ไม่พบผลการค้นหา
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เผยศาลสั่งไม่ให้ฎีกา คดีนักกิจกรรมกลุ่ม NDM ฟ้อง เจ้าหน้าที่รัฐ กรณีสลายการชุมนุมหน้าหอศิลป์ฯ เมื่อปี 2558 เนื่องจากศาล เห็นว่าไม่เป็นปัญหาที่เกี่ยวพันกับประโยชน์สาธารณะ

16 ม.ค. 2563 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า วันนี้ ที่ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ได้นัดฟังคำสั่งของศาลฎีกา ในคดีที่กลุ่มนักศึกษานักกิจกรรมรวม 13 คน ในนามขบวนการประชาธิปไตยใหม่ (NDM) ได้แก่ นายรังสิมันต์ โรม, น.ส.ชนกนันท์ รวมทรัพย์, นายกรกช แสงเย็นพันธ์, น.ส.ชลธิชา แจ้งเร็ว, นายณพัทธ์ นรังศิยา, นายธีระชัย ศาลเจริญกิจถาวร, นายกรกนก คำตา, นายรัฐพล ศุภโสภณ, นายปณต ศรีโยธา, นายกันต์ แสงทอง, นัชชชา กองอุดม, นายอภิสิทธิ์ ทรัพย์นภาพันธ์, และนายปกรณ์ อารีกุล เป็นโจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายทางละเมิดจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กองทัพบก และสำนักนายกรัฐมนตรี จากการสลายการชุมนุมในกิจกรรมรำลึก 1 ปีรัฐประหาร 22 พ.ค. หน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เมื่อปี 2558 โดยศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ฎีกา ยกคำร้อง และไม่รับฎีกาที่ฝ่ายโจทก์ยื่นฎีกาเอาไว้ 

โดยศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษากันแล้ว เห็นว่า ฎีกาของโจทก์ทั้งสิบสาม ไม่เป็นปัญหาสำคัญที่ศาลควรวินิจฉัย เพราะไม่เป็นปัญหาที่เกี่ยวพันกับประโยชน์สาธารณะ หรือความสงบเรียบร้อยของประชาชน และไม่เป็นกรณีที่คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยข้อกฎหมายสำคัญที่ไม่สอดคล้องกับความตกลงระหว่างประเทศที่มีผลผูกพันกับประเทศไทย ทั้งพิจารณาแล้วไม่อาจมีผลเปลี่ยนแปลงตามสาระสำคัญในคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์

“จึงมีคำสั่งไม่อนุญาตให้โจทก์ทั้งสิบสามฎีกา ยกคำร้อง และไม่รับฎีกาของโจทก์ทั้งสิบสาม โจทก์ทั้งสิบสามยืนฎีกาโดยได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล จึงไม่มีค่าขึ้นศาลที่จะคืนให้ ค่าฤชาธรรมเนียมอื่นให้เป็นพับ“

คดีนี้สืบเนื่องจากการที่กลุ่มนักศึกษาจัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์รำลึกการครบรอบ 1 ปีหลังรัฐประหาร ที่หน้าหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร โดยนัดประชาชนใส่เสื้อสีขาวพร้อมพกสิ่งบอกเวลา อาทิเช่น นาฬิกาข้อมือ , โทรศัพท์, นาฬิกาทราย, นาฬิกาแขวนผนังบ้าน, ปฏิทิน ฯลฯ แล้วมาร่วมยืน นั่ง นอน มองเงียบ ๆ เป็นเวลา 15 นาที โดยจะรวมตัวกันในเวลา 18.00 น. และจบกิจกรรมร่วมกันในเวลา 18.15 น. ด้วยการเปล่งเสียงเพียงครั้งเดียวในกิจกรรมพร้อมกันว่า “เวลาที่ผ่านมา 1 ปี เป็น “1 ปีที่….สำหรับคุณ”

นักศึกษาและนักกิจกรรม ซึ่งเป็นผู้ฟ้องคดีนี้รวม 13 คน ถูกเจ้าหน้าที่รัฐใช้กำลังขัดขวาง และควบคุมตัว ใน สน.ปทุมวัน เป็นเวลาถึง 10 ชั่วโมง โดยไม่มีอำนาจควบคุมตัว

ต่อมา วันที่ 18 พ.ค.2559 กลุ่มนักศึกษาและนักกิจกรรมทั้ง 13 คน ได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐ ได้แก่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กองบัญชการกองทัพบก และสำนักนายกรัฐมนตรี ต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ในข้อหาความผิด ตามพ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 เพื่อเรียกค่าเสียหายและค่าสินไหมทดแทน เป็นจำนวนเงินกว่า 16 ล้านบาท เนื่องจากโจทก์เห็นว่าจำเลย-เจ้าหน้าที่รัฐ จงใจกระทำการละเมิด จนทำให้ฝ่ายโจทก์ได้รับความเสียหาย ไม่สามารถใช้เสรีภาพในการชุมนุมได้ และเข้าข่ายเป็นการละเมิดต่อร่างกายและเสรีภาพ และเพื่อต้องการแสดงให้เห็นว่า “เจ้าหน้าที่รัฐจะต้องไม่ละเมิดสิทธิประชาชนแบบนี้อีก”

กระทั่ง วันที่ 30 ต.ค. 2560 ศาลชั้นต้นได้พิพากษายกฟ้อง เนื่องจากเห็นว่า เจ้าหน้าที่จับกุมและควบคุมตัวโจทก์ทั้ง 13 คนโดยชอบ ความเสียหายเกิดจากโจทก์ทั้ง 13 คนขัดขืนการจับกุมของเจ้าหน้าที่ ต่อมาโจทก์ยื่นอุทธรณ์ และวันที่ 24 ม.ค. 2562 ศาลอุทธรณ์ยกฟ้องยืนตามศาลชั้นต้น โจทก์จึงดำเนินการยื่นฎีกาต่อ กระทั่ง ศาลฎีกาไม่รับฎีกาในวันนี้