ไม่พบผลการค้นหา
'รังสิมันต์' มอง 'ทักษิณ' ไปเชียงใหม่ แค่อยากกลับบ้าน แต่กังขารัฐบาลชี้แจงเรื่องอาการป่วย ยันอภิปราย ม.152 ไม่ใช่หมัดแย็บ ขู่ถ้ารัฐบาลแจงไม่ได้ พรรคใหญ่อาจกลายเป็นพรรคเล็ก

วันที่ 14 มี.ค. ที่อาคารรัฐสภา รังสิมันต์ โรม สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีที่ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เดินทางไปที่ จ.เชียงใหม่ ว่าเป็นการส่งสัญญาณทางการเมืองหรือไม่ เพราะใกล้ช่วงเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) แล้วโดยระบุว่า เรื่องนั้นก็เป็นเรื่องที่หลายฝ่ายมองได้ แต่ส่วนตัวมองว่า ทักษิณ อาจจะอยากกลับบ้าน แต่สิ่งที่ต้องมองไปมากกว่านั้น ต้องยอมรับว่าได้ข้อมูลจากรัฐบาล ว่าทักษิณ มีอาการหนักมาโดยตลอด

"แต่ผ่านไปไม่กี่วัน กลับเดินทางไปต่างจังหวัดได้ จึงทำให้สังคมเกิดความคาใจ ว่ารัฐบาลนี้หลอกลวงหรือไม่ หากเป็นเช่นนั้นจะถือว่าเป็นรัฐบาลที่ใช้ไม่ได้ หากคุณทักษิณไม่ได้ป่วยจริง ก็เป็นเรื่องที่รัฐบาลจะต้องรับผิดชอบ" รังสิมันต์ กล่าว

ส่วนในเรื่องผลลัพธ์ทางการเมือง ก็ต้องยอมรับว่า ทักษิณ มีอิทธิพลต่อการเมืองไทยอย่างแน่นอน เวลาอภิปรายเรื่อง ทักษิณ ในสภา กับอภิปราย เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ก็จะเห็นปฏิกิริยาของ สส.พรรคเพื่อไทยที่แตกต่างกันคนละเรื่อง จนไม่แน่ใจว่าตกลงใครคือนายกรัฐมนตรี ใครไม่ใช่นายกรัฐมนตรี

ส่วนจะมีบทบาทไปถึงการเลือกตั้งอื่นๆ หรือไม่ เป็นสิ่งที่จะต้องมีการวางยุทธศาสตร์ทางการเมืองมากน้อยแค่ไหน เพราะสุดท้ายอาจจะเป็นเพียงเพราะว่า ทักษิณ อยากกลับบ้าน ตอนนี้จึงอยากโฟกัส ความซื่อสัตย์ ของรัฐบาลมากกว่า พร้อมยอมรับว่า ทักษิณ อาจจะไม่ได้รับความเป็นธรรมในหลายข้อ แต่การแก้ไม่ใช่การหลอกกัน แต่ควรมาคุยกันด้วยกติกาในเชิงระบบ 

เมื่อถามว่าจะนำเรื่องของ ทักษิณ ไปอภิปราย โดยไม่ลงมติ ที่เกิดขึ้นในต้นเดือน เม.ย. นี้หรือไม่ รังสิมันต์ ตอบว่า ตอนนี้อยู่ในช่วงพิจารณา การอภิปรายตามมาตรา 152 จะมีเรื่องอะไรบ้าง แต่เนื่องด้วยเป็นการอภิปราย แบบไม่ลงมติ จึงไม่ได้นำมาสู่การถอดถอนนายกรัฐมนตรี แต่ก็จะมีภาระทางการเมือง ที่รัฐบาลจะต้องตอบ ต้องยอมรับว่าสิ่งที่เกิดขึ้นตั้งแต่มีการจัดตั้งรัฐบาล คือ ประชาชนไม่เชื่อว่ารัฐบาลพูดความจริง และมาประกอบกับการตอบคำถามในเวทีอภิปราย ก็จะยิ่งสร้างความไม่เชื่อมั่นให้กับรัฐบาลชุดนี้ 

รังสิมันต์ ยืนยันว่า การอภิปรายครั้งนี้ ไม่ใช่หมัดแย็บแน่นอน แต่เป็นการอภิปรายในเรื่องที่สำคัญ เพราะอภิปรายตามมาตรา 152 เปรียบเสมือนการอภิปรายไม่ไว้วางใจ จากสถานการณ์ในตอนนี้ หากรัฐบาลไม่มีคำตอบที่ชัดเจน ประกอบกรณีของ ทักษิณ ก็จะยิ่งสร้างปัญหาให้รัฐบาลนี้มากยิ่งขึ้น ตนคิดว่าอย่าดูเบาในเรื่องนี้ พรรคการเมืองที่เคยใหญ่ก็สามารถกลายเป็นพรรคเล็กได้

รังสิมันต์โรม เผยว่า ใครจะเป็นผู้อภิปรายยังอยู่ในกระบวนการ แต่ค่อนข้างมีเวลาน้อยเพราะมีการอภิปรายเรื่องงบประมาณฯปี 2567 และในรัฐบาลนี้ไม่เหมือนรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ที่สามารถอภิปรายต่อตั้งแต่เป็นคณะรักษาความสงบแห่งชาติ( คสช.) 

ส่วนกรณีที่บอกว่าพรรคก้าวไกลไม่กล้าแตะที่ตัว ทักษิณ แต่ไปแตะที่กระบวนการแทนนั้น คิดว่าไม่เกี่ยวกัน ที่แตะกระบวนการเพราะยั่งยืน และเป็นคนละกรณีกับ พล.อ.ประยุทธ์ ที่เจาะจงตัวบุคคล เนื่องจากยึดอำนาจมาและสืบทอดอำนาจ แต่ในเรื่องที่ ทักษิณ กลับไทย มองเป็นเรื่องของกระบวนการที่ไม่เกิดขึ้นกับทุกคน และเป็นอภิสิทธิ์ชน สุดท้ายใครอยากได้แบบนี้ก็ต้องมีเส้นสายหรือเครือข่ายเข้าถึงส่วนกลางอำนาจได้ซึ่งไม่อยากให้เกิดขึ้น