ไม่พบผลการค้นหา
สามีภรรยาจ้างพี่เลี้ยงสาวมาดูแลลูกน้อยของพวกเขา แต่สิ่งเธอพบคือตุ๊กตาเพราะที่จริงลูกของทั้งสองได้ตายไปแล้ว เหวอไปกว่านั้นคือเธอยังคงทำงานต่อไปและปฏิบัติกับตุ๊กตาราวกับเป็นเด็กจริงๆ

กราฟอาชีพของผู้กำกับ 'เอ็ม ไนต์ ชยามาลาน' หรือที่คนไทยชอบเรียกกันว่า 'พี่มาโนช' น่าจะสะท้อนได้ดีถึงประโยคทำนองว่า "ชีวิตคนเรามีทั้งขึ้นและลง" ชยามาลานแจ้งเกิดอย่างสวยงามด้วยหนังหักมุมช็อคโลกอย่าง The Sixth Sense (1999) ต่อจากนั้นก็เดินหน้าทำหนังหักมุมที่สะสมความอิหยังว่ะไปเรื่อยๆ

ทั้ง Unbreakable (2000), Signs (2002), The Village (2004), The Happening (2008) และมาถึงจุดตกต่ำที่สุดกับหนังแอ็คชั่นอย่าง The Last Airbender (2010) และ After Earth (2013)

'ชยามาลาน' กอบกู้ชื่อเสียงตัวเองมาได้จากหนังทริลเลอร์ Split (2016) แม้ว่าภาคต่ออย่าง Glass (2019) จะได้เสียงตอบรับไม่ค่อยดี อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตว่าเมื่อใดที่ 'พี่มาโนช' ไปข้องเกี่ยวกับวงการโทรทัศน์ ซีรีส์นั้นๆ มักจะมีคุณภาพที่ดีในระดับหนึ่ง เช่น Wayward Pines ซีซั่นแรก (2015) ที่ชยามาลานเป็น executive producer และกำกับเฉพาะตอนแรก ซึ่งเขาทำแบบนี้อีกครั้งกับซีรีส์ Servant ที่กำลังฉายทาง Apple TV+


02 (1).jpg

Servant เพิ่งเริ่มออนแอร์เมื่อปลายพฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยปล่อยออกมาสามตอนในวันแรก (ทั้งหมดสิบตอนจบ) ข้อดีคือแต่ละตอนมีความยาวราวครึ่งชั่วโมงเท่านั้น ตามกระแสของโลกยุคนี้ที่คนทนดูอะไรนานๆ กันไม่ได้

ส่วนเนื้อเรื่องว่าด้วยสามีภรรยาครอบครัวเทอร์เนอร์ที่จ้างพี่เลี้ยงสาวนาม 'ลีแอนน์' มาดูแลลูกน้อยของพวกเขา ทว่าสิ่งที่ลีแอนน์เจอกลับเป็นตุ๊กตา เพราะที่จริงลูกของทั้งสองได้ตายไปแล้ว แต่สิ่งที่เหวอไปกว่านั้นคือลีแอนน์ยังคงทำงานของเธอต่อไปและปฏิบัติกับตุ๊กตาราวกับเป็นเด็กจริงๆ

ทั้งนี้ Servant ได้รับการอนุมัติให้สร้างซีซั่นสองตั้งแต่ยังไม่ออนแอร์ด้วยซ้ำ ตีความได้สองอย่างว่า หนึ่ง Apple TV+ มั่นใจในเรื่องนี้พอสมควร หรือสอง ตอนนี้คอนเทนต์ของ Apple TV+ ยังน้อยอยู่ และชื่อของชยามาลานก็พอจะเรียกแขกได้

ถึงกระนั้นซีรีส์ชุดนี้มีความดีงามอยู่ไม่น้อย จุดเด่นคือความสยองขวัญแบบที่ไม่ได้เน้นความตุ้งแช่ราคาถูก แต่จะเน้นไปที่ความหลอนและไม่น่าไว้วางใจเสียมากกว่า

ความหลอนหลักๆ ของ Servant เกิดจากงานด้านภาพ เหตุการณ์ทั้งเรื่องแทบจะเกิดขึ้นในบ้านของครอบครัวเทอร์เนอร์ที่เป็นบ้านของชนชั้นกลางที่เต็มไปด้วยพร็อพและเฟอร์นิเจอร์มากมาย การเห็นวัตถุหรือเงาบางอย่างชวนให้เสียวสันหลังวาบได้

นอกจากนั้น ไมค์ จิโอลาคิส ตากล้องของเรื่อง (ที่เคยฝากฝีมือไว้ในหนังอย่าง It Follows, Split และ Us) ยังใช้ภาพแบบชัดตื้น (Shallow focus) หรือ 'หน้าชัดหลังเบลอ' อยู่บ่อยครั้ง เงาเลือนรางในแบ็คกราวน์จึงยิ่งสร้างความไม่สบายใจกับผู้ชม


03.jpg

เทคนิคของจิโอลาคิสหนักข้อมากที่สุดในตอนแรกของซีรีส์ที่ถ่ายโคลสอัพใบหน้าของตัวละครเกือบทั้งตอน ทำให้เกิดความรู้สึกอึดอัดและเหวอไปกันใหญ่ (แต่ในตอนถัดๆ มาเทคนิคนี้จะเบามือลง ไม่งั้นคนดูคงทนไม่ไหว) การใช้โคลสอัพยังส่งผลดีกับการถ่าย 'เนลล์ ไทเกอร์ ฟรี' ผู้รับบทพี่เลี้ยง เนื่องจากเธอเป็นสาวใบหน้าพิศวง มีทั้งความใสซื่อและอันตรายซ่อนอยู่ เป็นวิธีการเดียวกับตอนที่จิโอลาคิสถ่ายใบหน้าของ 'อันยา เทเลอร์-จอย' ในเรื่อง Split

ตอนนี้ก็เหลือลุ้นว่า Servant จะดำเนินเรื่องต่อไปอย่างไร จะหักมุมแบบน่าขัดใจหรือจบแบบปาหมอนหรือไม่ ทั้งที่อุตส่าห์ตั้งต้นมาได้ดีขนาดนี้ แต่นอกจากจะเป็นการคัมแบ็คสู่จอแก้วของชยามาลานแล้ว Servant ยังเป็นหนึ่งในผู้เล่นของ 'สงครามสตรีมมิ่ง' (Streaming War) ด้วย


04.jpg

อย่างที่เห็นชัดเจนว่าวงการสตรีมมิ่งตอนนี้แข่งกันดุเดือดมาก ทั้งฝั่งเพลงระหว่าง Apple Music, Spotify และ YouTube Music ที่เพิ่งเปิดตัวในไทย ส่วนฝั่งโทรทัศน์ (จริงๆ ใช้คำว่าโทรทัศน์ก็ไม่ค่อยถูก เพราะคนรุ่นใหม่ไม่ได้ดูซีรีส์ผ่านทีวีแล้ว) แต่เดิมก็เป็นศึกเดือดระหว่าง Netflix, Hulu, Amazon Prime อยู่แล้ว

ล่าสุดยังมี Apple TV+ และ Disney+ มาแจมให้อีรุงตุงนังไปอีก แถมพฤษภาคมปีหน้าจะมี HBO Max ที่มีแอนิเมชั่นเก่าๆ ของค่ายจิบลิให้ดูด้วย

ดูเผินๆ ก็เป็นผลดีต่อผู้ชมที่มีตัวเลือกหลากหลาย แต่สิ่งที่ตามมาคือภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น เพราะแต่ละเจ้าเน้นคอนเทนต์แบบ exclusive ทำนองว่าเรื่องนี้เรื่องนั้นฉายเฉพาะสตรีมมิ่งของฉัน ถ้าเป็นคนรสนิยมกว้างขวางหรืออยากดูมันเสียทุกอย่าง อาจต้องจ่ายค่าสมาชิกสตรีมมิ่งทุกเจ้ารวมเป็นหลักพันบาทต่อเดือน แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนจะจ่ายไหวหรือเต็มใจจะจ่าย สิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้ คือยิ่งผู้ให้บริการสตรีมมิ่งมากขึ้นเท่าไร คนก็ยิ่งกลับไปหาการโหลดบิต

บิตทอร์เรนต์เคยมีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ในช่วงกลางทศวรรษ 2010 Vice รายงานว่า ช่วงปี 2011 ถึง 2015 ทราฟฟิกของบิตทอร์เรนต์ในสหรัฐอเมริกาลดลงจาก 52.01 เป็นร้อยละ 26.83

อย่างไรก็ดี ในช่วงปลายทศวรรษที่สงครามสตรีมมิ่งหนักข้อขึ้น เว็บไซต์ทอร์เรนต์ก็กลับมาคึกคักอีกครั้ง จากบทสำรวจ ผู้บริโภค 6,634 คน ร้อยละ 70 มีความเห็นว่าช่องสตรีมมิ่งมีจำนวนมากเกินไป และร้อยละ 87 มองว่ามันแพงเกินไปที่จะสมัครทุกเจ้า

ส่วนเส้นทางของฝั่งของผู้ให้บริการก็ไม่ได้สวยหรูนัก ตอนนี้ Apple TV+ ยังไม่มีซีรีส์ที่ได้รับความนิยมแบบเปรี้ยงปร้าง ส่วน Disney+ แม้จะมีผู้สมัครถึง 10 ล้านรายตั้งแต่วันแรกด้วยจุดขายอย่าง The Mandalorian ที่เป็นแฟรนไชส์ของ Star Wars แต่ก็ยังไม่มีเรื่องอื่นที่น่าสนใจ (พวกตระกูล Marvel จะเริ่มมาปี 2020) ถึงกระนั้นการลงทุนในสตรีมมิ่งมีลักษณะระยะยาว ไม่ได้คืนทุนหรือกำไรในเวลาสั้น อย่างที่เห็นว่าแต่ละเจ้าวางโปรแกรมยาวไปอีกหลายปี

ดังนั้น นี่จึงเป็น 'สงครามอันยาวนาน' ของเหล่าผู้ทุนหนาทั้งหลาย ไม่ว่าจะ Disney, Apple หรือ Amazon

บทความของ Vice ยังระบุด้วยว่าภายในปี 2022 ช่องโทรทัศน์หลักๆ จะลงมาแข่งขันในตลาดสตรีมมิ่งทั้งหมด ดังนั้นสงครามนี้น่าจะมีการเสียเลือดเสียเนื้อกันไม่น้อย น่าติดตามกันต่อไปว่าใครจะเป็นผู้แพ้หรือผู้ชนะ แต่ก็ต้องระวังว่าตัวเรานั้นจะเป็นเพียง 'ผู้ชม' หรือกลายเป็น 'เหยื่อ' ไปด้วย