ไม่พบผลการค้นหา
ดูขนาดงบประมาณของสวัสดิการข้าราชการ (ไม่นับรวมเงินเดือน) ค่าใช้จ่ายภาครัฐก้อนมหึมาและดูเหมือนจะใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ กับคำถามว่าเราจะจัดการอย่างไรเมื่อสังคมไทยเป็นสังคมสูงวัยหนักขึ้นทุกทีๆ
งบกลาง งบสวัสดิการข้าราชการ งบกำลังคนภาครัฐ

งบประมาณประเทศปีหนึ่งๆ ตั้งไว้ราว 3 ล้านล้านเศษ แบ่งเป็นงบกลางไปแล้ว 5-6 แสนล้าน

งบกลางมี 11 รายการก็จริง เอาไว้ใช้ฉุกเฉินก็จริง แต่หากดูไส้ในจะพบว่า 80-90% เป็นงบสำหรับสวัสดิการข้าราชการ + งบลูกจ้างรัฐ ล็อคไว้ตายตัว

ลองดูปีล่าสุด ปีงบประมาณ 2566 

  • เบี้ยหวัดบำเหน็จบำนาญเบิกจ่ายเกือบ 360,000 ล้านบาท (สูงกว่าที่ตั้งงบไว้ 4 หมื่นล้าน)
  • ค่ารักษาพยาบาลข้าราชการซึ่งรวมถึงครอบครัว เบิกจ่ายสูงถึง 96,000 ล้านบาท  (สูงกว่าที่ตั้งงบไว้ 3 หมื่นล้าน) 

ถามว่าตอนนี้มีข้าราชการเกษียณที่รับบำเหน็จบำนาญกี่คน?  

ตัวเลขนี้ค่อนข้างหายาก เท่าที่สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (กพ.) เปิดเผยข้อมูลมีเพียงว่า

  • ปี 2565 มีข้าราชการพลเรือนเกษียณ 9,500 คน 
  • แนวโน้ม 10 ปีข้างหน้า (2566-2575) จะมีข้าราชการพลเรือนเกษียณเพิ่มอีกราว 100,000 คน โดยวิชาชีพที่จะมีคนเกษียณมากที่สุดคือ พยาบาล หรือราว 24,000 คน

สิ่งที่พอหาได้คือ ตัวเลขข้าราชการที่ยังทำงานอยู่ราว 1.8 ล้านคน ซึ่งใช้สิทธิรักษาพยาบาลตนเองและครอบครัวได้จากสวัสดิการข้าราชการ

ทั้งนี้ ข้อมูลปี 2565 สำนักงบประมาณรัฐสภา (PBO) ระบุว่า ประเทศไทยมีกำลังคนภาครัฐทั้งหมด (ทั้งพลเรือนและสังกัดกลาโหม) อยู่ที่ 2,602,102 คน แบ่งเป็น

  • ข้าราชการ 1,775,812 คน
  • พนักงานราชการ 175,866 คน
  • ลูกจ้างประจำ 103,699 คน
  • ลูกจ้างชั่วคราว 381,732 คน
  • พนักงานจ้าง 164,993 คน

ถ้าเปรียบเทียบปี 2566 งบสวัสดิการรักษาพยาบาลของข้าราชการ 1.8 ล้านคนและครอบครัว (บิดา มารดา คู่สมรส บุตรธิดาที่จดทะเบียน) ใช้งบเกือบ 1 แสนล้าน กับ งบ ‘บัตรทอง’ หรือ 30 บาทรักษาทุกโรคที่ดูแลคน 47 ล้านคน ใช้งบ 1.5 แสนล้าน ก็ทำให้เกิดประเด็นคำถามเรื่องความเหลื่อมล้ำ จนหลายฝ่ายมีแนวคิดอยากให้บริหาร 3 กองทุนสุขภาพ (ข้าราชการ บัตรทอง ประกันสังคม) เป็นระบบเดียว 

นอกจากนี้เรายังพบว่า ในระยะเวลา 10 ปี ของการจ่ายเบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ เพิ่มขึ้น ‘เกือบ 3 เท่า’ จาก 132,277 ล้านบาทในปี 2557 กลายเป็น 359,000 ล้านบาทในปี 2566

ส่วนค่ารักษาพยาบาลข้าราชการก็เพิ่มเช่นกัน จากปี 2562 อยู่ที่ 70,000 ล้านบาท ปี 2566 เบิกจ่ายจริงที่ 96,000 ล้านบาท

สังคมไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยเต็มรูปแบบแล้วในวันนี้ โดยเรามีผู้สูงอายุเกิน 60 ปีถึง 1 ใน 5 (22.7%) ของประชากรทั้งหมด และในอีก 20 ปี เราจะมีผู้สูงวัย 1 ใน 3 (35.7%) ของประชากรทั้งหมด เพราะประชากรมีแนวโน้มที่จะอายุยืนยาวขึ้นขณะที่การเกิดนั้นหดตัวลดลงเรื่อยๆ

คำถามคือ งบประมาณข้าราชการทั้งบำเหน็จบำนาญและสวัสดิการรักษาพยาบาล จะเพิ่มสัดส่วนขึ้นแค่ไหน และรัฐไทยจะจัดการอย่างไร ? ทางที่พอจะทำได้และกำลังทำอยู่คือการปรับอัตราจำนวนข้าราชการใหม่ไม่ให้สููงดังเช่นอดีต กับอีกด้านคือ ทำให้เศรษฐกิจเติบโตและมีงบประมาณมากเพียงพอ 

งบกลาง งบสวัสดิการราชการ

งบกลางปี 2566 ตั้งไว้ 590,470 ล้าน แต่เบิกจ่ายจริงสูงถึง 618,605 ล้าน ส่วนที่เบิกเกินคือค่ารักษาพยาบาลข้าราชการ ลูกจ้าง และพนักงานของรัฐ, เบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ, เงินช่วยเหลือข้าราชการ ลูกจ้างพนักงานของรัฐ  และจะเห็นได้ว่า 87% เป็นรายจ่ายเกี่ยวกับสวัสดิการข้าราชการ และลูกจ้าง พนักงานของรัฐ

ขณะที่รายการอื่นๆ เช่น โครงการพระราชดำริ, ค่าชดใช้เงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยกรณีฉุกเฉิน, ค่าใช้จ่ายเกี่ยวพับการพระราชดำเนินและต้อนรับประมุขต่างประเทศ, เงินชดเชยค่าก่อสร้าง เหล่านี้คิดเป็น 0.90% ข อีกก้อนใหญ่คือ เงินสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินจำเป็น ตั้งงบไว้ 92,400 ล้าน แต่เบิกจ่ายจริงเพียง 76,568 ล้าน หรือคิดเป็น 12.38% ของงบกลาง

งบกลาง งบสวัสดิการราชการงบกลาง งบสวัสดิการราชการงบกลาง งบสวัสดิการราชการงบกลาง งบสวัสดิการราชการงบกลาง งบสวัสดิการราชการ

ที่มา : สำนักงบประมาณของรัฐสภา (PBO) และ คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน(กพ.)