวงเงิน เปลี่ยนประเภทหนี้จากสินเชื่อระยะสั้นเป็นสินเชื่อระยะยาว ปลอดชำระเงินต้นและ/หรือดอกเบี้ยชั่วคราว ลดอัตราดอกเบี้ยให้ต่ำกว่าอัตราตลาด เป็นต้น
  • 2.ให้เงินทุนหมุนเวียนและเสริมสภาพคล่องเพิ่มเติม 
  • 3.พิจารณาชะลอการชำระหนี้สำหรับลูกหนี้ SMEs ที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 100 ล้านบาท ภายใต้ พ.ร.ก. soft loan 
  • 4.ผ่อนปรนเงื่อนไขอื่นตามความเหมาะสม

ทั้งนี้ หากไปดูรายละเอียดมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (soft loan) รอบก่อนวงเงิน 5 แสนล้านบาท ตามข้อมูลจาก ธปท.ล่าสุด วันที่ 4 ม.ค.พบว่า เพิ่มสินเชื่ออนุมัติแล้วด้วยวงเงินเพียง 1.23 แสนล้านบาทเท่านั้น โดยคิดเป็น จำนวนผู้ได้รับสินเชื่อ 73,848 ราย หรือเฉลี่ยเป็นการอนุมัติสินเชื่อรายละ 1.7 ล้านบาท