ไม่พบผลการค้นหา
กระทรวงสาธารณสุข ชื่นชมสิ่งประดิษฐ์กล่องฝึกมือจากกล่องกระดาษเหลือใช้ รพ.เกาะจันทร์ จ.ชลบุรี ให้ผู้ป่วยนำกลับไปฝึกเองที่บ้าน ช่วยฟื้นฟูภาวะอ่อนแรงของกล้ามเนื้อแขนและมือ ให้กลับมาทำกิจวัตรประจำวันได้ ลดภาระการดูแลของครอบครัว เป็นการยกระดับคุณภาพชีวิต

นายแพทย์ไพศาล ดั่นคุ้ม รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ ถึงนวัตกรรมโรงพยาบาลเกาะจันทร์จังหวัดชลบุรี เป็นสิ่งประดิษฐ์ทำจากกล่องกระดาษที่เหลือใช้ของทีมงานกายภาพบำบัด สำหรับผู้ป่วยกลุ่มโรคระบบประสาทและการเคลื่อนไหวช่วยฝึกการเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อแขนและมือให้ผู้ป่วยนำกลับไปฝึกเองที่บ้านอย่างต่อเนื่องช่วยฟื้นฟูภาวะอ่อนแรงของกล้ามเนื้อแขนและมือ ทำให้ผู้ป่วยสามารถทำกิจวัตรประจำวันด้วยตัวเองได้มากขึ้น เช่น การทานอาหาร ล้างหน้า แปรงฟัน หยิบสิ่งของที่ต้องการได้ ลดภาระการดูแลของบุคคลในครอบครัว

ทำให้ผลงานนี้ได้รับรางวัลชนะเลิศ ด้านสิ่งประดิษฐ์ทางการแพทย์และสาธารณสุข นำเสนอด้วยโปสเตอร์ ในงานประชุมวิชาการกระทรวงสาธารณสุข ปี 2561 “สร้างสรรค์เทคโนโลยีการสาธารณสุขเพื่อสุขภาพ” และได้รับการคัดเลือกให้นำเสนอผลงานแบบโปสเตอร์ในงาน HA forum ครั้งที่ 20 ที่ อิมแพค ฟอรั่ม เมืองทองธานี


1156988.jpg

ด้านนายแพทย์สุกิจ พึ่งเกศสุนทร รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลเกาะจันทร์กล่าวว่า ปัจจุบันผู้ป่วยกลุ่มโรคระบบประสาทและการเคลื่อนไหวมีจำนวนเพิ่มขึ้นการฟื้นฟูมีหลายรูปแบบ เช่น การกระตุ้นกล้ามเนื้อด้วยไฟฟ้าการประคบร้อนการฝึกออกกำลังกายกล้ามเนื้อการฝึกทรงตัว การฝึกการเคลื่อนย้ายตัวและเดินการฝึกการประสานงานของกล้ามเนื้อมัดต่างๆ สำหรับการฝึกการเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อแขนและมือ จากเดิมผู้ป่วยจะต้องเดินทางมาโรงพยาบาลทุกวัน เพื่อใช้อุปกรณ์ฝึกมือที่งานภายภาพบำบัด

1156995.jpg

ทีมงานกายภาพบำบัดได้ประดิษฐ์อุปกรณ์สำหรับฝึกกล้ามเนื้อแขนและมือจากกล่องกระดาษที่เหลือใช้ ให้ผู้ป่วยนำกลับไปฝึกที่บ้านโดยไม่ต้องหาซื้ออุปกรณ์ เป็นการลดค่าใช้จ่ายในการดูแลได้เริ่มประดิษฐ์รุ่นแรกตั้งแต่ปี 2557 และพัฒนาต่อยอดเรื่อยมาเป็น “กล่องฝึกมือ version 2” ปรับรูปแบบการฝึกให้มีความยาก ซับซ้อนขึ้นและเหมาะกับผู้ป่วยแต่ละราย เพื่อให้เกิดความท้าทายจากการทดสอบกับผู้ป่วยที่มีภาวะอ่อนแรงของกล้ามเนื้อแขนและมือระดับ 2 จำนวน 5 ราย นำอุปกรณ์ไปฝึกที่บ้านเป็นระยะเวลา 2 เดือน ปรากฏว่ากำลังกล้ามเนื้อแขนและมือเพิ่มขึ้นเป็นระดับ 3-5 มีความพึงพอใจต่อการใช้ เพราะเห็นพัฒนาการการใช้มือที่ชัดเจน ทำให้มีกำลังใจในการฝึก

ทั้งนี้ กล่องฝึกมือ version 2 ยังสามารถประยุกต์ใช้กับผู้ป่วยได้หลายกลุ่ม เช่น กลุ่มโรคพาร์คินสัน กลุ่มเด็กพิการ กลุ่มบาดเจ็บไขสันหลัง ที่มีปัญหาด้านการเคลื่อนไหวแขนและมือ และให้กล่องฝึกมือแก่ผู้ป่วยรายอื่นๆ นำไปฝึกที่บ้านอย่างต่อเนื่อง