พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2563 เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำแล้งและผลการดำเนินงานแก้ไขปัญหาน้ำแล้งของหน่วยงานภายใต้กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ กล่าวถึงการบริหารจัดการน้ำภาคตะวันออกเพื่อไม่เกิดปัญหาขาดแคลนน้ำ จากการประเมินสถานการณ์ของกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ พบว่า มีอ่างเก็บน้ำจำนวน 2 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล จ.ระยอง และอ่างบางพระ จ.ชลบุรี ที่หากไม่มีมาตรการบริหารจัดการน้ำที่ชัดเจนอาจส่งให้ปริมาณน้ำไม่เพียงพอถึงสิ้นเดือน มิ.ย.ได้
ที่ประชุมวันนี้ (14 ก.พ.) ได้เห็นชอบใน 5 มาตรการหลัก พร้อมมอบหมายหน่วยงานรับผิดชอบที่ชัดเจนในการป้องกันก่อนปัญหาขาดแคลนน้ำจะเกิดขึ้น คือ
1. มอบหมายการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) บมจ.จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก (EASTW) และ นิคมอุตสาหกรรมปรับลดการใช้น้ำ 10%
2. ให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ปรับลดปริมาณการใช้น้ำผลิตกระแสไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมลดลงในภาคตะวันออก
3. กรมชลประทานประสาน กปภ. และ อีสท์วอเตอร์ จัดหาแหล่งน้ำสำรองจากภาคเอกชน เพื่อให้สามารถใช้น้ำได้ถึงสิ้นสุดเดือนมิถุนายน
4. ให้กรมชลประทานพิจารณาผันแหล่งน้ำจากข้างเคียงมาเติมอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล
5. ให้ กปภ.เร่งรัดดำเนินการก่อสร้างตามแผนงานที่ได้รับสรรงบกลางแก้ไขปัญหาภาวะขาดแคลนน้ำเพิ่มเติมให้แล้วเสร็จโดยเร็ว
อีกทั้งได้สั่งการเพิ่มการผันน้ำจากลุ่มน้ำแม่กลองมายังลุ่มน้ำเจ้าพระยา จากการติดตามการบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา เพื่อให้มีคุณภาพน้ำที่เหมาะสมสำหรับการอุปโภค บริโภคไปจนถึงปลายเดือน มิ.ย. 2563 และได้สั่งการให้กองอำนวยการน้ำแห่งชาติดำเนินการผันน้ำจากลุ่มน้ำแม่กลองมายังลุ่มน้ำเจ้าพระยาเพิ่มเติมจากแผนเดิมอีก 500 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ไปจนถึงเดือน มิ.ย. นี้ จากเดิมที่มีการผันน้ำจากลุ่มน้ำแม่กลองแล้ว 500 ล้าน ลบ.ม. เพื่อป้องกันปัญหาน้ำทะเลรุกตัวเข้ามายังแม่น้ำเจ้าพระยา
นอกจากนี้ ได้มอบหมายให้กรมชลประทาน กฟผ. และการประปานครหลวง (กปน.) ควบคุมการบริหารจัดการน้ำอย่างรอบคอบ รวมถึงป้องกันและเฝ้าระวังการสูญเสียน้ำระหว่างการผันน้ำจากลุ่มแม่กลองมายังลุ่มเจ้าพระยาอย่างใกล้ชิดด้วย
พล.อ.ประวิตร ย้ำว่า ในส่วนของการดำเนินงานโครงการปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้ง ปี 2562/63 (งบกลาง) จำนวน 2,041 โครงการ ได้เน้นย้ำหน่วยงานเมื่อได้รับการจัดสรรงบประมาณแล้วให้เร่งดำเนินการตามแผนปฏิบัติงานให้สำเร็จตามเป้าหมาย อาทิ การขุดเจาะบ่อบาดาล จัดหาแหล่งน้ำผิวดิน ซ่อมแซมระบบประปา เป็นต้น พร้อมทั้งรายงานความก้าวหน้า แผนการใช้จ่ายงบประมาณ รวมถึงประโยชน์ที่ประชาชนได้รับในทุกโครงการให้กองอำนวยการน้ำแห่งชาติรับทราบเป็นระยะ ๆ เพื่อเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในลำดับต่อไปด้วย
ด้านนายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของการจัดทำแผนงาน/โครงการเร่งด่วนเพื่อเก็บกักน้ำในฤดูฝนปี 2563 ที่ประชุมวันนี้ยังได้รับทราบความก้าวหน้าการจัดทำแผนงาน/โครงการเร่งด่วนตามที่ 10 หน่วยงานส่วนกลาง รวมถึงหน่วยงานส่วนท้องถิ่น 69 จังหวัด นำได้เสนอแผนงาน/โครงการเรียบร้อยแล้ว
ขณะนี้อยู่ในระหว่าง สทนช.ดำเนินการวิเคราะห์ กลั่นกรอง ตรวจสอบโครงการ ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อขออนุมัติในหลักการภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้ ทั้งนี้ สทนช. ได้กำหนดจัดงานประชุมชี้แจงและมอบนโยบายการบริหารจัดการภัยแล้งแบบบูรณาการและเตรียมการเก็บน้ำในฤดูฝนปี 2563 ช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้ โดยมีพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เป็นประธานมอบนโยบายเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจ แนวทางการดำเนินงานในการขับเคลื่อนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำให้เกิดเป็นรูปธรรมและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง และเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์น้ำในฤดูฝน ปี 2563 ควบคู่กันด้วย