วันที่ 10 ม.ค. 2566 ที่ทำเนียบรัฐบาล อนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวน 3,350,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณพ.ศ. 2566 ที่กำหนดไว้ที่ 3,185,000 ล้านบาท เป็นจำนวน 165 ล้านบาทหรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.18
สาระสำคัญงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ดังนี้
1. โครงสร้างงบประมาณรายจ่าย ประกอบด้วย (1) รายจ่ายประจำ จำนวน 2,508,990.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 จำนวน 106,451.2 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.43 และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 74.89 ของวงเงินงบประมาณรวม ลดลงจากงบประมาณปี 2566 ซึ่งมีสัดส่วน 75.43
(2) รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงค้าง จำนวน 33,759.1 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ซึ่งไม่มีการเสนอตั้งงบประมาณหรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 100 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 1.01 ของวงเงินงบประมาณรวม
(3.) รายจ่ายลงทุน จำนวน 690,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 จำนวน 520.1 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.08 และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 20.60 ของวงเงินงบประมาณรวม ลดลงจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 21.65
(4.) รายจ่ายชำระคืนเงินต้น จำนวน 117,250 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2566 จำนวน 17,250 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.25 และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 3.50 ของวงเงินงบประมาณรวม เพิ่มขึ้นจะปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ซึ่งมีสัดส่วน 3.14
2. รายได้สุทธิ จำนวน 2,757,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 จำนวน 267,000 ล้านบาทหรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.72
3. งบประมาณขาดดุล จำนวน 593,000 ล้านบาท ลดลงจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 จำนวน 102,000 ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 14.68 และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 3.00 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ลดลงจากปีงบประมาณพ.ศ. 2566 ซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 3.70
ทั้งนี้ วงเงินงบประมาณรายจ่ายจำนวน 3,350,000 ล้านบาท เท่ากับกรอบวงเงินตามแผนการคลังระยะปานกลาง ( ปีงบประมาณ 2567 - 2570) ที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 27 ธ.ค. 2565 สำหรับงบประมาณรายธ.ค. 2565 ลงทุนและงบประมาณรายจ่ายชำระเงินคืนต้นเงินกู้ มีสัดส่วนอยู่ภายในกรอบที่กำหนดตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐบาลพ.ศ. 2561
ทั้งนี้ หน่วยรับงบประมาณ จะส่งรายละเอียดคำของบประมาณฯ ให้สำนักงบประมาณภายในวันที่ 27 ม.ค. 2566 เพื่อพิจารณาต่อไป
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยังได้กล่าวเพิ่มเติมว่า ในที่ประชุม ครม. นายกรัฐมนตรียังกำชับ ทั้งการเพิ่มประสิทธิภาพการเบิกจ่ายงบประมาณ โดยเฉพาะรายจ่ายลงทุนให้มีการเบิกจ่ายรวดเร็วเพื่อ ให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด รวมทั้งนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ในการบริหารจัดการภาครัฐ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ลดค่าใช้จ่ายภาครัฐในอนาคตด้วย
ด้าน รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ครม.อนุมัติกรอบวงเงินประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 รวมทั้งสิ้น 146,070.40 ล้านบาท เพื่อการขับเคลื่อนวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมของไทย โดยแบ่งเป็น กรอบวงเงินงบประมาณด้านการอุดมศึกษาในความรับผิดชอบของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จำนวน 114,970.40 ล้านบาท และกรอบวงเงินงบประมาณด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ จำนวน 31,100 ล้านบาท โดยใช้ระบบการจัดสรรและบริหารงบประมาณแบบบูรณาการที่มุ่งผลสัมฤทธิ์ ตามที่สภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติเสนอ กรอบวงเงินที่จัดทำขึ้นนี้ มีวัตถุประสงค์ตอบโจทย์สำคัญและความเร่งด่วนของประเทศ โดยมุ่งตอบสนองการขับเคลื่อนประเทศด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG เศรษฐกิจฐานรากเพื่อขจัดความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ อุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต เศรษฐกิจสร้างสรรค์เพื่อสร้างคุณค่าและมูลค่าให้กับทุนทางวัฒนธรรม การผลิต และพัฒนากำลังคนเพื่อรองรับการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาล โดยมีรายละเอียดแต่ละกรอบวงเงิน ดังนี้
1.กรอบวงเงินงบประมาณด้านการอุดมศึกษาในความรับผิดชอบของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 จำนวน 114,970.40 ล้านบาท ซึ่งเป็นการสนับสนุนงบประมาณแก่สถาบันอุดมศึกษาภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวง อว. จำนวน 155 แห่ง เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาระบบการอุดมศึกษาและการพัฒนาประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล
สำหรับผลที่คาดว่าจะได้รับในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ด้านการอุดมศึกษา อาทิ 1) จัดการศึกษาสำหรับนักศึกษาระดับปริญญา จำนวน 1,345,086 คน โดยเป็นสาขาอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต การบินและโลจิสติกส์ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ อาหารแห่งอนาคต เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีภาพ จำนวน 415,525 คน คิดเป็นร้อยละ 30 ของจำนวนนักศึกษารวมปีการศึกษา 2566 2)พัฒนากำลังคนในหลักสูตร Non-Degree (Re-Skills, Up-Skills, New Skills) จำนวนไม่น้อยกว่า 25,000 คน 3)พัฒนากำลังคนตลอดช่วงชีวิต (Non–age group) จำนวนไม่น้อยกว่า 275,000 คน 4)เปิดโอกาสให้ผู้เรียนกลุ่มอายุ 25 ปีขึ้นไป เข้าศึกษาในระบบอุดมศึกษา จำนวนไม่น้อยกว่า 275,000 คน 5)โครงการพลิกโฉมมหาวิทยาลัย (Reinventing University) ซึ่งเป็นโครงการเพื่อปฏิรูประบบการศึกษา 5 ด้าน ได้แก่ พัฒนาคุณภาพการเรียนการสอน พัฒนาบุคลากร สร้างความเป็นนานาชาติ ส่งเสริมงานวิจัยและนวัตกรรม และสร้างแพลตฟอร์มความร่วมมือ โดยมีผลลัพธ์จากโครงการ เช่น สร้างบัณฑิตทักษะสูงตอบโจทย์อุตสาหกรรมประเทศ 15,000 คน ผู้ประกอบการผ่านการสร้างศักยภาพธุรกิจนวัตกรรม 3,000 ราย พัฒนาหลักสูตรใหม่ในสาขาวิชาเทคนิคระดับสูงที่ตอบสนองต่อความต้องการของประเทศ 30 หลักสูตร ยกระดับขีดความสามารถคณาจารย์และนักวิจัย 1,500 คน และสร้างความร่วมมือกับสถาบันพันธมิตรระดับชาติ 30 แห่ง
2.กรอบวงเงินงบประมาณด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 จำนวน 31,100 ล้านบาท ซึ่งเป็นการจัดสรรงบประมาณที่มุ่งเน้นการขับเคลื่อนนโยบายสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และแก้ไขปัญหาเร่งด่วนของประเทศ รวมถึงผลักดันและส่งเสริมการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ให้มากขึ้น โดยจัดสรรงบประมาณตามยุทธศาสตร์ของแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พ.ศ.2566 – 2570 ดังนี้
1.การพัฒนาเศรษฐกิจไทยด้วยเศรษฐกิจสร้างคุณค่าและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ให้มีความสามารถในการแข่งขันและพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน พร้อมสู่อนาคต โดยใช้วิทยาศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรม จำนวน 10,885 ล้านบาท (ร้อยละ 35)
2.การยกระดับสังคมและสิ่งแวดล้อมให้มีการพัฒนาอย่างยั่งยืน สามารถแก้ไขปัญหาท้าทายและปรับตัวได้ทันต่อพลวัตการเปลี่ยนแปลงของโลก โดยใช้วิทยาศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรม จำนวน 9,330 ล้านบาท (ร้อยละ 30)
3.การพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัยและนวัตกรรมระดับขั้นแนวหน้าที่ก้าวหน้าล้ายุค เพื่อสร้างโอกาสใหม่และความพร้อมของประเทศในอนาคต จำนวน 4,665 ล้านบาท (ร้อยละ 15)
4.การพัฒนากำลังคน สถาบันอุดมศึกษา และสถาบันวิจัยให้เป็นฐานการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศแบบก้าวกระโดดและอย่างยั่งยืน โดยใช้วิทยาศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรม จำนวน 6,220 ล้านบาท (ร้อยละ 20)
รัชดา กล่าวด้วยว่า ผลที่คาดว่าจะได้รับในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ด้านวิทยาศาสตร์ฯ อาทิ 1)ไทยมีการให้บริการการแพทย์จีโนมิกส์ (Genomics Medicine) ซึ่งเป็นนวัตกรรมการบริการทางการแพทย์ที่ใช้ข้อมูลพันธุกรรมเฉพาะบุคคลร่วมกับข้อมูลทางสุขภาพอื่นๆ มาใช้ในการวินิจฉัย รักษา และทำนายปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรค ทำให้สามารถรักษาผู้ป่วยได้ตรงจุด แม่นยำ และเหมาะสมสำหรับผู้ป่วยแต่ละรายมากขึ้น 2)ไทยมีศูนย์กลางกำลังคนระดับสูง (Hub of Talent) ของอาเซียน และมีศูนย์กลางการเรียนรู้ (Hub of Knowledge) ของอาเซียน ที่ได้รับการยอมรับระดับสากลเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 1 แห่ง