ไม่พบผลการค้นหา
"วรรณภา" ชี้แค่ให้ประชาชนแสดงออกไม่เพียงพอ รัฐสภาต้องรับฟังและสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้ด้วย "ยิ่งชีพ" ยัน ประชาชนไปไกลกว่าคำว่า "ตื่นรู้" แต่อึดอัดจนพร้อมระเบิด

สถาบันพระปกเกล้า จัดสัมมนา "ความเข้าใจในพลเมืองตื่นรู้ กับบทบาทหน้าที่ของรัฐสภาในการเป็นตัวแทนของประชาชน" ที่ โรงแรมรอยัล ปริ๊นเซส หลานหลวง กทม.

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประขาชน หรือ iLaw กล่าวว่า การเข้าชื่อเสนอกฎหมายในปัจจุบันทำได้ง่ายโดยผ่านโซเชียลมีเดีย ทั้งในแง่การนำเสนอประชาสัมพันธ์ความรวดเร็วในการดำเนินการและรวบรวมรายชื่อประชาชน โดยสิ่งที่เห็นคือประชาชนตระหนักรู้แล้วว่าต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ

นอกจากนี้ ยังมีคนอายุไม่ถึง 18 ปีจำนวนมากที่ยังไม่มีสิทธิเสนอกฎหมาย แต่อยากมีส่วนร่วม ทาง iLaw จึงให้ลงชื่อ แม้สุดท้ายต้องถูกคัดออกตามเงื่อนไขของกฎหมายก็ตาม ซึ่งจากกว่า 100,000 รายชื่อ มีราว 3,000 รายชื่อที่ถูกคัดออกหรือถอนชื่อจากการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ยิ่งชีพ เน้นย้ำว่า ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ใช่แค่ประชาชนตื่นรู้ แต่เป็นความอัดอั้นกับสถานการณ์การเมือง และอยากเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมการเปลี่ยนแปลงกติกาที่ไม่เป็นธรรม ดังนั้นสภาผู้แทนราษฎรต้องขยับตาม ไม่ใช่เพียงแค่เปิดโอกาสให้คนที่ตื่นรู้มีพื้นที่ในการแสดงออก ซึ่งยังไม่เพียงพอ เพราะเมื่อการเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นบรรยากาศทั่วไปมันมากกว่าตื่นรู้ แต่เป็นความอัดอั้นที่พร้อมจะระเบิดออกมา 


ให้พื้นที่ราษฎร

ผศ.วรรณภา ติระสังขะ จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า นอกจากผู้มีอำนาจและที่เกี่ยวข้อง ต้องมีพื้นที่ให้ประชาผู้ชุมนุมแล้ว ยังต้องรับฟังและนำไปผลักดันในรัฐสภาด้วย เพราะอย่างน้อยผู้ชุมนุมจะรู้ว่าเสียงของผู้ชุมนุมมีค่า โดยเสนอว่ารัฐไทยต้องสร้างความเป็น "สถาบันเพื่อฟังกันและกัน" ส่วนจะออกแบบอย่างไรนั้นยังไม่ทราบ แต่เห็นว่ารัฐสภาก็เป็นพื้นที่หนึ่ง ที่ทำให้การเมืองบนท้องถนนเข้าสู่ระบบรัฐสภาได้ 

แม้ว่าการเมืองท้องถนนมีคุณค่าของมันเอง แต่เมื่อเข้าสู่รัฐสภาเพื่อผลักไปข้างหน้าก็จะยิ่งทำให้การเมืองท้องถนนมีคุณค่ามากยิ่งขึ้น ซึ่งนอกจากเปิดพื้นที่เพื่อส่งเสริมประชาชนแล้ว ก็ต้องมีความปลอดภัยด้วย เพราะทุกวันนี้แม้มีพื้นที่ให้ประชาชนนำเสนอหรือแสดงออก แต่ไม่ได้มีความปลอดภัย


โลกไร้พรหมแดน

สฤณี อาชวานันทกุล นักวิจัย นักเขียนอิสระและสมาชิกเครือข่ายพลเมืองเด็ก กล่าวว่า ความเปลี่ยนแปลงทางสังคมการเมืองและความสำคัญของพื้นที่ออนไลน์ ที่เอื้อให้คนปะทะสังสรรค์ทางความคิด ไม่มีกำแพงของคุณวุฒิ-วัยวุฒิ หรือระบบอาวุโสในการสื่อสารกัน และการมี "ความเป็นนิรนาม" ทำให้คนกล้าแสดงความคิดเห็นด้วย ตลอดจนรวมกลุ่ม ที่ถือเป็นชุมชนแบบใหม่ มีค่านิยมใหม่ต่างจาก "โลกออฟไลน์" และชาวออนไลน์ มักจะไม่เชื่อเรื่องการเซ็นเซอร์ข้อมูลข่าวสาร

สฤณี เห็นว่า สมาชิกรัฐสภาที่ส่วนใหญ่อายุมากแล้ว ต้องดูว่าตระหนักหรือเท่าทันการเปลี่ยนแปลงและมีมุมมองต่อเรื่องนี้มากแค่ไหน ซึ่งด้านหนึ่งคนในโลกออนไลน์หรือเด็กรุ่นใหม่ ก็คือฐานเสียงด้วย