ไม่พบผลการค้นหา
ที่ประชุมรัฐสภาอภิปรายร่างแก้ไข รธน.ในวาระที่1 ปลดล็อกท้องถิ่น ‘ธนาธร’ กลับเข้าสภาฯ หนุนหลักกระจายอำนาจ ยกตัวอย่างความสำเร็จจากญี่ปุ่น ขจัดระบบอุปถัมภ์ ด้าน 'ปิยบุตร' ยืนยันปัดแบ่งแยกดินแดน ด้าน ส.ว.ลุกขวางอัดโหนหาเสียง แนวคิดทะลุฟ้าทะลุดิน

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 30 พ.ย. 2565 ที่รัฐสภา ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 2 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง) วาระพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม หมวด 14 หรือร่างฯ ‘ปลดล็อกท้องถิ่น’ ในวาระที่ 1 ขั้นรับหลัักการ ที่ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ร่วมกับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 80,772 รายชื่อ เป็นผู้เสนอ

โดยก่อนพิจารณา ชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวในฐานะตัวแทนวิปรัฐบาลว่า เมื่อช่วงเช้าได้หารือกันในวิป 3 ฝ่าย ตกลงกันว่าจะใช้เวลาอภิปรายฝ่ายละ 2 ชั่วโมง ทั้งผู้เสนอ ฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน และฝ่ายวุฒิสภา รวมเป็น 8 ชั่วโมง จากนั้นตามด้วยการลงมติแบบขานชื่อ ซึ่งคาดว่าทั้งสิ้นจะใช้เวลาทั้งหมด 10 ชั่วโมง ทั้งนี้เพื่อให้การลงมติมีความเรียบร้อยให้เสร็จสิ้นในวันเดียวกันนี้

แต่ จุลพันธ์ อมรวิวิฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย แย้งว่า ข้อตกลงดังกล่าวของวิป 3 ฝ่าย ยังไม่เรียบร้อยดี โดยเฉพาะข้อเสนอให้อภิปรายฝ่ายละ 2 ชั่วโมง ก็ถือว่าค่อนข้างจำกัดและปิดกั้น เพราะการแก้รัฐธรรมนูญเป็นเรื่องสำคัญและสังคมกำลังสนใจ เห็นว่าควรอภิปรายกันให้เต็มที่และเป็นไปตามธรรมชาติ เชื่อว่าก็สามารถจบภายในวันนี้ได้

ทำให้ ชินวรณ์ ลุกขึ้นอภิปรายอีกครั้งว่า หากปล่อยให้อภิปรายเต็มที่เช่นนั้นก็อาจจะเสียเวลามาก จึงตั้งใจเสนอให้นำร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้เสนอ ขึ้นมาพิจารณาก่อน ซึ่งอาจจะเสร็จในไม่นาน แล้วจึงตามด้วยร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทำให้ จุลพันธ์ ยับยั้งไว้ ก่อนจะขอให้ประธานฯ ดำเนินการ

ธนาธร คณะก้าวหน้า แก้ไขรัฐธรรมนูญ รัฐสภา ปิยบุตร FDA2C2271988.jpeg

'ธนาธร' โชว์น้ำประปาขุ่นข้นต่างจาก กทม.

จากนั้น ธนาธร ในฐานะผู้เสนอร่างฯ ได้อภิปรายเสนอหลักการและเหตุผลของร่างฯ ‘ปลดล็อกท้องถิ่น’ โดยยกตัวอย่างกรณีใน จ.ร้อยเอ็ด ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีรายได้เฉลี่ยของประชาชนเป็นอันดับรั้งท้ายของประเทศ และยังขาดแคลนน้ำประปาสะอาด พร้อมนำขวดที่บรรจุน้ำขุ่นข้นจาก อ.ค้อใหญ่ ดังกล่าว มาแสดงต่อที่ประชุมด้วย แต่เหตุใดจึงมีเพียงชาวกรุงเทพฯ ที่เข้าถึงน้ำประปาที่สะอาดและมีคุณภาพตลอดเวลา การที่องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) จะได้งบประมาณมาพัฒนาพื้นที่ ก็ต้องอาศัยการวิ่งเต้นหรือระบบอุปถัมภ์ จนขาดความเป็นอิสระทางการเมือง

ธนาธร ระบุว่า จึงนำมาสู่คำถามว่า ระบบการเมืองปัจจุบันแก้ไขปัญหา และพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนได้จริงหรือไม่ ปัญหาน้ำประปาไม่สะอาด ระบบชลประทานไม่ครอบคลุม และถนนหนทางเสียหาย การดำเนินการแบบรัฐราชการรวมศูนย์มีความล่าช้า ตั้งแต่ตนเป็นวัยรุ่น จนมาทำธุรกิจ กระทั่งเป็นนักการเมือง ปัญหานี้ก็ยังไม่หายไปไหน และอาจจะคงอยู่ไปจนถึงวันที่เราสิ้นชีวิต หากไม่มีการเปลี่ยนแปลง

“ไม่มีนโยบายใดเป็นยาวิเศษที่จะแก้ไขปัญหาทุกเรื่องให้หมดไปทันที แต่หากจะมีนโยบายสักชุดหนึ่ง ที่จะแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ แก้ปัญหาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยได้ และในขณะเดียวกันยกระดับบริการสาธารณะให้ประชาชนมีชีวิตที่ดีกว่านี้ได้ หากจะมีสักนโยบายหนึ่งทำสิ่งต่างๆ เหล่านี้ได้พร้อมกัน นั่นคือนโยบายกระจายอำนาจ ลดการรวมศูนย์ของส่วนกลาง”

ธนาธร คณะก้าวหน้า แก้ไขรัฐธรรมนูญ รัฐสภา 2380CC782.jpegธนาธร คณะก้าวหน้า แก้ไขรัฐธรรมนูญ รัฐสภา C13EEF.jpeg

ยกญี่ปุ่นกระจายอำนาจท้องถิ่นทำเจริญ

ธนาธร ได้ยกตัวอย่างความสำเร็จในการกระจายอำนาจของประเทศญี่ปุ่น ที่มีลักษณะการบริหารส่วนท้องถื่นที่ใกล้เคียงกับประเทศไทย โดยปฏิรูปโครงสร้างกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นให้สามารถบริหารได้โดยไม่ต้องขึ้นกับส่วนกลาง นำมาสู่ความเจริญรุ่งเรืองทางสังคมและเศรษฐกิจในปัจจุบัน ซึ่งประเทศไทยสามารถเรียนรู้ได้

โดยสาระสำคัญประกอบด้วย 1) อำนาจและอิสระในการบริหาร ให้ประชาชนมีสิทธิเลือกผู้บริหารท้องถิ่นของตัวเอง เพราะไม่มีใครรู้ปัญหาของพื้นที่”ดีกว่าคนในพื้นที่ และคนที่มาจากการเลือกตั้งย่อมมีแรงจูงใจในการแก้ปัญหามากกว่า 2) การจัดสรรงบประมาณที่เป็นธรรม เหมาะสมกับภารกิจที่ได้รับ จากปัจจุบันที่แบ่งรายได้ให้ท้องถิ่น 30% เพิ่มเป็น 50% ขจัดระบบคนกลางวิ่งเต้นของบฯ 3) การทำประชามติปรับโครงสร้างการบริหารประเทศครั้งใหญ่ มีเวลา 5 ปี ในการหาคำตอบร่วมกันเพื่อให้เจอหนทางที่ตกผลึก

“ท่านอาจไม่ชอบผม ไม่เป็นไร ผมไม่ว่ากัน แต่ผมขอให้ทุกท่านดูผลประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก เสนอร่างฯ ปลดล็อกท้องถิ่นเข้าไป ถ้าหากผ่าน ผมไม่ได้ประโยชน์อะไรจากร่างฯ นี้เลย แต่ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศจะได้ประโยชน์ ถ้าท่านเห็นด้วยในทิศทางและหลักการกระจายอำนาจ แต่ยังไม่เห็นด้วยในรายละเอียดบางประเด็น ขอให้ทุกท่านรับหลักการในวาระนี้ เพื่อพูดคุยกัน หาทางประนีประนอม ให้ทุกฝ่ายยอมรับได้ด้วยกันหมดในวาระต่อไป” ธนาธร กล่าวสรุป

ปิยบุตร คณะก้าวหน้า แก้ไขรัฐธรรมนูญ รัฐสภา D74810.jpeg

‘ปิยบุตร’ ย้ำกระจายอำนาจไม่ยุ่งกับมาตรา 1 ปัดแบ่งแยกดินแดน

จากนั้น ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า ในฐานะตัวแทนผู้ชี้แจง อภิปรายเนื้อหารายละเอียดของร่างฯ ‘ปลดล็อกท้องถิ่น’ โดยชี้ว่า ความพยายามกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่นได้เกิดขึ้นมานานแล้ว แต่ยังไม่สมบูรณ์แบบและมีข้อจำกัด ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาในท้องถิ่นได้ทันท่วงที อีกทั้งอำนาจจากส่วนกลางยังซ้ำซ้อนกับอำนาจระดับท้องถิ่น ต้องเสียเวลานั่งถกเถียงตีความจนเกี่ยงกันหรือแย่งกันทำงาน

“การกระจายอำนาจให้ท้องถิ่น ไม่ได้หมายความเพียงกระจายอำนาจไปให้นักการเมืองในท้องถิ่น แต่หมายถึงเอาอำนาจนั้นลงไปถึงประชาชนในท้องถิ่น นั่นหมายความว่าประชาชนต้องมีส่วนร่วมในการเมืองระดับท้องถิ่นให้มากขึ้น ไม่ใช่เพียงหย่อนบัตรเลือกตั้ง” ปิยบุตร กล่าว

ปิยบุตร ยังย้ำว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ นี้ยังหมายเหตุอย่างชัดเจนว่าอยู่ภายใต้บังคับของรัฐธรรมนูญ มาตรา 1 เพื่อยืนยันว่าการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นไทย อยู่ภายใต้หลักความเป็นราชอาณาจักร ภายใต้ความเป็นรัฐเดี่ยว ป้องกันปัญหาคนตีความพิสดาร เข้าใจแบบผิดว่าการกระจายอำนาจเป็นไปเพื่อแบ่งแยกดินแดน เรายังคงเป็นรัฐเดี่ยวอยู่ เพียงแต่กระจายอำนาจ ไม่มีการแบ่งแยกใดๆ ทั้งสิ้น

ทั้งนี้ ยังได้อธิบายประเด็นต่างๆ ในเนื้อหาสาระของร่างฯ ปลดล็อกท้องถิ่น เช่น การโอนถ่ายอำนาจในพื้นที่ให้เป็นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นล้วนๆ เพื่อให้ไม่ต้องมีปัญหาอำนาจซ้ำซ้อน รวมถึงการเสนอจัดตั้งสภาส่วนท้องถิ่น เพื่อเปิดเผยเรื่องใกล้ตัวให้ประชาชนได้เห็น ไม่มีการปกปิดทุจริตแบบหลบซ่อน ซึ่งสภากรุงเทพมหานครฯ (กทม.) ได้ทดลองนำร่องแล้ว

รวมถึงการทำประชามติถามประชาชนเกี่ยวกับการปฏิรูประบบราชการส่วนภูมิภาค ปิยบุตร ย้ำว่า ร่างฯ นี้ไม่ได้ไปยุ่งกับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ตำแหน่งแห่งที่ต่างๆ ยังอยู่เหมือนเดิม เพียงแต่การถามประชามติเพื่อหาทางออกร่วมกับประชาชนว่าเห็นควรอย่างไรกับระบบราชส่วนภูมิภาค เพราะที่ผ่านมาในแต่ละประเทศก็เห็นต่างกันในเรื่องนี้ คนกลุ่มเดียวไม่อาจตัดสินใจได้ จึงต้องถามประชามติ

“คราวที่แล้วผมมายืนตรงนี้ปีที่แล้ว เสนอเรื่องเกี่ยวกับวุฒิสภาหลายเรื่อง ก็เข้าใจได้ว่าท่านคงไม่เห็นด้วย แต่รอบนี้ไม่ได้เกี่ยวอะไรเลยครับ ผมว่าร่างฯ นี้อาจจะช่วยให้เพื่อนสมาชิกวุฒิสภาแสดงออกให้สังคมเห็นว่า วุฒิสภาไม่ได้ขัดขวางการแก้รัฐธรรมนูญ เอาด้วยหากเป็นประโยชน์ต่อประชาชน” ปิยบุตร กล่าว

ธนาธร คณะก้าวหน้า แก้ไขรัฐธรรมนูญ รัฐสภา B68.jpegวิปฝ่ายค้าน เพื่อไทย จุลพันธ์ สมคิด แก้ไขรัฐธรรมนูญ 1165138DD73.jpeg

'พิธา’ ย้ำกระจายอำนาจไม่สุดโต่ง ชี้ ขรก.จะสุขภาพจิตดีขึ้น

จากนั้น สมาชิกฯ ได้ร่วมอภิปรายแสดงความเห็น โดย พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคก้าวไกล อภิปรายสนับสนุนร่างฯ ปลดล็อกท้องถิ่น โดยโต้แย้งมายาคติบางฝ่ายที่ชี้ว่าการกระจายอำนาจคือความคิดสุดโต่ง โดยตั้งคำถามว่าสุดโต่งเมื่อเทียบกับอะไร 

พิธา ระบุว่า ถ้าเทียบกับระบบราชการในอดีตเมื่อ 130 ปีก่อน ก็อาจจะสุดโต่งจริง แต่ถ้าเทียบกับความท้าทายของโลกที่กำลังสุดโต่งอยู่ทุกวันนี้ ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ ปัญหาภาวะโลกร้อน สังคมสูงวัย สภาพบริบทในประเทศเต็มไปด้วยความสุดโต่ง และจำเป็นต้องมีโครงสร้างที่สุดโต่งเช่นกัน 

“ถ้าจะใช้คำสัมพัทธ์แบบนี้เปรียบเทียบกัน การกระจายอำนาจยิ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำ ไม่ใช่เรื่องสุดโต่ง แต่ช้าไปแล้วด้วยซ้ำที่จะประเทศไทยจะตอบสนองอย่างที่ประเทศอื่นเขาทำได้”

ส่วนข้อกังวลว่าจะเกิดการคอร์รัปชันนั้น พิธา ชี้ว่า จากผลสำรวจเห็นว่าคอร์รัปชันในท้องถิ่นน้อยกว่าในส่วนกลาง 10 เท่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีสภาพลเมืองช่วยตรวจสอบ คอร์รัปชันจะยิ่งน้อยกว่า แต่หากงบกระจุกตัวแบบนี้ จะยิ่งเอื้อให้เกิดการคอร์รัปชัน

“ผมเป็นข้าราชการกระทรวงพาณิชย์ในปี 2546-2548 ผมรู้จักข้าราชการหลายท่าน มีความตั้งใจและมีความสามารถทำงาน การกระจายอำนาจจะทำให้สุขภาพจิตของท่านดีขึ้นแน่นอน ผมรับประกัน ท่านไม่จำเป็นต้องตื่นมาเสาร์อาทิตย์ รับนาย ตัดริบบิ้น ไม่ต้องเผชิญหน้ากับประชาชนที่ยังแก้ไขปัญหาให้ไม่ได้ปีแล้วปีเล่า ท่านจะอยู่กับพื้นที่ซึ่งมาจากการเลือกตั้ง และแก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิผล ร่างฯ นี้จึงมีแต่ชนะกับชนะ ไม่มีใครเสีย” พิธา กล่าว

ส.ว.บุกขวางปลดล็อกท้องถิ่น อัดโหนกระแสหาเสียงแก้ รธน.

ด้าน จเด็จ อินสว่าง ส.ว. อภิปรายแสดงความเห็นต่อร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญปลดล็อกท้องถิ่น โดยระบุว่า ที่ผ่านมารัฐบาลได้ออกกำหนดเกี่ยวกับการกระจายอำนาจท้องถิ่นไปแล้วมากมาย ดังนั้นร่างฯ ที่ผู้เสนอมานั้น ไม่ใช่เรื่องใหม่ เป็นเพียงการลอกข้อความในรัฐธรรมนูญ หมวด 14 ทั้ง 6 มาตรา ที่มีอยู่แล้วมาด้วยถ้อยคำใหม่ทั้งสิ้น การเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เป็นการโหนกระแส สร้างกระแส สุดลิ่มทิ่มประตู และเป็นการหาเสียง ที่ ส.ว.บางคนมองว่าสุดโต่ง 

จเด็ด ยังชี้ว่า ในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 4-7 ให้ ครม. จัดทำแผนยกเลิกข้าราชการส่วนภูมิภาคภายใน 2 ปี นับตั้งแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ซึ่งสวนทางกับที่ ปิยบุตร กล่าวว่า จะไม่ยุ่งเกี่ยวกับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ทั้งที่ในร่างฯ ชัดเจนว่าให้ยกเลิก 

“ท่านจะไปพูดสวนกระแสที่ท่านร่างทำไม ท่านเพิ่งคิดได้เมื่อเช้านี้เอง ว่าถ้าไม่พูดถึงกำนันผู้ใหญ่บ้านแล้วท่านจะเสียคะแนนเสียง”

“เพื่อน ส.ว.บางคนบอกว่าเป็นการเสนอความคิดสุดโต่ง จะสุดโต่ง สุดลิ่มทิ่มประตู ทะลุฟ้า ทะลุดิน ทะลุแก๊ส ทะลุวัง อะไรไม่ทราบ แต่ไม่ได้เป็นประโยชน์อะไรกับประชาชนเลย ท่านลอกมาจาก 6 มาตรา ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ถ้าท่านพูดแค่ว่าให้รัฐบาลขยายทั้ง 6 มาตรา ให้ทำอย่างเต็มที่จริงจัง แต่ต้องอยู่บนฐานที่ปฏิบัติได้จริง”

จเด็จ ย้ำว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ตนรับไม่ได้ เพราะมีการขัดกันแห่งผลประโยชน์ และขัดกับรัฐธรรมนูญอย่างน้อย 6 มาตรา ได้แก่ มาตรา 1 เรื่องแบ่งแยกราชอาณาจักร มาตรา 2 ระบอบการปกครอง มาตรา 5 ขัดกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 77 ไม่ได้รับฟังประชาชน มาตรา 255 เปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง

ธนาธร คณะก้าวหน้า แก้ไขรัฐธรรมนูญ รัฐสภา 0-8C43-C786BDCD50AF.jpeg

'สมคิด' ลั่นหนุน 'ปลดล็อกท้องถิ่น' ชี้ราชการต้นตอล่าช้า

ด้าน สมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย อภิปรายแสดงความเห็นว่า ตนในฐานะสมาชิกรัฐสภา ความจริงในวันนี้เป็นเรื่องที่สภา กลับมาประชุมหลายครั้งเกี่ยวกับความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน แน่นอนว่าแต่ละฝ่ายมีเหตุผลไม่ตรงกัน ส่วนของตนและพรรคเพื่อไทย เชื่อว่าทุกพรรคการเมืองต้องพูดเรื่องการกระจายอำนาจส่วนจะมีรูปแบบใดนั้น ก็ว่ากันไปตามแต่ละพรรค 

“เพื่อไทยเป็นคนที่มาจากเขตเลือกตั้ง รู้ว่าการกระจายอำนาจให้พี่น้องประชาชนจริงๆ ควรจะทำ แต่ผมเห็นด้วยที่ ปิยบุตร และ ธนาธร มานั่งอธิบายว่าการกระจายอำนาจ เป็นต้นตอ เป็นต้นกำเนิด เป็นต้นทางของพี่น้องประชาชนจะได้ประโยชน์ เพราะฉะนั้นรัฐธรรมนูญใช้มาระยะหนึ่ง มันจะดีหรือไม่ดี มันก็ควรจะแก้ไขได้”

สมคิด ระบุว่า ตนเชื่อว่าตั้งแต่ยึดอำนาจรัฐประหาร เวลาสมาชิกอภิปราย หลายคนพูดถึงระบบราชการ บอกว่ารัฐราชการโตขึ้น รัฐประชาชนเล็กลง ยิ่งยึดอำนาจบ่อยเท่าไหร่อำนาจประชาชนก็หายไป การแก้ไขปลดล็อกท้องถิ่นจึงไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะทั่วโลกยอมรับว่าทำได้ ประเทศไทยก็ต้องทำได้ เราต้องเปิดกว้างเปิดใจเข้าหากันว่าเราทำเพื่ออะไร เพื่อใคร หากเอาหัวใจมาวางกันบนโต๊ะ ตนเชื่อว่าท่านที่เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย ก็ต้องมานั่งคุยกันทั้งหมด

“ระบบราชการที่ยิ่งใหญ่ไปกระจุกอยู่ที่เดียว ท่านประธานฯ คงจำได้ว่าสมัยก่อนพวกผมอยู่สภา ก็บอกว่างบประมาณเหมือนไอติม อยู่ที่นี่ก็ใหญ่ ลงไปกว่าจะถึงตำบลบ้านผมเหลือนิดเดียว ติดแต่ไม้ได้แต่ก้าง เราไม่อยากได้ยินคำนั้นอีก แต่ถ้าท้องถิ่นมีอำนาจกระจายอย่างที่กฎหมายกำหนดก็จะดี จะสร้างเขื่อนแบบไม่ตัดต้นไม้สักต้นเป็นไปไม่ได้ อยากได้ถนนแต่ไม่ยอมเสียหมู่บ้านเลย ผมถึงบอกว่าการกระจายอำนาจมันไม่ได้ทั้งหมดอย่างใจเรา แต่ควรจะให้อำนาจท้องถิ่น วันนี้แค่โอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบลยังยากเลย” สมคิด กล่าว

สมคิด ยังระบุว่าพี่น้องประชาชนตอนนี้ไม่ได้รับความเป็นธรรม มีความเหลื่อมล้ำตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นการศึกษา หรือการรักษาพยาบาล แม้กระทั่งถนนหนทางหรือโครงสร้างพื้นฐาน มองว่าระบบราชการเหมือนการก่ออิฐล้อมตัวเอง

“เวลาไปขออะไรทีหนึ่ง หน่วยราชการนี่แหละตัวดีเลย กว่าแต่ขอ 1 2 3 เรื่อง 60 วัน ยังไม่รู้เรื่องเลยยังไม่รู้เรื่องเลย หันไปหันมาก็อ้างระเบียบ ผิดระเบียบโน้นนี่ พอไปอ่านดู ราชการตอบผมถูกเลยมันติดระเบียบ ก็ไปออกระเบียบให้ตัวเองติดไง” สมคิดกล่าว 

ไอติม พริษฐ์ -96CF-3D2A5BB12E3E.jpeg

‘พริษฐ์’ แจงปลดล็อกท้องถิ่น ปัดเสนอกระจายอำนาจสุดโต่ง จวกที่รวมศูนย์สุดโต่ง

ต่อมา พริษฐ์ วัชรสินธุ ผู้จัดการฝ่ายรณรงค์และสื่อสารนโยบาย พรรคก้าวไกล ลุกชี้แจงร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญหมวด 14 การปกครองท้องถิ่น หรือร่างปลดล็อกท้องถิ่นว่า แม้การกระจายอำนาจไม่ใช่ยาวิเศษที่จะทำให้ทุกปัญหาในประเทศหายไปทันที แต่การเปลี่ยนแปลงประเทศเพื่อให้ทุกคนในทุกพื้นที่มีอำนาจและทรัพยากรเพียงพอในการกำหนดอนาคตของตนเอง เป็นกุญแจดอกสำคัญที่จะทำให้หลายปัญหาที่สะสมมายาวนานถูกแก้ไขได้ง่ายขึ้น อย่างไรก็ตาม ในทุกการเปลี่ยนแปลง เป็นเรื่องปกติที่จะมีทั้งคนเห็นด้วยและคนที่ยังลังเล ตนจึงขอชี้แจงให้คลายข้อกังวลใน 3 ประเด็นหลัก

พริษฐ์กล่าวว่า ข้อกังวลแรก ที่บางฝ่ายแสดงความเห็นว่าหากกระจายอำนาจและงบประมาณให้ท้องถิ่นมากขึ้น ท้องถิ่นบางแห่งอาจยัง “ไม่พร้อม” ที่จะรับผิดชอบการจัดทำบริการสาธารณะทั้งหมดแทนที่ส่วนกลาง ตนอยากชวนให้มองว่า “ความพร้อม” ในการจัดทำบริการสาธารณะ มีอย่างน้อย 3 คุณสมบัติที่สำคัญ (1) มีความเข้าใจพื้นที่ เพราะแต่ละพื้นที่มีความต้องการและข้อจำกัดที่แตกต่างกัน (2) มีวาระที่ชัดเจนและระยะเวลาเพียงพอในการทำงาน (3) ต้องผ่านสนามแข่งขันที่ทำให้ประชาชนมั่นใจและยอมรับว่าคุณเป็นตัวเลือกที่ดีกว่าคนอื่นๆ เมื่อพิจารณาจาก 3 เกณฑ์นี้ ผู้บริหารท้องถิ่นที่มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชนในพื้นที่ กลับน่าจะยิ่งมีความพร้อมมากกว่าผู้ว่าฯที่มาจากการแต่งตั้งของส่วนกลาง เมื่อกระจายอำนาจและงบประมาณให้ท้องถิ่น ถนนหน้าบ้านใครพัง โรงพยาบาลไหนขาดงบ ท้องถิ่นก็แก้ได้หมด ไม่ต้องมานั่งลุ้นว่าถนนเป็นของหน่วยงานอะไรหรือลุ้นว่า ส.ส. บ้านเราอยู่ฝ่ายค้านหรือฝ่ายรัฐบาล นอกจากนั้น ข้อเสนอปลดล็อกท้องถิ่น ยังช่วยให้รัฐส่วนกลางให้มีความพร้อม มีเวลา และมีสมาธิมากขึ้น กับบทบาทสำคัญที่ส่วนกลางควรทำ เช่น การกำหนดมาตรฐานบริการสาธารณะขั้นพื้นฐาน หรือการทำภารกิจที่เกินเลยขอบเขตท้องถิ่น อาทิ การต่างประเทศ การคลัง

พริษฐ์กล่าวต่อว่า ข้อกังวลที่สอง หากกระจายอำนาจ จะเพิ่มการทุจริตคอร์รัปชัน แม้ตนไม่ปฏิเสธว่าปัญหาการทุจริตในระดับท้องถิ่น มีอยู่จริง แต่ก็ไม่เชื่อเช่นกันว่าการแก้ไขปัญหาคือการรวมศูนย์อำนาจมาที่ส่วนกลาง แต่เชื่อว่าการกระจายอำนาจจะทำให้เราแก้ไขปัญหาการทุจริตได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ตนขอยกการวิเคราะห์ของ Robert Klitgaard นักวิชาการจากสหรัฐอเมริกา ที่สถาบันวิจัย TDRI เคยนำมาต่อยอด ซึ่งบอกว่าปัจจัยที่จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการทุจริตมี 3 ส่วนสำคัญคือ ดุลพินิจ การผูกขาด ความไม่โปร่งใส ซึ่งเราจะเห็นชัดว่าการรวมศูนย์อำนาจ มีความเสี่ยงต่อการทุจริตมากกว่าการกระจายอำนาจ เนื่องจาก (1) ระบบรวมศูนย์ ทำให้ส่วนกลางมีอำนาจในการตัดสินใจเกี่ยวกับโครงการจำนวนมหาศาลทั้งหมด แต่หากกระจายอำนาจ การเลือกตั้งท้องถิ่นจะเป็นวิธีที่ตรงไปตรงมาที่สุดในการถามประชาชน ว่าต้องการเห็นนโยบายหรือโครงการไหน (2) ระบบรวมศูนย์ ทำให้หน่วยงานที่มีอำนาจตัดสินใจเกี่ยวกับโครงการต่างๆ จะมีความผูกขาดโดยปริยาย แต่หากกระจายอำนาจ งบทั้งหมดจะถูกกระจายไปตาม อปท. หลายพันแห่ง แต่ละแห่งจะพิจารณาโครงการต่างๆในพื้นที่ที่ตนเองรับผิดชอบ และ (3) ระบบรวมศูนย์ งบประมาณจะอยู่ห่างไกลจากประชาชน และภาษีจากทุกพื้นที่จะถูกยำรวมกัน ประชาชนจะรู้ตัวยากขึ้นว่าตนเองกำลังโดนโกงหรือไม่ แต่หากเรากระจายอำนาจ งบประมาณจะอยู่ในหน่วยงานที่ใกล้ชิดกับประชาชน ประชาชนจะยิ่งตรวจสอบการใช้งบประมาณได้ง่ายขึ้น รู้ตัวได้เร็วขึ้นและอาจรู้สึกหวงแหนงบประมาณมากขึ้นหากโดนโกง ดังนั้น การแก้ไขปัญหาการทุจริต จึงควรเป็นการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่น ควบคู่ไปกับการกระจายอำนาจให้ประชาชนในการตรวจสอบท้องถิ่นอีกทีหนึ่ง เช่น การเปิดเผยข้อมูล การเข้าชื่อเสนอข้อบัญญัติ การเข้าชื่อถอดถอนท้องถิ่น หรือ การคุ้มครองความปลอดภัยของคนที่เปิดโปงการทุจริต

พริษฐ์กล่าวว่า ข้อกังวลที่สาม การกระจายอำนาจจะนำไปสู่สหพันธรัฐ หรือ การแบ่งแยกดินแดน ซึ่งตนขอย้ำใน 2 ประเด็นคือ ประเด็นแรก การกระจายอำนาจ การเป็นสหพันธรัฐ และ การแบ่งแยกดินแดน ไม่ใช่เรื่องเดียวกัน เพราะการแบ่งแยกดินแดนหมายถึงการสร้างรัฐใหม่ ที่แยกตัวออกมาจากรัฐเก่า และมีอำนาจอธิปไตยเป็นของตัวเอง โดยที่รัฐเก่าไม่มีอำนาจอะไรเกี่ยวข้องกับรัฐใหม่อีกต่อไป เช่น ประเทศติมอร์-เลสเต ที่แยกตัวมาจากประเทศอินโดนีเซีย ส่วนการเป็นสหพันธรัฐ คือการที่อำนาจอธิปไตยถูกแบ่งระหว่างส่วนกลางและส่วนมลรัฐ จนทำให้อำนาจเกี่ยวกับภารกิจบางส่วน ถูกแบ่งมาอยู่กับมลรัฐอย่างถาวร โดยที่ส่วนกลางไม่สามารถเข้าไปยุ่งเกี่ยวได้อีกต่อไป เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา แต่สำหรับการกระจายอำนาจ เรากำลังพูดถึงแค่การกระจายอำนาจการบริหารไปสู่ท้องถิ่น โดยที่อำนาจอธิปไตยยังอยู่กับส่วนกลาง นั่นหมายถึงว่า ในเชิงกฎหมาย ส่วนกลางก็ยังคงมีอำนาจ ในการปรับระดับการกระจายอำนาจ ให้เพิ่มขึ้นหรือลดลงได้อยู่เสมอ การเสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อกระจายอำนาจ จึงไม่ได้ส่งผลต่อการเปลี่ยนรูปแบบรัฐ และหากทำสำเร็จ ประเทศไทยก็จะยังคงเป็นรัฐเดี่ยวเหมือนเดิม

ส่วนประเด็นที่สองคือ การกระจายอำนาจเป็นวิธีที่ดีที่สุดที่จะช่วยลดความเสี่ยงเรื่องการแบ่งแยกดินแดน เช่น ประเทศสกอตแลนด์ เป็นพื้นที่ที่มีวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ แตกต่างจากส่วนอื่นของสหราชอาณาจักร จึงมีความต้องการในการกำหนดอนาคตของพื้นที่ตนเอง รัฐบาลสหราชอาณาจักรภายใต้การนำของโทนี่ แบลร์ (Tony Blair) จึงตัดสินใจจัดประชามติในปี 1997 เพื่อถามคนสกอตแลนด์ว่าต้องการให้มีการกระจายอำนาจและจัดตั้งสภาสกอตแลนด์หรือไม่ ผลปรากฏว่า ประชาชน 74% เห็นด้วย 26% ไม่เห็นด้วย ถัดมาเกือบ 20 ปี ในปี 2014 สหราชอาณาจักร ก็มีการจัดประชามติอีกครั้งหนึ่ง ถามชาวสกอตแลนด์ว่าต้องการให้สกอตแลนด์แยกออกมาเป็นเอกราชหรือไม่ ผลปรากฎในรอบนี้ มีเพียง 45% เท่านั้นที่เห็นด้วย โดย 55% ไม่เห็นด้วย จึงทำให้สหราชอาณาจักรยังคงรักษาการเป็นรัฐเดี่ยวไว้ได้ อย่างหวุดหวิด ในกรณีของสหราชอาณาจักร หลายคนจึงยอมรับว่าการกระจายอำนาจในวันนั้น มีส่วนสำคัญในการช่วยรักษาให้ประเทศเขายังคงเป็นรัฐเดี่ยวจนถึงทุกวันนี้

“ผมได้เพียงแต่หวังว่า ตัวอย่างของอังกฤษและสกอตแลนด์จะช่วยตอกย้ำ ให้สมาชิกรัฐสภาทุกท่านเห็นว่าการกระจายอำนาจที่เรากำลังพิจารณากันในวันนี้ ไม่เพียงแต่เป็นคนละเรื่อง กับการเปลี่ยนเป็นสหพันธรัฐ หรือ การแบ่งแยกดินแดน อย่างที่หลายคนกังวล แต่การกระจายอำนาจนี่แหละ กลับจะเป็นหนทางที่ดี่สุด ในการรักษาไว้ซึ่งรัฐเดี่ยวที่ท่านหวงแหน ภายใต้ความหลากหลายทางวัฒนธรรมของแต่ละพื้นที่ ที่คงไม่มีใครสามารถปฏิเสธได้” พริษฐ์กล่าว

พริษฐ์กล่าวด้วยว่า เมื่อวิเคราะห์จากปัญหาของประเทศไทยที่ผ่านมา จากบทเรียนและหลักฐานที่เกิดขึ้นในประเทศอื่น และจากทิศทางของโลกในอนาคต เชื่อว่าเราคงเห็นตรงกันว่าประเทศเราต้องมีการกระจายอำนาจมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ แม้อาจเห็นต่างกันในรายละเอียด ว่าควรกระจายไปถึงขั้นไหน

“สมาชิกรัฐสภาหลายท่าน อาจจะพยายามบอกว่าร่างของเราเป็นร่างที่กระจายอำนาจแบบสุดโต่ง แต่ผมมองต่าง การปฏิเสธการกระจายอำนาจ และคงไว้ถึงการบริหารรัฐรูปแบบเดิมต่างหาก คือการรวมศูนย์อำนาจแบบสุดโต่ง จึงอยากเชิญชวนให้สมาชิกรัฐสภาทุกท่าน มาร่วมกันสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ ของการเมืองไทย ลงมติรับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องการกระจายอำนาจฉบับนี้ เพื่อเดินหน้าเปิดบทสนทนาให้ทุกฝ่ายมาพูดคุยกันเพิ่มเติมในชั้นกรรมาธิการ เพราะโจทย์สำคัญที่เราต้องขบคิดในวันนี้ คงไม่ใช่คำถามว่า การกระจายอำนาจนั้นดีหรือไม่ดีสำหรับประเทศ แต่คือเราจะออกแบบการกระจายอำนาจกันอย่างไรเพื่อปลดล็อกให้เศรษฐกิจ สังคม และการเมืองไทย ก้าวหน้าได้อย่างเต็มศักยภาพ” พริษฐ์กล่าว