การซื้อขายผลิตภัณฑ์ดิจิทัลมือสองนั้นเป็นประเด็นมาหลายปีแล้ว โดยศาลแต่ละประเทศก็มีมุมมองต่อประเด็นนี้ต่างกันไป โดยปัญหาของการซื้อขายสินค้าดิจิทัลมือสองนั้น อยู่ที่สินค้าเหล่านี้เป็นไฟล์ดิจิทัลที่ไม่มีวันเสื่อมสลายหรือหมดไป ต่างจากสินค้าที่เป็นวัตถุจับต้องได้ เช่น หนังสือย่อมมีการเสื่อมตามเวลาด้วยความชื้นและอายุของกระดาษ อาจเปลี่ยนสี มีกลิ่น ยับ หรือขาด มีมูลค่าลดลงเมื่อแกะออกจากหีบห่อ ขณะที่อีบุ๊กนั้นเป็นไฟล์หนังสือที่อ่านผ่านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ไม่ว่าจะเปลี่ยนมือกี่ครั้งไฟล์ดังกล่าวก็ยังคงเดิมไม่เสื่อมเหมือนกระดาษ
คุณสมบัติที่ไม่เสื่อมสลาย มูลค่าจึงไม่ลดลง ส่งผลให้เกิดคำถามว่าการขายสินค้ามือสองดิจิทัลนั้นชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมหรือไม่ เนื่องจากสินค้ามือสองที่ไม่ต่างจากสินค้ามือหนึ่งจากผู้ผลิตเองเลย แต่อาจถูกขายได้ด้วยราคาที่ต่ำกว่าได้ จึงย่อมส่งผลกระทบต่อการค้าของผู้ผลิตและจัดจำหน่ายอย่างแน่นอน
ในกรณีของวิดีโอเกมที่เป็นไฟล์ดิจิทัลก็เกิดปัญหาลักษณะเดียวกันเมื่อสตีม (Steam) แพลตฟอร์มเกมรายใหญ่ถูกยูเอฟซี-เกอ ชัวซีร์ (UFC-Que choisir) กลุ่มคุ้มครองผู้บริโภคฝรั่งเศส ฟ้องร้องในเรื่องการจำกัดสิทธิการขายเกมที่ซื้อมาแล้วต่อในปี 2015
ทั้งนี้ สตีมเป็นแพลตฟอร์มจำหน่ายเกมดิจิทัล ของบริษัทวาล์ว คอร์ปอเรชั่น (Valve Corporation) ที่เป็นตัวกลางให้ผู้ผลิตเกมจัดจำหน่ายสู่ผู้เล่นหรือผู้ใช้งาน โดยสตีมจะเก็บส่วนแบ่งจากการขาย ปัจจุบันมีผู้ใช้งานถึง 1 พันล้านบัญชี และมีผู้ใช้งานสม่ำเสมอ 90 ล้านรายต่อเดือน
ล่าสุด วันที่ 17 กันยายน ศาลชั้นต้นกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศสตัดสินแล้วว่าผู้ซื้อเกมชาวยุโรปสามารถขายต่อเกมที่ซื้อผ่านสตีมเป็นสินค้ามือสองได้ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ต่างจากเกมแบบแผ่นหรือตลับ
ทั้งนี้ บริการจำหน่ายเกมผ่านแพลตฟอร์มสตีมนั้น แตกต่างจากการขายแผ่นหรือตลับเกม เนื่องจากเมื่อผู้ใช้งานต้องการเล่นเกมที่ซื้อผ่านสตีมนั้น จะต้องล็อกอินผ่านสตีม โดยสามารถเล่นผ่านคอมพิวเตอร์เครื่องอื่นได้ตราบเท่าที่เข้าสตีมผ่านไอดีที่ทำการซื้อเกมไว้ แต่หากไม่มีสตีมหรือไม่ได้ล็อกอินผ่านไอดีสตีม ก็จะไม่สามารถเล่นเกมที่ซื้อได้ต่อให้มีไฟล์อยู่ในเครื่องก็ตาม เป็นลักษณะของการซื้อสิทธิการใช้งานมากกว่าการซื้อสินค้า
ในคดีนี้ ทางทนายของวาล์ว จึงพยายามแย้งว่าแพลตฟอร์มสตีมเป็นการให้บริการซับสไครบ์ หรือสมัครรับข้อมูล (subscription service) ทว่าทางศาลปฏิเสธข้อต่อสู้ของวาล์วว่าการขายเกมของสตีมไม่ใช่ส่วนหนึ่งของการบริการซับสไครบ์ และเป็นการขายขาดสินค้าให้โดยถาวร ไม่มีการหมดอายุแบบบริการซับสไครบ์
ทางศาลฝรั่งเศสชี้อีกว่านโยบายจำกัดสิทธิการขายต่อเกมที่ซื้อมานั้น ขัดต่อกฎหมายของสหภาพยุโรปเกี่ยวกับสินค้าดิจิทัล ซึ่งออกมาเพื่อป้องกันการจำกัดการโยกย้ายสินค้าโดยเสรีภายในสหภาพ ซึ่งตามกฎของสหภาพยุโรปนั้นระบุว่าสามารถจำหน่ายสินค้าทุกชนิดรวมถึงซอฟต์แวร์ได้ โดยไม่ต้องได้รับการอนุญาตจากผู้ผลิตหรือผู้ค้ามือแรก
ตามคำตัดสินนี้ วาล์วมีเวลาหนึ่งเดือนในการปฏิบัติตามและแก้ไขข้อตกลงการใช้บริการ แม้ว่าจะมีแนวโน้มที่จะถูกเลื่อนออกไปเนื่องจากกระบวนการอุทธรณ์
ดั๊ก ลอมบาร์ดี ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดของวาล์ว ระบุว่าทางบริษัทมีแผนจะยื่นอุทธรณ์ต่อเพื่อสู้คดีที่อาจเปลี่ยนอนาคตของธุรกิจได้
"เราไม่เห็นด้วยกับคำตัดสินของศาลชั้นต้นกรุงปารีส และจะยื่นอุทธรณ์ คำตัดสินนี้จะไม่มีผลใดๆ กับสตีมระหว่างที่อุทธรณ์คดี" ลอมบาร์ดีระบุ
นโยบายในปัจจุบันของสตีมนั้นห้ามการขายต่อเกมที่ซื้อมาโดยเด็ดขาด ความพยายามใดๆ ในการขายต่อจะส่งผลให้ผู้ใช้ถูกระงับการใช้งานบัญชี
นอกจากการปรับแก้ข้อตกลงในการให้บริการแล้ว วาล์วต้องเผยแพร่คำตัดสินของศาลบนแพลตฟอร์มของสตีมเป็นเวลา 3 เดือน มิเช่นนั้นจะต้องจ่ายค่าปรับ 3,000 ยูโรต่อวัน (ประมาณ 1 แสนบาท) สูงสุด 6 เดือน หมายความว่าวาล์วอาจต้องจ่ายค่าปรับสูงุสด 540,000 ยูโร (ประมาณ 18 ล้านบาท)
อย่างไรก็ตาม มีการประเมินว่าในปี 2017 เพียงปีเดียว วาล์วมีรายได้ประมาณ 4.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 131,000 ล้านบาท)