วันที่ 7 ก.ย. 2565 ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (แก้ไขเพิ่มเติม) จำนวน 4 ฉบับ ในวาระที่ 1 ขั้นรับหลักการ ประกอบด้วย ฉบับที่ 1 ร่างแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 43 เพิ่มมาตรา 25 วรรคห้า แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 29 เพิ่มมาตรา 29/1เกี่ยวกับสิทธิชุมชน
ฉบับที่ 2 ร่างแก้ไขเพิ่มเติม หมวดว่าด้วยสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย มาตรา 34 มาตรา 44 มาตรา 45 มาตรา 47 และมาตรา 48
ฉบับที่ 3 ร่างแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 159 วรรคหนึ่ง และมาตรา 170 วรรคสอง เกี่ยวกับที่มานายกรัฐมนตรีมาจาก ส.ส. ซึ่ง นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทยและคณะเป็นผู้เสนอ และ ฉบับที่ 4 ร่างแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 272 ซึ่ง สมชัย ศรีสุทธิยากร กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน 64,151 คน เป็นผู้เสนอ เป็นการพิจารณาในวาระที่หนึ่ง
โดย สุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานวิปฝ่ายค้าน อภิปรายสรุปร่างฯ แก้ไขมาตรา 159 ว่าด้วยคุณสมบัติของนายกรัฐมนตรี ให้ต้องเป็น ส.ส.และอยู่ในบัญชีรายชื่อของพรรคที่จะเสนอ โดยหลักใหญ่ใจความคือให้ยึดโยงกับประชาชน
สุทิน กล่าวว่า อาจมี ส.ว.บางท่านมองว่าแก้ไขเป็นอุดมคติเกินไปหรือไม่ ตนยอมรับว่าใช่ เพราะหากระบอบประชาธิปไตยไม่ยึดโยงกับอุดมคติ ก็คงไม่อาจออกแบบระบบที่เหมาะสมได้ อย่างไรก็ตาม ก็ไม่ได้ละเลยในข้อเท็จจริงและรูปแบบ อุดมคติจะกินได้ต้องยึดโยงกับประชาชน ผู้บริหารสูงสุดของประเทศต้องผ่านการตรวจสอบคัดกรองจากประชาชนมาอย่างดี คนจะเป็น ส.ส.ย่อมผ่านการคัดกรองมาแล้วขึ้นหนึ่ง จากนั้นต้องผ่านการคัดจากสภาฯ เพื่อให้ได้คนที่ดีที่สุด
“เมื่อไปเป็น ส.ส.แล้ว คำพระท่านว่า วิสาสา ปรมา ญาติ (ความคุ้นเคยเป็นญาติอย่างยิ่ง) คนไปกราบไหว้ เดินหาประชาชนแล้ว ก็จะเป็นญาติ จะเข้าอกเข้าใจ คุ้นเคยผูกพันกัน ก็จะรู้ซึ้งถึงปัญหาประชาชน รู้จิตใจประชาชน ท่านอาจจะบอกว่าไม่ต้องไปเลือกตั้งก็รู้จากการอ่าน จากคำบอกเล่า มันไม่สู้รู้จากการเป็นญาติ ถ้าได้ผู้บริหารประเทศที่เป็นญาติกับประชาชนแล้ว จะรู้เข้าใจ และผูกพัน”
“นายกฯ ที่ไม่ได้มาจากผู้แทนราษฎร เราอาจจะมองว่าดี ต้องไปถามชาวบ้านว่าดีไหมสำหรับเขา ดีสำหรับเรา หรือดีสำหรับชาวบ้าน ถ้าดีสำหรับชาวบ้านต้องไปลงเลือกตั้งดู แต่ถ้าดีสำหรับพวกเรา คนอีกชั้นหนึ่งที่ไม่ได้เลือกตั้ง อาจจะหลงรูปจูบภาพว่าดี” สุทิน กล่าว
สำหรับการประชุมรัฐสภา 2 วันนี้ เมื่อมีกระทบกระทั่งกัน ก็อาจเกิดการน้อยเนื้อต่ำใจ นำมาสู่การประเมินว่าจะผ่านหรือไม่ ซึ่ง สุทิน เชื่อว่า น่าจะถูกปัดตกทั้ง 4 ร่าง เพราะเสียงส่วนใหญ่อยู่อีกฟาก ซึ่งยืนยันว่าจะไม่รับ และตนก็น้อมรับ แต่หากอ้างว่าจะไม่รับเพราะถูกตบกระโหลก ถูกเหน็บแนม เพราะโกรธแค้นไม่สบอารมณ์กัน ตนเห็นใจ แต่หากตกด้วยอารมณ์เช่นนี้ จะน่าผิดหวังสำหรับประชาชน
“ผมอยากให้แยกแยะว่า อะไรคืออารมณ์ที่ท่านเจ็บ อะไรคือเหตุผลที่ประชาชนควรได้รับ ถ้าหากประชาชนจะได้ประโยชน์ ท่านก็ลงคะแนน ถ้าความเจ็บส่วนตัว แยกไว้ว่ากันทีหลังได้ไหม หรือถ้ายังตัดใจไม่ลง อารมณ์เอามาพูดเป็นเหตุ ว่าจะไม่ลง ก็ควรเก็บไว้นะ ไม่ควรพูด พูดปุ๊บเป็นเด็กเลยนะ จากวุฒิสมาชิก จะกลายเป็น คิดติสมาชิก” สุทิน ระบุ
สุทิน กล่าวว่า ส.ส.อาจจะพูดจารุนแรงไปบ้าง เพราะ ส.ส.คือเงาสะท้อนของประชาชน ความโกรธแค้นไม่พอใจ ล้วนถ่ายทอดมาจากประชาชน ถ้าประชาชนมีความเคียดแค้นชิงชัง ในสภาจะมาอวยกันอยู่ก็ไม่ได้ หาก ส.ว.ลองฟังเสียงประชาชนจากข้างนอก ก็จะเห็นว่าไม่ต่างจากที่ ส.ส.อภิปราย
“สภาเป็นของไม่เที่ยง ก่อนหน้าท่านอาจจะเคยมีเกียรติยศสูง แต่เมื่อเข้ามาสภา พี่น้องประชาชนก็เสื่อมศรัทธา เป็นหลักทางพุทธศาสนาที่ต้องยอมรับ อดีตอาจจะดี ตอนนี้ไม่ แต่หากแก้รัฐธรรมนูญแล้ว ไม่แน่ว่าอาจจะกลับมาดี” สุทิน กล่าว
'สมชัย' ขอ ส.ว.วางภาระ ปลดอำนาจเลือกนายกฯ หวั่นแจกกล้วยลามมาถึง ส.ว.
จากนั้น ผู้ร่วมเสนอแก้ร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 272 ตัดอำนาจ ส.ว.เลือกนายกรัฐมนตรี ที่ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งร่วมกันลงชื่อ ได้สรุปปิดอภิปราย โดย แสนยากร สิงห์วีรธรรม ระบุว่า อยากให้ที่ประชุมพิจารณาในเรื่องของหลักการและสิ่งที่ควรจะเป็น ซึ่งตนสรุปไว้เป็น 4 ป. ประกอบด้วย ป.แรก คือเรื่องประชามติ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วง โดยคำถามพ่วงจะยึดโยงกับแผนปฏิรูปประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติ นำไปสู่การให้รัฐสภาเป็นผู้เลือกนายกรัฐมนตรี
โดย คำนูณ สิทธิสมาน ส.ว. ได้ระบุชัดว่าภารกิจที่จะนำไปสู่การปฏิรูป ที่มีการเชื่อมโยงไปถึงอำนาจในการร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีได้สิ้นสุดลงไปแล้ว ทำให้เป็นการย้ำชัดว่าอำนาจตามคำถามพ่วงที่ให้ ส.ว.เลือกนายกฯอาจจะไม่จำเป็นแล้วตั้งแต่ตอนนี้
ป.ที่ 2 เรื่องการปฏิบัตินิยม ซึ่งการใช้คะแนน ส.ว.เลือกนายกรัฐมนตรี ไม่สอดคล้องกับการปฏิบัติ เห็นได้จากการเลือกนายกรัฐมนตรีครั้งที่ผ่านมา ป.ที่ 3 คือความเป็นประชาธิปไตย โดยรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ระบุย้ำชัดว่ายึดมั่นในระบอบหลักการประชาธิปไตย ดังนั้นหากปล่อยให้มีการใช้กลไกที่ไม่จำเป็นในการเลือกนายกรัฐมนตรี อาจทำให้ขัดต่อรัฐธรรมนูญเอง และ ป.ที่ 4 คือความปรองดอง ตนหวังว่า สมาชิกวุฒิสภาจะถอดอำนาจเพื่อสร้างความปรองดอง เพราะมีคนจำนวนไม่น้อยถูกมองว่าสืบทอดอำนาจ เป็นนั่งร้านเผด็จการ
สมชัย ศรีสุทธิยากร ประธานยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนนโยบายพรรคเสรีรวมไทย ในฐานะผู้เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 272 อภิปรายว่า เราต้องเลิกมองอดีต แต่ต้องมองอนาคต ขณะเดียวกันก็ต้องเป็นห่วงคนที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งจะบริหารประเทศต่อไป โดยบุคคลเหล่านี้จะต้องเข้ามาอย่างมีศักดิ์ศรีมีเกียรติ ไม่ต้องห่วงหน้าพะวงหลัง
สมชัย ระบุต่อว่า ไม่อยากให้ ส.ว.ห่วงภาพลักษณ์ ว่าตนจะมีหน้ามีตาในสังคมอย่างไร จะเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างไร ควรเอาเหตุผลมาถูกเถียงกันให้เกิดประโยชน์สูงสุดจะดีที่สุด ตนมองว่าจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงการใช้อำนาจ ส.ว. ในการเลือกนายกรัฐมนตรี เพราะสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป 3 สาเหตุ
1.ความจำเป็นในเรื่องความต่อเนื่องในการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ และแผนปฏิรูปประเทศได้สิ้นสุดลงแล้ว
2.ความรู้สึกของประชาชน ไม่ว่า ส.ว. จะเลือกนายกรัฐมนตรีด้วยเหตุผลใด ประชาชนไม่ได้รู้สึกว่าเลือกด้วยความเป็นกลาง แต่เป็นการฝักใฝ่ทางการเมือง และข้อกล่าวหาอาจจะยิ่งรุนแรงขึ้น
3.ถึงเวลาที่ ส.ว.ต้องปล่อยวางสัมภาระที่แบกวนหลังที่หนัก ไม่จำเป็นไม่เกิดประโยชน์ และยังเป็นผลเสียด้วยการร่วมลงมติเห็นชอบในการแก้มาตรา 272 และทำหน้าที่ในสถานะวุฒิสภาอย่างเต็มที่ และเป็นที่ชื่นชมของประชาชนทั้งประเทศ
“อนาคต ถ้าหากว่าท่านเลือกนายกฯ แม้จะเป็นการเลือกจากตัวเลือกที่มาจากหัวหน้าพรรคการเมืองล้วนๆ ถึงเวลาอาจจะยิ่งแล้วใหญ่ ประชาชนอาจจะคิดว่าท่านได้รับผลประโยชน์จากการเลือกตั้งครั้งนั้น กล้วยจะไม่ใช่แจกกันในฝั่ง ส.ส. แต่จะแจกกันในฝั่ง ส.ว.” สมชัย ระบุ
‘สมชาย’ เตือนฝ่ายค้าน 4 ร่างฯ รธน.เจอคว่ำ รับไม่ได้ใช้คำพูดทิ่มแทง ส.ว.หนักเกิน
ขณะที่ก่อนหน้านี้ สมชาย แสวงการ ส.ว. อภิปรายโดยยืนยันไม่รับหลักการร่างฯ ทั้ง 4 ฉบับ เพราะเชื่อว่าร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามตินั้น เดินทางมาถูกต้องเหมาะสมแล้ว สิ่งใดที่ควรแก้ไขก็ได้แก้ไขแล้ว แต่การแก้ไขในร่างฯ ทั้ง 4 ฉบับ ล้วนมีปัญหาให้ต้องตามแก้ต่อ เช่น การแก้ไขมาตรา 272 ก็ได้เน้นย้ำว่าเป็นเพียงบทเฉพาะกาล และต้องเคารพประชามติที่ผ่านประชาชนมาแล้ว ในเมื่อประชามติมอบหมายตนมา พวกตนก็ต้องทำหน้าที่ต่อไป
รัฐธรรมนูญ 2560 ถูกออกแบบมาเพื่อแก้วงจรรัฐประหาร จึงต้องมีวุฒิสภามาช่วยแก้ไข ไม่ได้เพื่อชี้นำ แม้ตนไม่ได้ยึดโยงกับประชาชนด้วยการเลือกตั้ง แต่ก็ยึดโยงได้กับเรื่องอื่นมากมาย เลือกตั้งครั้งต่อไป ส.ส.ก็ควรรวมเสียงข้างมากกันให้ได้ ส.ว.ก็จะได้เลือกตามเสียงข้างมาก หลังจากนั้นรัฐธรรมนูญบทเฉพาะกาลก็จะหมดไป ไม่ต้องมาประชุมรัฐสภาให้สิ้นเปลืองกันเช่นนี้
“ผมอดทนอดกลั้นมา 2 วันเต็มๆ เดิมทีเราอยากเห็นสภาแห่งนี้เป็นที่พูดคุย แต่เราโดนตบกะโหลกมา 2 วัน ด่าทอ เสียดสี ก้าวร้าว ไม่เป็นไร เราก็จะอดทนต่อไป การจะให้ ส.ว.ช่วยลงมติ 1 ใน 3 นั้น เราก็สามารถทำได้ คราวที่แล้ว มาตรา 272 สมาชิกฯ ลงให้ถึง 56 คน ท่านก็เลยเพ้อเจ้อว่าจะเดินต่อไปให้ถึง 84 คนได้ แต่กลับใช้คำพูดที่ผมไม่อยากจะบอกว่า มีวาจาที่ส่อเสียดทิ่มแทงพวกเรามากเกินไป ในความเห็นผม คิดว่าเป็นตบกระโหลกแล้วลูบหลัง เพื่อให้แก้กฏหมายตามใจท่าน” สมชาย กล่าว
สมชาย ยืนยันว่า ในการเลือกตั้งครั้งหน้า ถ้าใครอยากจะผลักดันเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญอีก ตนก็ยินดี แต่ถ้าใครคิดว่าไม่สามารถรับกับกฎกติกาที่มีอยู่ได้ การเลือกตั้งครั้งหน้าก็อย่ากลับเข้าสภามาเจอกันอีก อย่าไปยอมรับกติกาจากประชามติที่หาว่าถูกบังคับ ถูกปืนจี้ต่างๆ ถ้าไม่เห็นด้วยก็อย่าลงเลือกตั้ง ไม่ใช่ว่าเกลียดปลาไหลกินน้ำแกง เพราะ ส.ส.ก็เข้าสภามาด้วยรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ฉบับเดียวกับ ส.ว.นี้