นิกเกอิเอเชี่ยนรีวิว สื่อวิเคราะห์เศรษฐกิจและการเมืองของญี่ปุ่น เผยแพร่รายงานพิเศษ Populist curse hangs over Thai economy as public awaits election โดยระบุว่า 'คำสาปประชานิยม' ยังปกคลุมเหนือระบบเศรษฐกิจไทย ในขณะที่คนในสังคมส่วนใหญ่กำลังรอการเลือกตั้งครั้งใหม่ ทั้งยังอ้างอิงดัชนีผลิตภาพแรงงานของไทย เปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงจีน พบว่าการเติบโตของผลิตภาพแรงงานไทยนั้นตามหลังหลายประเทศ ทั้งจีน อินเดีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย
กรณีดังกล่าวเป็นผลสืบเนื่องจากช่วงปี 2543-2559 ที่ประเทศไทยพึ่งพาปัจจัยภายนอกมากเกินไปเพื่อให้เกิดการเติบโตของระบบเศรษฐกิจ เช่น พึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยว การส่งออก และต้องอาศัยกำลังแรงงานต่างด้าวในภาคอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมการประมงและการก่อสร้าง
นอกจากนี้ การส่งเสริมนโยบายประชานิยมของรัฐบาลไทยหลายสมัย ก็ถือว่าเป็นอุปสรรคในการเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพของบุคลากรในประเทศ โดยเฉพาะด้านการเกษตรและเทคโนโลยี โดยนิกเกอิเอเชี่ยนรีวิวได้เผยแพร่บทสัมภาษณ์ ดร. สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ซึ่งระบุว่า นโยบายประชานิยมของรัฐบาลในอดีต โดยเฉพาะรัฐบาล น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ส่งผลให้เกษตรกรหวังพึ่งพิงเงินช่วยเหลือหรือเงินอุดหนุนจากรัฐบาลมากจนเกินไป และเมื่อวันหนึ่งไม่ได้รับการสนับสนุนก็ไม่สามารถทำอะไรได้ ต้องกลายเป็นเหยื่อของนโยบายประชานิยม
ขณะเดียวกัน ระบบการศึกษาของไทยไม่ได้มุ่งเน้นการเรียนการสอนด้านเทคโนโลยีหรือวิทยาศาสตร์มากเพียงพอ เพราะแม้คนหนุ่มสาวในวัยทำงานของไทยจะจบการศึกษาในระดับปริญญาตรีกันเป็นจำนวนมาก แต่ก็มักจะเป็นผู้ที่เรียนจบจากสายศิลปศาสตร์และมนุษยศาสตร์ แต่ผู้ที่มีความรู้ด้านเทคโนโลยีต่างๆ กลับมีไม่เพียงพอ และกลุ่มคนเหล่านี้ก็ไม่คิดจะทำงานในระบบอุตสาหกรรม เช่น โรงงานต่างๆ ทำให้เกิดภาวะขาดแคลนแรงงานหลายสาขาอาชีพที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ด้านนายอาคิโอะ เอกะวะ ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยโมโมะยะมะกักคุอิน ในนครโอซากาของญี่ปุ่น วิเคราะห์ว่า รัฐบาลทหารไทยที่เคยพยายามหลีกเลี่ยงการใช้นโยบายประชานิยมในช่วงแรกๆ โหมกระหน่ำนโยบายประชานิยมครั้งใหญ่ช่วงก่อนที่จะมีการเลือกตั้งในปีนี้ โดยเขาได้ยกกรณีตัวอย่างการใช้งบประมาณกว่า 1,000 ล้านบาทอุดหนุนเกษตรกรสวนปาล์มและกระบวนการผลิตปาล์มน้ำมัน ซึ่งประสบปัญหาผลผลิตล้นตลาด เป็นเหตุให้ราคาตกต่ำ รวมถึงการแจกเงินแก่ผู้มีรายได้น้อยรวมกว่า 14.5 ล้านคน คนละ 500 บาท ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นการเดินตามรอยนโยบายประชานิยมของอดีตรัฐบาลชุดก่อนหน้า
อย่างไรก็ตาม นักวิชาการทั้งไทยและญี่ปุ่นเตือนว่า การใช้นโยบายประชานิยมโดยไม่ได้ปฏิรูปหรือปรับปรุงระบบการศึกษาและการว่าจ้างแรงงานภายในประเทศ จะไม่ช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระยะยาว ทั้งยังไม่อาจทำให้ไทยเพิ่มผลิตภาพแรงงานได้ และจะทำให้ไทยติดอยู่ในกับดักรายได้ปานกลางต่อไป
นายกอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย ระบุว่า ที่ผ่านมา เกษตรกรในไทยไม่มีความสามารถในการแข่งขันด้านการตลาด และไม่มีการเติบโตด้านผลิตภาพมากนัก เพราะเกษตรกรส่วนใหญ่ไม่ได้มีการศึกษาในระดับสูง และรัฐบาลที่ผ่านมาก็ล้มเหลวด้านการปฏิรูประบบการศึกษา จึงไม่สามารถส่งเสริมผู้ที่มีความสามารถในแวดวงอาชีพต่างๆ ให้สามารถพัฒนาต่อยอดได้
นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีปัญหาด้านเสถียรภาพทางการเมือง และยังไม่อาจแน่ใจได้ว่าการเลือกตั้งในปี 2562 นี้จะสามารถจัดขึ้นในวันที่ 24 ก.พ.ตามที่เคยคาดการณ์ไว้ล่วงหน้าได้ และหลังจากที่ได้รัฐบาลใหม่มาจากการเลือกตั้ง ประเทศไทยต้องผ่านบททดสอบให้ได้ โดยจะต้องไม่มีความขัดแย้งทางการเมืองเกิดขึ้นใหม่ จนเป็นเหตุให้เกิดการรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลอีกครั้ง
ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 4 ม.ค. นิกเกอิเอเชี่ยนรีวิวเคยรายงานเอาไว้ว่า การเลือกตั้งที่จะจัดขึ้นในไทยปีนี้มีความสำคัญอย่างมาก เพราะจะเป็นตัวชี้วัดว่าไทยจะสามารถกลับสู่ความมีเสถียรภาพทางการเมืองได้หรือไม่
ขณะที่ประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชีย เช่น ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และอินเดีย กำลังจะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นในปีนี้เช่นกัน โดยฟิลิปปินส์จะมีการเลือกตั้งผู้ว่าการ ส่วนอินเดียและอินโดนีเซียจะมีเลือกตั้งทั่วไปและเลือกตั้งประธานาธิบดี ซึ่งเซาท์ไชน่ามอร์นิงโพสต์ สื่อฮ่องกง รายงานว่า รัฐบาลในประเทศเหล่านี้ต่างก็สนับสนุนนโยบายประชานิยมเพิ่มมากขึ้น เพราะเป็นหนึ่งในหนทางที่จะเพิ่มคะแนนนิยมในตัวรัฐบาล
อย่างไรก็ตาม นโยบายเอาใจประชาชนไม่สามารถใช้ได้ตลอดไป แต่่ต้องประเมินสถานการณ์ในระยะยาว เพื่อวางระบบโครงสร้างพื้นฐานในด้านต่างๆ ของประเทศให้สามารถเป็นที่พึ่งของประชาชนได้